หากรู้สึกตื่นมาง่วงนอนตลอดเวลา ไม่สดชื่น บางรายมีภาวะหลับใน เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ ขณะที่บางรายมีปัญหาการนอนที่ส่งผลต่อการหยุดหายใจ ซึ่งเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดสมอง...สิ่งเหล่านี้หากไม่สังเกตไม่ตรวจสุขภาพการนอน ย่อมส่งผลร้าย ทั้งที่สามารถแก้ไข หรือหาสาเหตุเพื่อป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้านแพทย์เผยวิธีสังเกตคนนอนยากเป็นอย่างไร 

 

หลายคนตื่นมาตอนเช้ารู้สึกเพลีย เหนื่อย อ่อนล้า ง่วงนอนตลอดเวลา บางคนมีปัญหาการหายใจ เหมือนหายใจไม่เต็มอิ่ม...สิ่งเหล่านี้เราสามารถตรวจสอบได้ว่า ระหว่างการนอนหลับ การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายเกิดภาวะผิดปกติหรือไม่  เช่น ระบบหายใจ ระบบสมอง ระดับออกซิเจน ฯลฯ

" ปัญหาการนอนหลับ เป็นเรื่องสำคัญของคนทุกเพศทุกวัย ประกอบกับหากมีปัญหามากๆ เมื่อตื่นมา นอกจากจะไม่สดชื่นตอนเช้าแล้ว ยังรู้สึกง่วงตลอดเวลา  เสี่ยงหลับในเมื่อขับรถ  หากรุนแรงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ขณะเดียวกันบางคนมีปัญหาการนอนที่ส่งผลต่อการหยุดหายใจ  อาจเสี่ยงเกิดโรคหัวใจ เส้นเลือดสมอง... ดังนั้น หากเราพบปัญหาได้เร็ว ก็จะช่วยรักษาได้ทัน" 

พญ.กัลยา ปัญจพรผล อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤต และการนอนหลับ สถาบันโรคทรวงอก-โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ และอุปนายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย  กล่าวขึ้นกับผู้สื่อข่าว Hfocus  ถึงปัญหาการนอนหลับที่หลายคนอาจมองข้าม

**เราจะทราบได้อย่างไรว่า กำลังเผชิญปัญหาการนอนไม่ได้คุณภาพ...

พญ.กัลยา กล่าวว่า ส่วนใหญ่คนไข้จะมาเล่าอาการให้แพทย์ทราบเพื่อประเมินอาการก่อนว่า มีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาการนอนหลับหรือไม่ ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการด้วยตนเอง หรืออบถามคนที่นอนร่วมกับเรา อย่างเพื่อน พ่อแม่ หรือคู่สามีภรรยา ว่ามีปัญหาการนอนกรน หยุดหายใจ สะดุ้งเฮือก สำลักน้ำลาย นอนกัดฟัน นอนละเมอ แขนขากระตุก นอนหลับยาก ตื่นบ่อยในเวลากลางคืน ตื่นมาตอนเช้าเพลีย ง่วงนอนตลอด และรู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรง 

"แพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อประเมินอาการก่อนว่า  มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคการนอนหลับชนิดไหน  ซึ่งทั่วไปแบ่งเป็น 6 กลุ่มโรค อย่าง 1.โรคนอนไม่หลับ 2. นอนกรนหยุดหายใจขณะหลับ 3. นอนละเมอ 4. นอนขากระตุกหรือกัดฟัน 5.ง่วงนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน และ 6. ความแปรปรวนของนาฬิกาชีวิต รวมทั้งการประเมินว่าคนไข้มีความเสี่ยงโรคอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่  เช่น โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ผลหรือใช้ยาหลายชนิด อ้วนมาก อายุมาก คอใหญ่ๆ และเพศชายจะเป็นกลุ่มความเสี่ยง ซึ่งจะมีหลายปัจจัยในการประเมินแต่ละราย ก่อนจะพิจารณาเพื่อส่งมาตรวจการนอนหลับหรือ  Sleep Test"

**การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) ตรวจอะไรบ้าง...

พญ.กัลยา กล่าวว่า การตรวจการนอนหลับ หลักๆ ทำการบันทึกสัญญาณหลายๆ อย่างขณะนอนหลับ  เช่น สัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมอง การกรอกของลูกตา การทำงานของกล้ามเนื้อคาง กล้ามเนื้อขา การกรน  ตรวจลมหายใจ และการขยับของทรวงอก-ท้อง วัดความอิ่มตัวของออกซิเจน คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การบันทึกการนอนหลับหลายๆสัญญาณ เพื่อประเมินว่าขณะนอนหลับมีการกรน หยุดหายใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนต่ำหรือไม่  หรือนอนกัดฟันร่วมด้วย รวมไปถึงมีภาวะแขนขากระตุก บางรายนอนละเมอ ส่งเสียงร้อง  

"การตรวจการนอนหลับ จำเป็นต้องมานอน 1 คืนที่สถานพยาบาล เพื่อทำการบันทึกข้อมูลสัญญาณต่างๆ   โดยช่วงแรกจะบันทึกสัญญาณต่างๆ 2-3 ชั่วโมงแรกเพื่อดูว่ามีดัชนีหายใจแผ่ว-หยุดหายใจมากน้อยแค่ไหน หากพบว่ามีดัชนีหายใจแผ่ว-หยุดหายใจตามข้อบ่งชี้ ก็จะมีการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (continuous positive airway pressure, CPAP) เพื่อปรับแรงดัน ซึ่งจะมีหน้ากากสวมบริเวณจมูกหรือปากและจมูก และเครื่องจะปล่อยลมแรงดันบวกระดับต่างๆเพื่อเปิดทางเดินหายใจ แต่ในบางคนที่ทำงานกลางคืน นอนกลางวัน ก็สามารถมาตรวจการนอนหลับในเวลากลางวันได้"

**การตรวจการนอนหลับ มีกี่ชนิด จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลทุกคนหรือไม่ 

พญ.กัลยา กล่าวว่า การตรวจการนอนหลับที่มานอน รพ. 1 คืน เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานที่เรียกว่า ชนิดที่ 1  ซึ่งจะตรวจที่มีสัญญาณต่างๆ > 7 สัญญาณและมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูตลอด   แต่ยังมีการตรวจการนอนหลับชนิดอื่นๆ อย่างเช่นชนิดที่ 3 เป็นการตรวจแบบพกพา ซึ่งต้องมาพบแพทย์ว่า เพื่อประเมินว่า มีอาการสงสัยหยุดหายใจขณะหลับมากน้อยแค่ไหน และต้องไม่มีข้อห้ามในการตรวจ เพราะการตรวจแบบนี้มีสัญญาณต่างๆ 4 สัญญาณ เช่น ตรวจลมหายใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจน และการขยับของทรวงอกหรือท้อง

ส่วนตรวจการนอนหลับชนิดที่ 2 จะคล้ายชนิดที่ 1 แต่ไม่มีคนเฝ้าตลอด เช่น คนไข้นอนในโรงพยาบาล  แต่จำเป็นต้องรีบตรวจการนอนหลับ ก็จะไปติดสัญญาณที่วอร์ดคนไข้ แต่เราจะไม่สามารถประเมินว่า เป็นมากหรือน้อย และสัญญาณอาจหลุดได้

 **เมื่อตรวจ Sleep Test แล้วพบว่ามีปัญหาต้องรักษาอย่างไร

พญ.กัลยา กล่าวว่า หากตรวจแล้ว และพบว่ามีปัญหาการนอนหลับ อาทิเช่น การกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ กระตุ้นทำให้สมองตื่น ความอิ่มตัวของออกซิเจนต่ำ ประเมินว่าดัชนีหายใจแผ่ว-หยุดหายใจกี่ครั้งต่อชั่วโมง พิจารณาร่วมกับอาการและโรคประจำตัว เช่น หากเป็นมากดัชนีหายใจแผ่ว-หยุดหายใจมากกว่า 30 ครั้งต่อชั่วโมง คนไข้ที่มีโรคทางสมอง เส้นเลือดหัวใจ ความดันโลหิต ควรรักษาโดยใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก  ซึ่งแพทย์จะเลือกหน้ากากและแรงดันให้เหมาะสมในแต่ละราย เพื่อให้คนไข้นอนแล้วหายใจดีขึ้นและนอนหลับได้ดี

