ข่าวลวงยังเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย โดยเฉพาะข่าวลวงด้านสุขภาพที่ส่งผลต่อร่างกาย รุนแรงได้ถึงชีวิต หากไม่รู้เท่าทัน! เมื่อวันที่ 23 ส.ค. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีโคแฟค (COFACT) ประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาไฮบริด นักคิดดิจิทัล ครั้งที่ 23 จากมะนาวโซดา ถึงกัญชารักษา (ไม่) ทุกโรค บทเรียนการรับมืออินโฟเดอมิกของสังคมไทย ณ ห้องประชุม 201 ชั้น 2 สสส. โดยเปิดเผย 6 แนวโน้มข่าวลวงสุขภาพ ปี 2022 Cofact Health Infodemics Trends 2022 โดย ChangeFusion เปิดเผยข่าวลวงที่พบได้ ดังนี้ 1.ข่าวลวงด้านสุขภาพยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นกระแสสังคม เช่น กัญชา วัคซีน 2.พื้นที่ข่าวลวงใน Social Media แบบเปิดสาธารณะมีแนวโน้มดีขึ้นบ้าง แต่มีแนวโน้มขยายและเพิ่มความลึกขึ้นในพื้นที่เทคโนโลยีแบบปิด เช่น กลุ่มเฉพาะที่ไม่เปิดสาธารณะและกลุ่มไลน์ ซึ่งยากต่อการเฝ้าระวังด้วยเครื่องมือ Social Listening 3.ผู้ริเริ่มเผยแพร่ข่าวลวงอาจแบ่งได้เป็นอย่างน้อย 5 กลุ่ม (BBC) แต่ละกลุ่มมีบทบาทแตกต่างไปในข่าวลวงแต่ละลักษณะ แบ่งเป็น Joker, Scammer, Politicians, Conspiracy theorist, Insider 4.ข่าวลวงที่ตอกย้ำอคติหรือความเชื่อ/การเมืองในสังคม มีผลมากทั้งในเชิงความเสี่ยงสุขภาพและความแตกแยกในสังคม เช่น เรื่องฝีดาษลิงกับรักร่วมเพศ วัคซีนกับประเด็นทางศาสนา 5.เนื้อหาของข่าวลวงมีความเป็นสากลมากขึ้น เชื่อมโยงข้ามประเทศมากขึ้น จากหลายเหตุปัจจัย และ 6.การแสวงหาความจริงร่วมมีความสำคัญต่อการสร้างภูมิทางสังคมร่วมกัน โดยเฉพาะในประเด็นที่มีความซับซ้อน เช่น เรื่องข้าวหุงสุกแช่ตู้เย็นกับค่าน้ำตาลในเลือด
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า หากย้อนกลับไปปี 2563 เป็นช่วงที่โคแฟคและเครือข่ายภาคีก่อร่างสร้างตัว สอดรับกับสถานการณ์อินโฟเดอมิก การทะลักไหลบ่าของข้อมูลที่เป็นข่าวลวง จนผู้บริโภคไม่ทราบว่าข่าวไหนข่าวจริง เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมไทย จากการสำรวจทั้งจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการสำรวจออนไลน์ของโคแฟค พบว่า สังคมไทยได้รับข่าวลวงมาตลอด ความสำคัญของการรับมือข่าวลือ จึงต้องเร่งพัฒนาคนในสังคมไทยให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทันสื่อ รู้จักที่จะรับมือและมีภูมิคุ้มกัน ตรวจสอบข้อมูลข่าวลือ คัดง้าง และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง อีกทั้งไม่สื่อสารข้อมูลที่ยังไม่แน่ใจว่า เป็นข้อมูลที่ถูกหรือผิด ซึ่งจะมีเครื่องมือของโคแฟคที่จะมาช่วยตรวจสอบข้อมูล ควบคู่กับภารกิจของโคแฟคที่จะพัฒนา ทำความร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อยกระดับให้สื่อของประเทศไทยเป็นสื่อที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ สมกับเป็นประตูที่ตั้งรับข้อมูลในสังคม ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา โคแฟคทำความร่วมมือกับชุมชนต่าง ๆ สร้างชุมชนในการตรวจสอบข่าวลวง 7 พื้นที่ทุกภูมิภาค และทำความร่วมมือกับ 40 องค์กร มาร่วมปฏิญญาตรวจสอบ ป้องกันข่าวลวงในสังคมไทย และไปสู่ความร่วมมือในระดับนานาชาติ
