ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า กระแสการบริโภคในสื่อออนไลน์ มีกลุ่มผู้บริโภคชื่นชอบกินอาหารดิบ เช่น ปูนาเป็นๆ ปลาหมึกสดๆ กุ้งเต้น โดยไม่ผ่านการปรุงสุก ถือเป็นพฤติกรรมเฉพาะกลุ่ม รวมถึงความอยากทดลอง ประกอบกับมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอกินอาหารดิบผ่านสื่อออนไลน์ กลายเป็นกระแสเมนูยอดนิยม มีวิธีการกินที่น่าตื่นเต้น อาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ การบริโภคอาหารควรใช้หลักตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก 5 ประการ 1.รักษาความสะอาด 2.แยกอาหารดิบจากวัตถุดิบอื่นๆ 3.ปรุงสุกทั่วถึง 4.เก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม 5.ใช้น้ำสะอาดและวัตถุดิบที่ปลอดภัยในการปรุงอาหาร การปรุงอาหารอย่างถูกวิธีและการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ช่วยความเสี่ยงจากการบริโภคสารปนเปื้อนต้นเหตุเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

ผศ.ดร.วรงค์ศิริ เข็มสวัสดิ์ หัวหน้าหน่วยจุลชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การกินปูนาดิบเสี่ยงพยาธิใบไม้ในปอดและพยาธิปอดหนู พยาธิใบไม้ปอดเมื่อเข้าสู่ลำไส้สามารถชอนไชเข้าสู่ปอด ส่งผลให้เกิดโรคไอเรื้อรังและมีอาการเจ็บหน้าอก พยาธิปอดหนู นอกจากอาการทั่วไป ไข้ ปวดศีรษะ และอาเจียนแล้ว อันตรายสูงสุดส่งผลให้ตาบอด ปลาหมึกเป็นๆ แช่ในแก้วน้ำจิ้มซีฟู้ด เมื่อกินสดๆ มีโอกาสได้รับเชื้ออหิวาต์เทียม ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ในทะเล ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรง ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำ บางรายถึงขั้นลำไส้อักเสบ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพยาธิที่พบในสัตว์น้ำเค็ม ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด กรณีพยาธิเคลื่อนที่อาจทำให้เกิดแผลในลำไส้ ทั้งนี้ ความรุนแรงจากการบริโภคอาหารดิบที่มีการปนเปื้อนขึ้นกับปริมาณและความถี่ในการบริโภค และสุขภาพร่างกายของผู้บริโภค หากมีภาวะเจ็บป่วยหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

“พยาธิในอาหารดิบ แม้กินเข้าไปปริมาณไม่มาก แต่อันตราย เพราะพยาธิสามารถฟักตัวและเติบโตได้ในร่างกายมนุษย์ อาจทำให้เกิดความผิดปกติกับระบบร่างกาย กรณีที่รุนแรงพยาธิชอนไชไปอยู่ที่อวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ลำไส้ กล้ามเนื้อ ปอด และสมอง อาจก่อให้เกิดความอันตรายถึงขั้นปอดอักเสบหรือสมองอักเสบได้ อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต วิธีป้องกัน 1.หลีกเลี่ยงบริโภคอาหารดิบหรืออาหารสุกๆ ดิบๆ 2.การล้างวัตถุดิบด้วยน้ำสะอาดก่อนนำมาปรุงอาหาร 3.ปรุงสุกที่อุณหภูมิมากกว่า 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป 4.เก็บรักษาเนื้อสัตว์ที่อุณหภูมิเย็นจัด 5.เลือกซื้ออาหารหรือรับประทานอาหารจากร้านอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการบริโภค เน้นรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ” ผศ.ดร.วรงค์ศิริ กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org