“อนุทิน” ย้ำ ข้อมูลค่อนข้างชัดเจนวัคซีนป้องกันติดเชื้อไม่ได้ แต่ป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิตได้ ขอความร่วมมือประชาชนให้มารับวัคซีนเข็มที่ 4 เป็นอย่างต่ำ ส่วนเข็มที่ 5 ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของประชาชน ขึ้นกับอาชีพ ความเสี่ยง ถ้าอยู่ท่ามกลางประชาชนจำนวนมาก ไม่สามารถเว้นระยะห่าง ควรมารับวัคซีนเข็ม 5 ด้าน กรมควบคุมโรคเผยมีวัคซีนโควิดในมือและในสัญญาจัดซื้อ 42 ล้านโดสเพียงพอ 6 เดือน เน้นฉีดกระตุ้นเป็นหลัก คาดการณ์อนาคตฉีดปีละ 1-2 ครั้ง
เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมภายในการแถลงข่าวเตรียมความพร้อม การป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข หลัง ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน - ยุบ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย 2565 เป็นต้นไป ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ว่า ขณะนี้สถานการณ์โควิดดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก โดยในปี 2566 คาดว่าการระบาดจะพบได้ 1-2 ครั้ง เป็นไปตามฤดูการคล้ายไข้หวัดใหญ่ สำหรับระบบที่วางไว้ คือ 1.เฝ้าระวังผู้ป่วยในรพ. 2.เฝ้าระวังเป็นกลุ่มก้อน และมีทีมสอบสวนโรค และประกาศ พิจารณาเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นคนควบคุม 3.เฝ้าระวังสถานที่เฉพาะ เช่น โรงเรียน สถานดูแลผู้สูงอายุ 4.เฝ้าระวังสายพันธุ์กลายพันธุ์
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ. ขอปชช. เชื่อมั่นมาตรการรองรับ โควิดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง 1 ต.ค. ยันรักษาฟรีตามสิทธิ์ - ฉีดวัคซีนเข็ม 4 เป็นอย่างต่ำ)
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการฉีดวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งขณะนี้เรามีในมือและในสัญญาซื้อ 42 ล้านโดส เพียงพอไป 6 เดือน แต่หากต้องใช้เพิ่มก็สามารถจัดหาได้ เบื้องต้นอาจฉีดปีละ 1-2 ครั้ง แต่สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นจะแจ้งให้ทราบหากมีการเปลี่ยนแปลง
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้นต้องหยุดที่เข็มไหน หรือต้องฉีดอย่างไรในอนาคต นพ.โอภาส กล่าวว่า คำแนะนำในการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังต้องฉีดทุก 4 เดือนอยู่ แต่หลังจากนี้ไปที่คาดหวังว่าจะมีการฉีดวัคซีนเหมือนไข้หวัดใหญ่ คือ ปีละ 1 ครั้งนั้น ขณะนี้ข้อมูลทั่วโลกยังไม่มีใครออกคำแนะนำแบบนั้นได้ แต่คาดว่า ระยะต่อไปน่าจะฉีดปีละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นกับ 2 ปัจจัย คือ 1.เชื้อไม่ได้มีการกลายพันธุ์มากมายก็จะเพียงพอ และ2.เรื่องของวัคซีนรุ่นใหม่ๆที่สามารถครอบคลุมได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังใช้คำแนะนำเดิม แต่หากมีข้อมูลใหม่ๆ ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จะรีบออกคำแนะนำให้ประชาชนต่อไป
เมื่อถามกรณีคนที่ฉีดมาแล้ว 3 เข็มไม่ต้องฉีดแล้วใช่หรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันคนที่ฉีดมาแล้วบางส่วนไม่อยากฉีดซ้ำ นพ.โอภาส กล่าวว่า ยังแนะนำให้ฉีด โดยประชาชนทั่วไปสามารถฉีดเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือน แต่เป็นไปตามความสมัครใจ
ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลาที่มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ให้กับประชาชน คนที่ได้รับวัคซีนครบ 4 เข็ม สถิติที่มีการเจ็บป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต ถ้าไม่มีโรคอื่นๆแทรกซ้อนถือว่าเป็นศูนย์ ซึ่งเราติดตามข้อมูลมาตลอด โดยปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขยังขอเชิญชวนประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เกิน 4 เดือน ขอให้มารับวัคซีนเข็มที่ 4 เพราะจะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้มาก
“วันนี้ข้อมูลค่อนข้างชัดเจนว่า วัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่สามารถป้องกันการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรง และป้องกันการเสียชีวิตได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องขอความร่วมมือประชาชนให้มารับวัคซีนเข็มที่ 4 เป็นอย่างต่ำ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ส่วนเข็มที่ 5 ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของประชาชน ขึ้นกับอาชีพการงาน หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยง อยู่ท่ามกลางประชาชนจำนวนมาก เช่น ผู้ที่ทำงานตามภัตตาคาร ตามสถานบันเทิง ตามสถานบริการขนส่ง ฯลฯ หรือธุรกิจใดต้องอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก ไม่สามารถเว้นระยะห่าง ก็ควรมารับวัคซีนเข็ม 5 ” นายอนุทิน กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์ชงแนวทางรักษาโควิดล่าสุด เสนออีโอซี 28 ก.ย. ห้ามใช้แพกซ์โลวิด-โมลนูฯ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี)
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 19362 views