ขณะที่ นายสันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมา แนวโน้มของข่าวปลอมนั้นมีคนเชื่อลดน้อยลง สิ่งสำคัญคือ การทำให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องข่าวปลอม สิ่งที่จะทำให้ข่าวปลอมหายไปหรือลดลงก็ต่อเมื่อได้รับความรู้ที่ถูกต้อง การแพร่กระจายจะสั้นลง แต่ปัจจุบันไม่ใช่แค่ข่าวปลอมที่ต้องกังวล ยังมีเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การซื้อขายออนไลน์ ที่ต้องระวังเช่นกัน
ภกญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันข่าวปลอมที่พบมักจะครึ่งหนึ่งเป็นข่าวปลอม อีกครึ่งหนึ่งเป็นข้อเท็จจริง ในเรื่องสมุนไพรมีความซับซ้อนมากกว่ายาแผนปัจจุบัน ตัวสมุนไพรใช้น้อยเป็นอาหาร ใช้มากขึ้นก็เป็นยา บางครั้งการนำงานวิจัยไปจับทั้งหมดแล้วมาบอกว่าได้ไม่ได้ ก็ต้องมีการสื่อสารข้อมูลเพิ่มเติมในรายละเอียด หากบอกว่าไม่ได้ เหมือนการผลักผู้ป่วยออกไปอยู่กับโฆษณาชวนเชื่อทันที เพราะผู้ป่วยอาจไปกินสิ่งที่โฆษณาแทน ซึ่งในบริบทของคนไทยนั้นไม่ค่อยเชื่อข้อมูล แต่เลือกเชื่อจากคนที่ให้ข้อมูลซึ่งตนเองเชื่อถือ
ด้านนายเชลศ ธำรงฐิติกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 ตำบลหนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี เสริมว่า ผู้สูงวัยคือกลุ่มเป้าหมายที่ถูกหลอกลวงออนไลน์ โดยหลอกว่า ลูกหลานทำความผิดต้องเสียค่าปิดคดี หรือการส่งข้อมูลหลอกลวงผ่านไลน์ เช่น มะนาวโซดารักษามะเร็ง ซึ่งคนที่ส่งข้อมูลมักจะมีตำแหน่ง มาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ หรือการส่งข้อมูลมาทางเฟซบุ๊กและไลน์ ผู้สูงวัยบางคนก็จะนำมาเล่าต่อ ส่วนใหญ่มักจะถูกหลอกเรื่องเงิน เรื่องกฎหมาย ถ้าเด็กจะถูกหลอกเรื่องการลงทุน
"ผู้สูงวัยที่มีปัญหานอนไม่หลับ ก็จะเชื่อข่าวลวงเรื่องของกัญชาว่า ให้ใช้น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น แล้วจะนอนหลับดี ก็ไปหาจากลูกหลาน นำมาหยดเอง หยดไป 3 หยด จนต้องส่งโรงพยาบาล เพราะใช้เกินขนาด ขาดความรู้ สูตรที่บอกมาก็ไม่แน่นอน ร่างกายของแต่ละคนไม่เท่ากัน หรือความเชื่อเรื่องน้ำใส่เกลือแช่เท้ารักษาเบาหวาน ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อกันมา ข่าวต่าง ๆ สังคมชนบทจะนำมาพูดคุยกัน ก็จะเป็นการเริ่มต้นค้นหาความจริง ต้องสร้างเครื่องมือตรวจสอบข่าวลวงด้วยกัน ถ้าไม่รู้ก็ให้กำนันผู้ใหญ่บ้าน ลูกหลานช่วยกันค้นหาความจริง" นายเชลศ กล่าว
นายสุชัย เจริญมุขยนันท Ubonconnect และเครือข่ายอีสานโคแฟค ยกตัวอย่างคุณแม่ทีมงานที่นำน้ำมันกัญชามาหยด จนต้องเข้าโรงพยาบาล กล่าวเสริมว่า คุณแม่ทีมงานนั้นไม่ได้เล่นไลน์ แต่เพื่อนแบ่งปันน้ำมันกัญชามาหยด จนต้องไปโรงพยาบาลเช่นกัน สิ่งสำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำทางข้อมูลข่าวสาร อย่างคุณแม่คนนี้เชื่อว่า ข้อมูลที่ผ่านไลน์มา รัฐต้องกลั่นกรองแล้ว ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือ ความจริงไม่ได้มีหนึ่งเดียว มีความเห็นหลายด้าน หรือเรื่องข้าวหุงสุกแช่ตู้เย็นกับค่าน้ำตาลในเลือด จึงต้องพิจารณาว่า ทำอย่างไรให้สังคมไทยเป็นสังคมละเอียดช้า รับข้อมูลอย่างละเอียด ไม่ฟันธงเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น สังคมควรเป็นปัญญารวมหมู่ไม่ผูกขาดทางปัญญา กระจายอำนาจทางปัญญาไปสู่คนอื่น ๆ
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1134 views