รองปลัด สธ.เผยกรณี ครม.เห็นชอบจ่ายค่าเสี่ยงภัยบุคลากรสาธารณสุขกว่าหมื่นล้านบาท มาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณ จากงบกลางเป็นงบเงินกู้ จ่ายให้คนทำงานโควิดรวม 7 เดือน ตั้งแต่ ธ.ค.64 ถึง มิ.ย.65  ขณะนี้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้สภาพัฒน์ ทั้งรายละเอียดจำนวนบุคลากรแบ่งเป็นรายวิชาชีพ ทั้งหมอ พยาบาล ฯลฯ   ย้ำ! ผอ.รพ.ทุกแห่งช่วยสื่อสารให้บุคลากรเข้าใจ

 

ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในหลักการการจ่ายค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัยแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข กรอบวงเงินกว่า 14,000 ล้านบาท จากภารกิจที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขส่วนหนึ่งว่า งบดังกล่าวเป็นงบที่จะมาเติมส่วนที่ค้างจ่ายของเดือนธันวาคม 2564 ใช่หรือไม่ หรือเป็นงบใหม่ของปี 2565

(อ่านข่าว : ครม.อนุมัติค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์และค่ารักษาพยาบาล ค่าวัคซีนแก่กลุ่มมีปัญหาสถานะ)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ถึงเรื่องนี้ ว่า  ตามที่ ครม.อนุมัติเห็นชอบเรื่องการจ่ายค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด19 งบส่วนนี้มาจากที่ทางสำนักงบประมาณพิจารณาขอเปลี่ยนแปลงการใช้งบจากงบกลาง เป็นงบเงินกู้แทน จึงต้องมีขั้นตอนส่งให้ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณา และเสนอต่อครม. ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบไปแล้วนั้น จากนี้อยู่ระหว่างการประสานส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้สภาพัฒน์ และรอขั้นตอนการจัดส่งเงินมาที่ส่วนกลาง จากนั้นจึงจะส่งให้ทางพื้นที่ต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า งบดังกล่าวสำหรับการจ่ายค่าเสี่ยงภัยบุคลากรปฏิบัติงานโควิดที่มีการค้างจ่ายของเดือนธันวาคม 2564 ด้วยหรือไม่ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ใช่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ของบประมาณจ่ายค่าเสี่ยงภัยของเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม 2564 แต่ขณะนั้นมีงบจ่ายได้ 2 เดือนกว่าๆ ซึ่งค้างจ่ายอีก 1 เดือน คือ เดือนธันวาคม 2564 ดังนั้น งบประมาณที่จะได้รับมาใหม่นี้ก็จะนำไปจ่ายตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 และจ่ายของบุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิดเดือนมกราคม จนถึงเดือนมิถุนายน 2565 รวมแล้วทั้งหมดจะจ่ายรวม 7 เดือนในวงเงินกว่าหมื่นล้านบาท

เมื่อถามกรณีต้องส่งข้อมูลเพิ่มให้สภาพัฒน์ เป็นข้อมูลอะไร เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้จัดส่งข้อมูลไปหมดแล้ว  รองปลัดสธ. กล่าวว่า เนื่องจากเมื่อเป็นงบเงินกู้ จึงต้องส่งข้อมูลรายละเอียดมากขึ้น อย่างของเดิมจะเป็นตัวเลขภาพรวมว่า มีบุคลากรที่ทำงานโควิดในแต่ละพื้นที่จำนวนเท่าไหร่ เป็นวงเงินค่าเสี่ยงภัยเท่าไหร่ รวมทั้งหลักฐานประกอบว่าทำงานโควิด แต่ครั้งนี้ต้องมีข้อมูลแยกว่า บุคลากรแบ่งเป็นหมอกี่คน เป็นพยาบาลกี่คน วิชาชีพอื่นๆ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆเท่าไหร่ ซึ่งต้องแยกออกมาให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตรงนี้ทางพื้นที่ได้รวบรวมมาแล้วและจะดำเนินการจัดส่งให้สภาพัฒน์

“บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำงานโควิด ที่มีข้อมูลขึ้นมาจะได้ค่าเสี่ยงภัยแน่นอน ส่วนที่ค้างจ่ายของเดือนธันวาคม 2564 ก็จะได้รับเช่นกัน เพียงแต่ต้องรอขั้นตอนดำเนินการ” นพ.ธงชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าประเด็นดังกล่าวปรากฎว่ายังขาดการสื่อสารภายในพื้นที่ เพราะบุคลากรหลายคนไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้ นพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนกลางได้มีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอด มีจัดส่งหนังสือแจ้งให้ทั้งนพ.สสจ. และผู้อำนวยการรพ.ทราบ แต่เข้าใจว่าเรื่องการสื่อสารอาจไม่ทั่วถึง เช่น ประชุมหัวหน้าฝ่าย แต่เมื่อมีการสื่อสารอาจไปไม่ครอบคลุมทุกคนของสถานพยาบาลหรือหน่วยงาน

“เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลตรงนี้ จะมีการกำชับผู้อำนวยการรพ.ทุกแห่ง ให้มีการสื่อสารในองค์กรเกี่ยวกับขั้นตอนการจ่ายค่าเสี่ยงภัยให้มากขึ้น เพราะเข้าใจดีว่า บางส่วนไม่ได้รับข้อมูลก็อาจเข้าใจผิดว่า จะไม่ได้รับค่าเสี่ยงภัย ซึ่งไม่ใช่ ทุกอย่างมีขั้นตอน” รองปลัด สธ. กล่าว

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.แจงเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดล่าช้า เหตุสำนักงบฯ ปรับงบกลาง เป็นงบเงินกู้ ต้องรอขั้นตอนดำเนินการ

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org