ชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัด สธ. จ่อร้องศาลปกครองสูงสุด หลังไม่ได้รับความเป็นธรรมลาออกจากลูกจ้างประจำ สิทธิเทียบเท่าข้าราชการ มาเป็นพนักงานของรัฐปี 2543-2547 ทำให้เสียสิทธิอายุราชการ 4 ปี หลายคนใกล้เกษียณอดได้บำเหน็จบำนาญจากเดิมต้องได้ หนำซ้ำไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือแจงกลับ การนับอายุราชการต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น
จากกรณีชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ทำเรื่องถึงกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ขอให้พิจารณาทบทวนสิทธิประโยชน์ของพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญจำนวน 22,335 ตำแหน่งในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2547 โดยขอให้นับอายุราชการในการบรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่วันที่บรรจุเป็นพนักงานของรัฐ(ปี 2543-2547) ปรากฎว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ว่า ไม่สามารถนับอายุราชการได้ เนื่องจากการนับอายุราชการจะทำได้เฉพาะเป็นข้าราชการเท่านั้น
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 นายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า รู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะประเด็นที่ออกมาเรียกร้อง หากคนไม่เข้าใจจะคิดว่ามาเรียกร้องขอคืนอายุราชการในช่วงที่ไม่ได้เป็นข้าราชการได้อย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่ แต่เป็นเพราะพวกตนถูกสื่อสารให้เข้าใจผิด ให้หลงเชื่อ โดยเดิมมีบางส่วนเป็นลูกจ้างประจำ ซึ่งสมัยนั้นมีสิทธิเทียบเท่าข้าราชการ แต่ด้วยนโยบายรัฐบาล มีการกำหนดข้าราชการสายพันธุ์ใหม่ โดยได้มีสัญญาให้ลูกจ้างประจำลาออก และศึกษาต่อเพื่อให้ได้บรรจุราชการวุฒิสูงขึ้น กลุ่มนี้อายุมากแล้วประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ปรากฎว่า กลับได้เป็นพนักงานของรัฐในช่วงปี 2543 เป็นเวลา 4 ปี จนปี 2547 ถึงได้รับการบรรจุ กลายเป็นว่า ช่วง 4 ปีนั้นอายุราชการหายไป เพราะจำใจลาออก เหตุหลงเชื่อว่าจะได้บรรจุข้าราชการจริงๆ
“ปัญหาคือ มีคนอายุมากอีก 1-2 ปีจะเกษียณแล้ว แต่เมื่อสละสิทธิจากการเป็นลูกจ้างประจำ มาเป็นพนักงานของรัฐแต่ปรากฎว่า ไม่ใช่ราชการจึงนับรวมไม่ได้ ปัญหาคือ ช่วงปี 2543-2547 เป็นช่วงของการบุกเบิก พวกตนนับเป็นรุ่นแรกที่บุกเบิกข้าราชการพันธุ์ใหม่ ที่เรียกว่า พนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนั้นก็ไม่มีอีก แต่กลายเป็นว่าเราต้องเสียสิทธิข้าราชการไป 4 ปี หนำซ้ำที่ก่อนหน้านี้บอกว่า จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ ก็ไม่มีอีกเช่นกัน” นายมานพ กล่าว
นายมานพ กล่าวว่า ที่สำคัญช่วงปี 2543 -2546 ที่เป็นพนักงานของรัฐ บางแห่งมีการเก็บเงินส่งเข้ากองทุน กบข. ทำให้คนที่ถูกเก็บคิดว่า เป็นข้าราชการ และน่าจะมีการนับอายุย้อนหลังได้ แต่จนบัดนี้ก็ไม่ได้ หนำซ้ำไม่รู้ด้วยว่า เงินที่ถูกเก็บไปอยู่ไหน
“ขณะนี้สิ่งที่เราจะช่วยเหลือตัวเองได้ คือ การยื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยร้องที่ศาลปกครองกลาง แต่แนะนำให้เราร้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะพึ่งพาทางไหนแล้ว” นายมานพ กล่าว
เมื่อถามว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบเป็นวิชาชีพใด นายมานพ กล่าวว่า มีทุกวิชาชีพ ทั้งแบคออฟฟิศ แพทย์แผนไทย เทคนิคการแพทย์ เจ้าพนักงานสาธารณสุขทั้งหมด
** ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหนังสือกระทรวงสาธารณสุขตอบกลับเรื่องนี้ ลงนามโดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในหนังสือที่ สธ 0208.09/19159 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 เรื่อง ขอนับอายุราชการพนักงานของรัฐในการบรรจุข้าราชการ ส่งถึงประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย ระบุถึงกรณีดังกล่าว ใจความว่า
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอเรียนว่า ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการบัญญัติให้ข้าราชการมีสิทธินับเวลาราชการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ ดังนี้
1.ให้นับเวลาราชการแต่เฉพาะเวลาราชการขณะเป็นข้าราชการเท่านั้น ซึ่งพนักงานราชการลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่ต่อมาได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่ได้รับสิทธินำระยะเวลาขณะดำรงตำแหน่งพนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข มานับรวมเป็นเวลาราชการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญแต่อย่างใด ดังนั้น จึงไม่มีข้าราชการกลุ่มใดที่จะมีสิทธินำระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งประเภทอื่นมานับรวมเป็นเวลาราชการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญได้
2.ให้นับเวลาราชการ แต่เฉพาะเวลาราชการขณะเป็นข้าราชการเท่านั้น ประกอบการบรรจุพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการปฏิบัติของพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการเดียวกับที่ใช้กับข้าราชการพลเรือนสามัญโดยอนุโลม เช่น คุณสมบัติและเงินเดือน ระดับบรรจุ และอื่นๆ เว้นแต่การรับบำเหน็จบำนาญจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่จะจัดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นมาแทน พนักงานของรัฐ จึงมิได้มีสถานะเหมือนข้าราชการ และไม่มีสิทธินำระยะเวลาขณะที่เป็นพนักงานของรัฐ นับรวมเป็นเวลาราชการ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญ
ทั้งนี้ หลักการนับระยะเวลาราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการดังกล่าวใช้บังคับแก่ข้าราชการทุกประเภท โดยได้รับสิทธิในการเริ่มนับเวลาราชการ สำหรับคำนวณบำเหน็จบำนาญ แต่เฉพาะเวลาราชการขณะเป็นข้าราชการเช่นเดียวกันทุกประเภท ดังนั้น หลักการนับเวลาราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการปัจจุบัน จึงมีความเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2382 views