แต่หากเป็นไม่มาก เช่น ดัชนีหายใจแผ่ว-หยุดหายใจ 5-15 ครั้งต่อชั่วโมง ร่วมกับคนไข้อายุน้อย ไม่มีโรคประจำตัว ก็จะการรักษาวิธีอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อใส่ทันตอุปกรณ์ ซึ่งมีหลักการโดยดึงคางกับลิ้นยื่นมาข้างหน้า ทำให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง หรือคนไข้มีปัญหาโครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูกคด ลิ้นไก่ใหญ่ คอหอยแคบ ต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางหูคอจมูก เพื่อผ่าตัดให้เหมาะสม เป็นต้น

**เราจะสังเกตตัวเองอย่างไร หากเรานอนคนเดียว

พญ.กัลยา กล่าวว่า จริงๆ มีคนไข้ที่มาพบแพทย์ เพราะสงสัยว่ามีปัญหาการนอนหลับ จากการที่ตื่นมาทุกเช้าไม่สดชื่น ง่วงนอน ปวดศีรษะ และนอนคนเดียว อาจตั้งกล้องถ่ายคลิปวิดีโอตัวเองตอนหลับว่า มีภาวะนอนกรนหรือไม่ หรือนอนๆอยู่สะดุ้งขึ้นมา บางรายสำลักก็มี หรือตื่นกลางดึกเพื่อปัสสาวะบ่อยๆ หรือนอนเท่าไหร่ก็ง่วงตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ให้มาปรึกษาแพทย์ได้

 

**กรณีตื่นนอนมาแล้วรู้สึกหายใจไม่เต็มปอด หัวใจเต้นแรง เหนื่อยตลอดเกี่ยวเนื่องจากปัญหาการนอนหลับหรือไม่...

พญ.กัลยา กล่าวว่า  อาจเป็นได้ แต่ที่พบอาจมาจากโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งทางเดินหายใจส่วนต้น โรคปอด หรือโรคหัวใจ ก็ต้องดูว่ามีอาการกลางคืน ทำให้กลางวันหายใจไม่ดีหรือไม่ ซึ่งก็อาจจะเกี่ยวกับการนอนหลับ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินว่า ต้องมีการตรวจการนอนหลับหรือไม่

 ที่สถาบันโรคทรวงอก เปิดศูนย์โรคการนอนหลับมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556  ซึ่งขณะนั้นมีห้องตรวจการนอนหลับเพียง 1 ห้อง แต่ขณะนี้ได้ขยายเป็น 3 ห้อง มีคลินิกตรวจการนอนหลับ การตรวจ Sleep Test สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการตรวจได้ตามสิทธิ์  ทั้งนี้หากต้องการตรวจการนอนหลับแบบเสียค่าใช้จ่ายเอง จะคิดราคาตามกรมบัญชีกลาง คือ 7,000 บาท/ครั้ง แต่เรื่องเครื่องอัดอากาศแรงดันบวก      (CPAP)  จะเบิกได้เฉพาสิทธิ์ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจ โดยเบิกได้ 20,000 บาท แต่บัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคมยังเบิกไม่ได้  ดังนั้น สิทธิ์หลักประกันสุขภาพ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการตรวจการนอนหลับได้ฟรี แต่ต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ทั่วไป เพื่อส่งต่อก่อน

**กรณีคนนอนหลับยาก และต้องการมาตรวจ หากนอนไม่หลับสามารถทานยานอนหลับได้หรือไม่...

พญ.กัลยา กล่าวว่า   ต้องเข้าใจคำว่า นอนไม่หลับ  มีตั้งแต่เริ่มต้นหลับยาก ใช้เวลามากกว่า 30 นาทีถึงจะหลับ ตื่นบ่อยตอนกลางคืน ตื่นมาก็นอนไม่ค่อยหลับ นานกว่า 30 นาทีถึงจะนอนได้ หรือตื่นก่อนเวลาที่เคยตื่นอย่างน้อย 30 นาที และทำให้ง่วง เพลีย ล้า หากเป็นมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ คือเป็นโรคนอนไม่หลับ ถ้าเกิน 3 เดือน ถือว่าเป็นเรื้อรัง

สิ่งสำคัญต้องไปหาปัจจัยที่กระตุ้น เช่น  บุคลิกภาพคนๆนั้น อย่างเครียดง่าย หูไว ตื่นบ่อย หรือมีปัจจัยกระตุ้น เช่น มีปัญหาครอบครัว งาน หรือพฤติกรรมบางอย่างที่เราไม่ทราบแต่เราทำ เช่น นอนกลางวัน ดื่มกาแฟก่อนนอน นอนบนเตียงทั้งที่ไม่ง่วง 

