ภายหลังจากที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้โรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชนทั่วประเทศ สามารถจัดซื้อยาต้านไวรัสรักษาโควิดได้เองตั้งแต่วันที่  1 ก.ย. 2565 เกิดเป็นข้อสงสัยถึงการรักษาและการจ่ายยาต้านไวรัสรักษาโควิดว่า แพทย์สามารถจ่ายยาเองได้ตามดุลพินิจหรือไม่

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาโควิด-19 ภายหลังปรับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ว่า ขณะนี้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในกรุงเทพมหานคร ค่อนข้างทรงตัว แต่ในต่างจังหวัด ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ค่อยลดลง สำหรับแนวทางการจ่ายยานั้น ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยง ผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ ถ้าเลือกจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ก็ควรจะให้โดยเร็วที่สุดภายใน 4 วัน เพราะช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้ ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งและเริ่มมีอาการ ในกลุ่มที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังให้ยาฟาวิพิลาเวียร์ เพราะยังไม่มีผลการวิจัยกรณีการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด แต่ในกลุ่มอื่นก็สามารถให้ยาโมลนูพิราเวียร์ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เพราะยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิด ยังไม่มีผลการวิจัยออกมาเยอะ จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ แต่สามารถให้ได้เลยไม่มีอะไรติดขัด แนวทางการจ่ายยาของกรมการแพทย์ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนแนวทางการให้ยาอาจมีการปรับได้กรณีที่มีผลการวิจัยออกมาเพิ่มเติมว่า ยาชนิดไหนใช้แล้วมีปัญหา จึงต้องรอผลการศึกษาวิจัยเชิงประจักษ์เพิ่มเติม 

"หากเปรียบเทียบกรณีผู้ป่วยเบาหวานต้องกินยาเบาหวาน แต่ตัวผู้ป่วยอยากฉีดยาเบาหวาน ก็เป็นการข้ามขั้นซึ่งไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียได้มานั่งคุยกันเพื่อให้เห็นจุด ต้องพิจารณาว่ายาที่กินเข้าไปจะมีฤทธิ์ไปต้านหรือเสริมกับโรคมันจะมีปัญหา สำหรับคนกรุงเทพฯ มีแสกนจ่ายจบ ก็จะเข้ามาระบบได้ไม่มีปัญหา โดยหลักการเมื่อเข้าสู่ระบบแล้ว ถ้าจำเป็นต้องได้ยา ผู้ป่วยก็จะได้ยา ส่วนการกระจายยานั้น องค์การอาหารและยา (อย.) จะแจ้งอีกครั้งว่า เมื่อกระจายยาไปตามร้านขายยาแล้ว ต้องใช้ใบสั่งแพทย์อย่างไร ย้ำอีกครั้งว่า ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด อยู่ภายใต้การใช้โดยขึ้นทะเบียน Emergency use อย่างยาโมลนูพิราเวียร์ มีการไปหยุดการแบ่งตัวของ RNA ของไวรัส ทำให้เชื้อผิดเพี้ยนไป ทฤษฎีจึงกลัวว่าจะทำให้ยีนของคน RNA แบ่งตัวผิดด้วย แม้โอกาสจะเกิดได้น้อยมาก แต่ไม่รู้ผลระยะยาว จะเห็นว่า การใช้ยาพร่ำเพรื่อไม่ดี เช่น เป็นไข้แล้วไปซื้อยาปฏิชีวนะมากินเองก็ไม่ใช่" อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

ด้าน พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางการจ่ายยารักษาโควิด ว่า การดูแลรักษาแบ่งเป็น 4 กลุ่ม 1.กลุ่มไม่มีอาการ แยกกักตัวที่บ้านได้ ไม่กินยาเลยก็หาย จะไม่ให้ยาต้านไวรัส พิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรเมื่อเป็นไข้ 2.กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย เอ็กซเรย์ปอดแล้วปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง แยกกักตัวที่บ้านได้ อาจมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ในกรณีที่ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส เจ็บคอมาก แต่ไม่มีอาการไอ เนื่องจากการศึกษาวิจัยพบว่า ถ้าให้ภายใน 4 วันแรก อาการจะไม่แย่ลง
3.กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง/โรคร่วมสำคัญ อาจมีอาการเล็กน้อย ปอดอักเสบเล็กน้อย อยู่ในกลุ่ม 608 ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือให้การรักษาที่โรงพยาบาล ต้องให้ยาต้านไวรัส ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และอาการของตัวผู้ป่วย การให้ยาจะมีข้อบ่งชี้ตามที่กำหนด สามารถให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่ง ได้แก่ ยาโมลนูพิราเวียร์ ยาแพกซ์โลวิด ยาเรมเดซิเวียร์ ยาฟาวิพิราเวียร์ และ 4.กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ซึ่งจะมีไข้สูง ไอ ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94 ต้องอยู่ในโรงพยาบาล รับการรักษา จะให้ยาเรมเดซิเวียร์ ร่วมกับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ 

ขณะที่ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า การให้ยาตามทางเลือกจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ กลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยงก็สามารถหายเองได้ โดยไม่ต้องให้ยา แพทย์จะพิจารณาจากความเสี่ยง โรคร่วมสำคัญ เช่น ภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคเบาหวาน เพราะยาต้านไวรัสแต่ละตัวมีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไป ส่วนความกังวลเรื่องเชื้อดื้อยา ยังไม่ค่อยกังวลมาก เพราะให้ยาในช่วงสั้น ๆ แต่ผลข้างเคียงจากยายังไม่แน่ชัด ถ้าเรากินยาได้ประโยชน์ทางการรักษา อาจมีความเสี่ยงของผลข้างเคียง แต่หากหาซื้อยาได้เองก็ต้องระวังผลข้างเคียง เช่น ผู้ป่วยที่กินยาไมเกรนพร้อมยาแพกซ์โลวิดจะเกิดอันตรายได้ จึงไม่อยากให้มีการซื้อยาตามความต้องการคนไข้เอง แต่อยากให้มีการจ่ายยาจากผู้ที่มีความรู้ ให้การใช้ยาอยู่ในมือของผู้ดูแลสุขภาพ

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org