ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 เห็นชอบในหลักการร่างแถลงการณ์ร่วมเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภายใต้หัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์กับภาคี เชื่อมโยงกันกับโลก สู่สมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ” ระหว่างวันที่ 25 - 26 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรม มิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเอกสารผลลัพธ์ดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะมีเอกสารผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่งนั่นคือ แถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12 กรณีที่รัฐมนตรีสาธารณสุขเอเปค และผู้แทนทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคไม่มีข้อขัดข้อง แต่หากไม่สามารถเห็นชอบร่วมกัน โดยอาจมีประเด็นอ่อนไหวหรือประเด็นที่ยังไม่มีฉันทามติจากทุกเขตเศรษฐกิจเพื่อสะท้อนเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศและแสดงจุดยืนของไทยต่อเอเปค ก็จะออกเป็นแถลงการณ์ประธานการประชุมระดับสูงเอเปคว่าด้วยสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 12
กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเอกสารผลลัพธ์ทั้ง 2 แนวทางดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้ว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศแจ้งข้อคิดเห็นว่า ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองระดับรัฐมนตรีด้านสาธารณสุขของเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการรับมือกับ COVID-19 และโรคระบาดใหม่ที่อาจจะมีในอนาคต ซึ่งการรับมือกับโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกนั้นก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด จึงเป็นที่ตระหนักร่วมกันว่าจะต้องมีแนวทางในการเตรียมความพร้อมและรับมือกับโรคระบาดใหญ่ ตลอดจนการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม โดยร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าวไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่มุ่งจะก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ กอปรกับไม่มีการลงนามในร่างเอกสารดังกล่าว ดังนั้น ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างแถลงการณ์เป็นการส่งสัญญาณถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.สร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยเน้นการดำเนินงานตามมาตรการทางด้านสาธารณสุข และการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและตอบโต้ต่อภัยคุกคามสุขภาพรวมทั้งโรคระบาด การสร้างเสริมความเข้มแข็งของระบบสุขภาพและการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีน เครื่องมือในการตรวจวินิจฉัยโรค และยารักษาโรค ในการป้องกันและรักษาโควิด 19 และโรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อป้องกันผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ 2.สนับสนุนการเพิ่มการลงทุนในด้านความมั่นคงด้านสุขภาพโลกโดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดสมรรถนะด้านการป้องกัน ตรวจจับและตอบโต้โรคระบาด การเสริมสร้างระบบสุขภาพให้เข้มแข็งและการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ระบบสาธารณสุขมีความพร้อมรับมือต่อภาวะคุกคามด้านสุขภาพและมีความยืดหยุ่นต่อวิกฤติการด้านสาธารณสุข และสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่เพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขภาพ และ 3.สนับสนุนความร่วมมือที่จะเกิดรูปธรรมระหว่างเขตเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ
- 126 views