ทั้งหมดก็ต้องค่อยๆปรับให้ดีขึ้น การนอนให้เป็นเวลา ตื่นให้เป็นเวลา ไม่ควรนอนกลางวัน ไม่ควรทานกาแฟหลังเที่ยง ยิ่งใกล้ๆนอนไม่ควรทานอะไรที่กระตุ้นสมอง แอลกอฮอล์ บุหรี่การรับประทานอาหารตอนดึก ทำให้มีกรดไหลย้อน นอนยาก หรือการใช้โทรศัพท์แสงสีฟ้าก็มีผลต่อการนอน คือ ไม่ควรใช้สมาร์ทโฟนก่อนนอนครึ่งชั่วโมง บรรยากาศห้องนอนก็จะช่วยได้ เช่น ความมืดที่ดี เงียบ อากาศเย็นสบาย

การนอนหลับที่ดีอย่างผู้ใหญ่ควรนอนอย่างน้อย 7-9 ชม. และควรหลับให้ถึงระยะหลับลึกและต่อเนื่อง หากหลับดีตื่นเช้ามาก็จะสดชื่น และเราควรออกแดดบ้าง ออกกำลังกายก็จะช่วยได้ แต่ไม่ควรไปออกกำลังกายใกล้ๆเวลานอน  อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน จะทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมาก จะทำให้เราหลับยาก

สิ่งเหล่านี้คือ สุขอนามัยการนอนหลับที่ดี หากปฏิบัติได้ก็จะช่วยการนอนหลับให้ดีได้ แต่หากมีปัญหาก็จะต้องค่อยๆปรับตัว ส่วนการใช้ยานอนหลับต้องปรึกษาแพทย์ เพราะต้องดูความเหมาะสมของแต่ละคน แต่ละโรค เพราะบางคนมีโรคร่วมหลายอย่าง การใช้ยานอนหลับอาจทำให้โรคร่วมแย่ลงได้ แต่หากกรณีเป็นเรื้อรังเกิน 3 เดือน อาจต้องมีการรักษาแบบเข้ากลุ่ม ปรับความคิดพฤติกรรมก่อนนอน ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์

พญ.กัลยา กล่าวอีกว่า  ทั้งนี้ ไม่ต้องกังวลว่า หากมาตรวจ Sleep test แล้วกลัวนอนไม่หลับ จะทำให้เสียเวลาการตรวจหรือไม่นั้น ไม่ต้องห่วง เพราะเรามีแพทย์ประเมินว่า เข้าข่ายจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับหรือไม่ หากใช้ก็จะเป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้น

** หากมีปัญหาการนอน แต่ไม่มาตรวจรักษา ถือเป็นภัยเงียบต่อสุขภาพหรือไม่

พญ.กัลยา กล่าวอีกว่า  การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญ โดยคนเราต้องนอนประมาณ 7-9 ชั่วโมง  เราให้ความสำคัญการทานอาหาร การออกกำลังกาย การมีอารมณ์ที่ดี แต่หนึ่งในการดูแลสุขภาพ คือ การนอนซึ่งถือว่าสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาการนอนที่เพียงพอ คุณภาพการนอนที่ดี  

"การสังเกตว่า มีนอนกรน หยุดหายใจ สะดุ้งตื่น มีปัสสาวะกลางคืนบ่อยหรือไม่ โดยสอบถามเพื่อนหรือคู่สามีภรรยาที่นอนด้วยกัน  หรือตื่นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น ปวดศีรษะ ง่วงนอนมากแม้นอนมากเพียงพอแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาการนอนหลับที่มีผลต่อสุขภาพทั้งโรคทางกาย โรคทางจิตใจ เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และยังเสี่ยงต่อการหลับในขณะขับรถ และอาจเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนและการทำงานได้  หากมีปัญหาดังกล่าวควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับเพื่อให้คำแนะนำ การวินิจฉัย การตรวจการนอนหลับ และการรักษาที่ถูกต้องต่อไป" พญ.กัลยา ฝากทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้ หากสนใจรายละเอียดสามารถสอบถามสิทธิ์การรักษาของตนเอง 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org