รองปลัดสธ. ย้ำ! เงินค่าเสี่ยงภัยโควิดได้แน่นอน แต่ขั้นตอนอาจช้า เพราะเป็นงบเงินกู้ ต้องแยกรายละเอียดวิชาชีพ หมอกี่คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกี่คน ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เหตุเงินกู้ต้องเสียดอกเบี้ย จำเป็นต้องรัดกุม ขณะนี้ให้จังหวัดติดตามข้อมูล รพ.ทุกระดับแล้ว ก่อนเสนอคกก.สภาพัฒน์ พิจารณา ส่วนเงินเสี่ยงภัยคงค้างปี 64 ทยอยจ่ายให้กับคนทำงานทุกคน
ผู้สื่อข่าว Hfocus รายงานว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติเห็นชอบเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด19 โดยเปลี่ยนจากงบกลาง เป็นงบเงินกู้แทน โดยจะเป็นงบสำหรับจ่ายค่าเสี่ยงภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำงานโควิดตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 จนถึงเดือนมิถุนายน 2565 นั้น ปรากฎว่า มีบุคลากรบางส่วนเกิดข้อกังวลว่า จะได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดดังกล่าวเมื่อไหร่ เนื่องจากใช้เวลานาน และหลายคนยังไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่งบใหม่ที่ใช้เงินกู้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะได้รับช่วงไหนนั้น
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ ว่า ด้วยความที่ค่าเสี่ยงภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานโควิด มาจากงบเงินกู้ ซึ่งงบนี้เมื่อกู้มาจะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่เหมือนงบกลาง ดังนั้น การจะใช้งบเงินกู้ต้องมีข้อมูล มีรายละเอียดชัดเจน ตัวเงินจะประมาณการไม่ได้ ดังนั้น คณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงขอรายละเอียดเพิ่มตรงนี้ โดยต้องแยกมาว่า เป็นหมอกี่คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกี่คน แยกเป็นวิชาชีพอะไรบ้าง เท่าไหร่ และใช้จำนวนเงินเท่าไหร่
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า เมื่อคณะกรรมการสภาพัฒน์ต้องการรายละเอียดดังกล่าว เราต้องดำเนินการ ซึ่งทางส่วนกลางได้ทำหนังสือขอให้ทางจังหวัด รวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ขอข้อมูลทั้งหมดว่า มีวิชาชีพอะไรบ้างที่ปฏิบัติงานโควิดที่เข้าเกณฑ์รับเงินค่าเสี่ยงภัย เป็นจำนวนเงินแยกรายวิชาชีพว่า มีเท่าไหร่ รวมเป็นเท่าไหร่ ซึ่งให้ส่งเรื่องขึ้นมาภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งมียังไม่จัดส่งข้อมูลมาส่วนกลาง ขณะนี้กำลังติดตามให้เร่งดำเนินการ เพื่อให้ส่งไปยังสภาพัฒน์ จากนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า พยายามอยู่ แต่ก็ขึ้นกับว่าพื้นที่ส่งข้อมูลมาครบเมื่อไหร่ หากแล้วเสร็จก็จะรวมส่งให้สภาพัฒน์พิจารณา อย่างไรก็ตาม งบเงินกู้ดังกล่าวสำหรับค่าเสี่ยงภัยโควิดจะครอบคลุม 7 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเดิมใช้งบกลางสำหรับจ่าย 3 เดือน คือ ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2564 แต่จ่ายได้แค่ 2 เดือน ยังขาดเดือนธันวาคม 2564 ก็จะนำมารวมกับการใช้งบเงินกู้ ร่วมกับอีก 6 เดือนของปี 2565 คือ มกราคมจนถึงมิถุนายน รวมทั้งหมดใช้งบเงินกู้ 7 เดือน
เมื่อถามอีกว่าสำหรับงบค่าเสี่ยงภัยโควิดของเดิมที่ใช้งบกลาง ปรากฎว่าไม่ได้เหลือแค่เดือนเดียว บางพื้นที่บางคนไม่ได้รับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 นพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนกลางได้ทราบเรื่องแล้ว และมีการจัดสรรงบตามขั้นตอน ซึ่งพบว่า มีงบกลาง ซึ่งเป็นงบเก่ายังเหลือ จึงอนุมัติเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาให้ส่งกลับไปจ่ายเป็นเงินค่าเสี่ยงภัยโควิด ให้กับผู้ที่ต้องได้รับแต่ยังไม่ได้รับแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินการเช่นกัน
“ไม่ต้องกังวล เงินค่าเสี่ยงภัยโควิดสำหรับคนที่ทำงานโควิดจะได้รับแน่นอน เพียงแต่ต้องรอขั้นตอน เพราะงบเงินกู้ค่อนข้างต้องใช้ข้อมูล ใช้หลักฐานมาก รวมทั้งงบฉีดวัคซีนนอกสถานที่ก็เช่นเดียวกัน อยู่ระหว่างดำเนินการทั้งหมด” รองปลัด สธ. กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 3368 views