กรมควบคุมโรค เผยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากผู้ป่วยยืนยันรายแรก และรายที่สอง ครบ 21 วันแล้วจำนวน 40 คน ไม่พบอาการป่วยเพิ่มเติม และได้ตรวจหาเชื้อซ้ำ ไม่พบมีผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้ป่วยสงสัย ก็ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม พบส่วนหนึ่งมีอาการป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
วันนี้ (21 สิงหาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์ในประเทศไทยเวลานี้ พบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานร แล้วจำนวน 5 ราย เป็นชาวต่างชาติ 2 ราย สัญชาติไทย 3 ราย โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากผู้ป่วยยืนยันรายแรก และรายที่สองครบ 21 วันแล้วจำนวน 40 คน ไม่พบอาการป่วย และได้ตรวจหาเชื้อซ้ำ ไม่พบมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม ทั้งนี้โรงแรมที่ผู้ป่วยยืนยันไปเข้าพัก หลังจากทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม และเมื่อครบ 11 วัน ได้ตรวจเชื้อฝีดาษวานรอีกครั้ง ผลคือยังสามารถพบสารพันธุกรรมของเชื้อฝีดาษวานรได้ ซึ่งเป็นซากเชื้อที่ยังหลงเหลืออยู่
ทั้งนี้ จากการคัดกรองเชิงรุก ผู้ป่วยสงสัย จำนวน 58 ราย ผลตรวจยืนยันไม่พบเชื้อฝีดาษวานร โดยจากข้อมูลอาการป่วยของผู้ป่วยสงสัย พบว่าส่วนหนึ่งมีอาการป่วยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อ Herpes Simplex type 1 จำนวน 8 ราย (40%) Herpes Simplex type 2 จำนวน 3 ราย (15%) Herpes ชนิดอื่นๆ เช่น 6,7 จำนวน 3 ราย (15%) ติดเชื้อ Epstein Barr virus (EBV) 2 ราย (10%) ติดเชื้อ Syphilis และ Varicella zoster virus ชนิดละ 1 ราย รวม 2 ราย (10%)
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคฝีดาษวานรไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรงหรือติดต่อได้ง่าย จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วย 2 รายแรก จนครบกำหนดระยะฟักตัว 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อยู่ด้วยกันเป็นสัปดาห์ ยังไม่มีใครติดเชื้อ เมื่อครบกำหนดตรวจซ้ำยิ่งมั่นใจว่า
โรคนี้ไม่ได้ติดกันง่ายๆ หากจะติดต้องสัมผัสใกล้ชิดกันจริงๆ ชนิดเนื้อแนบเนื้อ กลุ่มเสี่ยงจึงได้แก่ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หากใครคิดว่าตัวเองเสี่ยงขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกัน
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ส.ค. 65) พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานรยืนยันทั่วโลก จำนวน 42,362 ราย เสียชีวิต 13 ราย ประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 14,595 ราย สเปน 6,091 ราย บราซิล 3,756 ราย เยอรมัน 3,266 ราย และ อังกฤษ2,889 ราย
การเฝ้าระวังผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร ในประเทศไทยยังคงดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่องทั้งในสถานพยาบาล คลินิกนิรนาม คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนังและโรงพยาบาล ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ รวมทั้งการเฝ้าระวังเชิงรุกในสถานที่เสี่ยง เพื่อค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการเพื่อให้การตรวจวินิจฉัยทำได้รวดเร็วขึ้น และโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนมีศักยภาพในการรักษาโรคนี้ได้
ทั้งนี้หากท่านใดเคยร่วมกิจกรรม ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ สัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีผื่นตุ่มหนอง และเริ่มมีไข้ เจ็บคอ มีผื่นแดงตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนองขึ้น มีอาการป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อและวินิจฉัยโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 153 views