การตั้งครรภ์สำหรับบางคนเป็นเรื่องง่าย แต่บางครั้งก็มีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลให้มีบุตรยาก หรือเกิดภาวะแท้งได้ หนึ่งในความเชื่อที่ถูกพูดถึงกันบ่อย ๆ คือลักษณะของมดลูกที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะมดลูกต่ำหรือมดลูกหย่อน ที่เชื่อกันว่า ส่งผลให้ตั้งครรภ์ได้ยาก นพ.ธนวรรธน์ แสงนักธรรม นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานสูติ-นรีเวชศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ยืนยันกับ Hfocus ว่า ผู้หญิงที่มดลูกหย่อนหรือมดลูกต่ำสามารถตั้งครรภ์ได้เป็นปกติ ไม่เกี่ยวกับการทำให้มีลูกยาก ขั้นตอนการปฏิสนธิจะอยู่ที่ปัจจัยของการตกไข่ อสุจิของฝ่ายชายแข็งแรงหรือไม่ ฝ่ายหญิงก็ต้องมีโพรงมดลูกที่มีความพร้อมในการฝังตัวของตัวอ่อน ส่วนมดลูกคว่ำ ก็ไม่ได้ทำให้แท้งง่าย เป็นข้อมูลที่ไม่จริงทางการแพทย์ ทั้งนี้ การตั้งครรภ์สามารถเกิดการแท้งได้จากหลายสาเหตุ เช่น ตัวอ่อนไม่สมบูรณ์ การปฏิสนธิของเซลล์ไข่อสุจิไม่สมบูรณ์ หรือทารกในครรภ์ไม่แข็งแรง เป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติ โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นได้ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์  

ส่วนสาเหตุและลักษณะมดลูกต่ำหรือมดลูกหย่อน นพ.ธนวรรธน์ อธิบายว่า มดลูกผู้หญิงจะอยู่ในอุ้งเชิงกราน ภายในท้องน้อย ถูกโครงสร้างเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อยึดให้อยู่ในตำแหน่งปกติ มดลูกจะไม่ถูกดันลงมา ซึ่งโครงสร้างเส้นเอ็นที่ขึงไว้จะมีความแข็งแรง ทำให้อวัยวะอยู่ในตำแหน่งปกติ แต่พอมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น มีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำเป็นประจำอาจทำให้เส้นเอ็นหรือโครงสร้างที่ยึดไว้เกิดการอ่อนแรง ฉีกขาด สำหรับสาเหตุของมดลูกหย่อน เช่น ยกของหนักเป็นประจำ ภูมิแพ้เรื้อรังทำให้ไอบ่อยจนเกิดแรงดันออกมาทุกวัน ผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำต้องเบ่งบ่อยเบ่งนาน คนที่น้ำหนักมากกว่าเกณฑ์จะมีไขมันในช่องท้องเยอะ หรือสตรีที่ตั้งครรภ์มาแล้วหลายท้องโดยคลอดบุตรผ่านทางช่องคลอด ทารกตัวใหญ่คลอดยาก เหล่านี้เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมดลูกหย่อนได้มากขึ้น แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน

"ในช่วงแรกของมดลูกหย่อน จะรู้สึกเหมือนมีก้อนตุง ๆ ในช่องคลอด ลักษณะกลมเล็กพอคลำได้ ตอนเบ่งจะตุง ๆ หลังจากนั้นก้อนจะออกมาจนสามารถคลำได้และกลับเข้าไปได้เอง แต่เมื่อไหร่ที่ออกมาเป็นก้อนตุงในช่องคลอดแล้วต้องเอานิ้วดันกลับเข้าไป อาจทำให้ปัสสาวะลำบาก ท่อปัสสาวะหักงอได้ ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 50-60 ปี พบได้บ่อยกว่าวัยสาว และมักจะไม่ได้มาตอนระยะแรก ๆ แต่ไม่ต้องกังวล ทุกระยะ แพทย์สามารถรักษาได้ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ป่วย" นพ.ธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับการดูแลรักษามดลูกหย่อนจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบ นพ.ธนวรรธน์ อธิบายว่า 1.ให้สังเกตอาการ ในกรณีที่ มดลูกต่ำไม่ได้ออกมาเยอะจากปากช่องคลอด อาจจะตุง ๆ ในระยะต้น ๆ ยังไม่รำคาญหรือรบกวนชีวิตประจำวัน แนะนำให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้มดลูกต่ำลง เช่น อย่ายกของหนัก พยายามไม่ให้ไอจามเรื้อรัง หรือหาวิธีป้องกันการท้องผูก ก็จะช่วยไม่ให้โรคเป็นมากขึ้น 2.การรักษาโดยการใส่ห่วงพยุงช่องคลอด ห่วงทำจากซิลิโคนทางการแพทย์ ลักษณะห่วงจะคล้ายโดนัท นิ่ม ๆ แพทย์จะวัดขนาดช่องคลอดแล้วเลือกเบอร์ห่วงที่พอดีใส่เข้าไป ห่วงจะดันมดลูกที่ต่ำให้กลับขึ้นไปอยู่ปกติ แต่วิธีนี้ผู้ป่วยต้องดึงห่วงออกมาล้างทำความสะอาดช่วงก่อนนอน แล้วใส่กลับเข้าไปเองในตอนเช้า และ 3.การผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาตัดมดลูกทางช่องคลอด พร้อมรีแพร์ช่องคลอดให้กระชับ ก็จะช่วยรักษามดลูกหย่อนได้

นพ.ธนวรรธน์ เพิ่มเติมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดมดลูกหย่อนว่า การฝึกบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือฝึกขมิบเป็นวิธีที่ดีในการป้องกัน โดยควรฝึกบริหารกล้ามเนื้อตั้งแต่วัยสาว เมื่อขมิบทุกวัน กล้ามเนื้อจะหนาตัวขึ้น ยกมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งปกติ ฝึกขมิบโดยนับหนึ่งถึงสิบแล้วคลาย 10 วินาที ทำวันละ 100 ครั้ง จะช่วยให้ช่องคลอดกระชับ กลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น กลั้นผายลม ป้องกันอุจจาระเล็ดได้ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม หากอายุ 30  ปีขึ้นไป ร่างกายจะเข้าสู่การเสื่อมสภาพตามวัย ควรฝึกขมิบร่วมกับการดูแลตัวเอง พร้อมหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดมดลูกต่ำ เช่น ไม่ยกของหนัก 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org