ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกคำแนะนำฉีดวัคซีนโควิด19 สำหรับเด็กและวัยรุ่น ฉบับที่ 7 กรณีฉีดไฟเซอร์ฝาแดงเข้มเด็กอายุ 6 เดือน - น้อยกว่า 5 ปี ควรอย่างยิ่งในเด็ก 8 กลุ่มเสี่ยง เช่น ทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี รวมถึงเด็กทารกคลอดก่อนกำหนด มีโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ฯลฯ สามารถฉีดร่วมวัคซีนชนิดอื่นๆ ไม่มีข้อจำกัดเว้นระยะเวลา
เมื่อวันที่ 14 กันยายน เว็บไซต์ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เผยแพร่คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่น ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 12 กันยายน 2565 โดยระบุว่า
จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการเปิดโรงเรียน และสถานศึกษาสำหรับเด็กและวัยรุ่น ทำให้ยังพบมีผู้ป่วยเด็กติดโรคโควิด-19 จำนวนมากในทุกกลุ่มอายุแม้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทยในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปแล้ว โดยข้อมูลการฉีดวัคซีนกระทรวงสาธารณสุข (MOPH Immunization Center) และกองดิจิทัลเพื่อการควบคุมโรค เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2565 รายงานความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทยในเด็กอายุ 5-11 ปีอยู่ที่ร้อยละ 64.1 สำหรับเข็มที่ 1 และร้อยละ 47.0 สำหรับเข็มที่ 2
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ทบทวนข้อมูลด้านระบาดวิทยา ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่น รวมทั้งข้อมูลการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19เข็มกระตุ้น จึงมีคำแนะนำใหม่เพิ่มจากคำแนะนำฉบับที่ 6 วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยสรุปคือ
** สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 mRNA Pfizer BioNTech ฝาสีแดงเข้ม แถบแดงเข้ม สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - น้อยกว่า 5 ปี ที่ ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2565 แนะนำให้ฉีดวัคซีนปฐมภูมิขนาด 3 ไมโครกรัม (0.2 มล.) 3 เข็ม โดยเข็ม 1 ห่างจากเข็ม 2 ระยะเวลา 4 สัปดาห์ (3-8 สัปดาห์) และเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 ระยะเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ โดยแนะนำเป็นอย่างยิ่งในเด็กกลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- ทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี รวมถึงเด็กทารกคลอดก่อนกำหนด
- โรคอ้วน (น้ำหนักเทียบกับความสูง (weight for height) มากกว่า +3 SD)
- โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
- โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคไตวายเรื้อรัง
- โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
- โรคเบาหวาน
- กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
ทั้งนี้ สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ร่วมกับวัคซีนชนิดอื่นได้โดยไม่มีข้อจำกัดในการเว้นระยะเวลาห่างจากวัคซีนชนิดอื่นๆ รวมถึงสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในวันเดียวกับวัคซีนตามวัยอื่นได้ โดยควรฉีดวัคซีนที่แขนหรือขาคนละข้าง โดยเฉพาะวัคซีนที่มีผลข้างเคียงเฉพาะที่มาก หรือหากฉีดที่แขนหรือขาข้างเดียวกัน ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 นิ้ว ในทารกและเด็กอายุ < 2 ปีแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อที่ตำแหน่งหน้าขา (anterolateral aspect of the upper thigh)
คำแนะนำราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ยังระบุว่า จากการศึกษาพบว่าสามารถป้องกันการป่วยเป็นโรคโควิด-19 ที่มีอาการในเด็กอายุ 6 เดือน - <5 ปีที่ไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อนในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์ Omicron เป็นหลักได้ 73.2% และจากการศึกษา Immunobridging พบว่าการฉีดวัคซีนขนาด 3 ไมโครกรัม 3 เข็มในเด็กอายุ 6 เดือน - <5 ปี ที่ไม่เคยมีหลักฐานของการติดเชื้อมาก่อน สามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าในวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุ 16 - 25 ปีที่ได้รับการฉีดวัคซีนขนาด 30 ไมโครกรัมสองเข็ม
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ เตรียมออกคำแนะนำฉีดไฟเซอร์เด็ก 6 เดือน - น้อยกว่า 5 ปี ย้ำ! ฉีดได้ไม่กระทบวัคซีนพื้นฐาน)
*** ส่วนคำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กอายุ 5-<18 ปี ทั้งวัคซีนปฐมภูมิและเข็มกระตุ้น ดังนี้
- แนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 5- <12 ปี ที่ได้รับการฉีดวัคซีนปฐมภูมิครบ 2 เข็ม ด้วยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 mRNA Pfizer BioNTech ฝาสีส้ม แถบส้ม ขนาด 10 ไมโครกรัม (0.2 มล.) 1 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากวัคซีนเข็ม 2 อย่างน้อย 3-6 เดือน
- สำหรับผู้ป่วยเด็กอายุ 5-<12 ปี ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำในระดับปานกลางถึงรุนแรง (moderate to severe immunocompromised host) พิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ปฐมภูมิชนิด mRNA Pfizer BioNTech ฝาสีส้ม แถบส้ม ขนาด 10 ไมโครกรัม (0.2 มล.) อีก 1 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ (additional primary series รวมเป็นการฉีดปฐมภูมิ 3 เข็ม) และแนะนำฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 เข็มกระตุ้นอีก 1 เข็ม หลังจากฉีดวัคซีนปฐมภูมิเข็มที่ 3 ครบ อย่างน้อย 3 เดือน
- หากเด็กและวัยรุ่นมีการเปลี่ยนกลุ่มอายุในระหว่างการฉีดเข็มปฐมภูมิหรือเข็มกระตุ้น ควรได้รับชนิดและขนาดของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เหมาะสมกับอายุ ณ วันที่ฉีด
- เด็กและวัยรุ่นที่เคยมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 ชนิด mRNA หรือ protein-based แนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 เข็มถัดไปจนกว่าจะมีข้อมูลเรื่องความปลอดภัยเพิ่มเติม
- เด็กและวัยรุ่นที่เคยติดโรคโควิด -19 แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งวัคซีนปฐมภูมิและเข็มกระตุ้น ห่างอย่างน้อย 3 เดือนนับจากวันที่เริ่มมีอาการเจ็บป่วย หรือกรณีไม่แสดงอาการนับจากวันที่มีผลตรวจพบ SARS-CoV2 ด้วย RT-PCR หรือ ATK
- สำหรับคำแนะนำการให้ long acting antibody (LAAB) เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรกฎาคม พ.ศ. 2565
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
ทั้งนี้อ่านรายละเอียดคำแนะนำได้ตามไฟล์แนบด้านล่าง
- 5569 views