กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยฝีดาษวานรในไทยยังพบ 4 ราย ส่วนใหญ่สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก  "A.2"  ไม่รุนแรง ย้ำ!  ประชาชนอย่าวิตกกังวลไม่ได้ติดง่ายๆ ต้องใกล้ชิดนัวเนียจริงๆ  ขณะที่การตรวจหาเชื้อ ขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งตรวจได้แล้ว ล่าสุดกรมฯเพาะเชื้อฝีดาษลิงได้จำนวนมากพอ เริ่มเข้าสู่การทดสอบหาภูมิคุ้มกันคนที่เคยปลูกฝีดาษ คาด 1 สัปดาห์รู้ผล! 

เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565  ที่กระทรวงสาธารณสุข  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็น " สายพันธุ์ฝีดาษวานร (Monkeypox)"  ว่า  ขณะนี้สายพันธุ์ที่พบทั่วโลกและประเทศไทย ยังคงเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก คือ B.1 กับ A.2  โดยข้อมูลที่มีรายงานประมาณ 30,000 ราย พบเป็น B.1 เป็นส่วนใหญ่  ส่วนประเทศไทยเพิ่งพบ 4 ราย จึงพบ  A.2  มากกว่า โดย B.1 มี 1 ราย  โดยในกรณีชายไนจีเรียที่พบรายแรก เป็นสายพันธุ์ A.2  ส่วนรายที่ 2 ชายไทยอายุ 47 ปี เป็น B.1 รายที่ 3 เป็นชายเยอรมนี เป็นสายพันธุ์ A2  และรายที่ 4 รายล่าสุดเป็นหญิงไทยพบสายพันธุ์  A.2  ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ที่ไม่รุนแรง ไม่ใช่สายพันธุ์คองโก

"ทั้ง 2 สายพันธุ์ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะเป็นสายพันธุ์ แอฟริกาตะวันตกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอาการจะไม่ค่อยรุนแรง อย่างข้อมูลทั่วโลกที่ป่วย 30,000 ราย เสียชีวิต 5 ราย และอีก 1 ราย ยังมีคำถามอยู่ กรณีที่เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่มาจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ บางรายอาการหนักโดยมีการติดเชื้อเอชไอวีร่วมอยู่ด้วย" นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.ศุภกิจ  กล่าวอีกว่า ตอนนี้กรมวิทยาศาสตร์ฯ สามารถเพาะเชื้อฝีดาษวานรได้แล้ว ได้จำนวนไวรัสปริมาณมากพอสมควร สามารถเริ่มกระบวนการต่อไปได้เลย คือ เริ่มทดสอบคนที่เคยปลูกฝีดาษมาแล้ว โดยจะเอาเลือดมาทดสอบกับเชื้อฝีดาษวานรว่าจะคุ้มกันได้แค่ไหน ที่บอกว่าป้องกันได้ 85 % นั้น เป็นจริงหรือไม่ กำลังเปิดรับอาสาสมัคร 3 กลุ่ม คือ อายุ 40 ปี 50 ปี และ 60 ปี ขึ้นไป จำนวนกลุ่มละ 10 คน รวมทั้งหมดประมาณ 30-40 คน คาดว่าจะใช้เวลา 1 สัปดาห์จะทราบผล 

ส่วนเรื่องการตรวจหาเชื้อปัจจุบัน  ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่งตรวจได้แล้ว และแล็บหลายแห่งในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ สามารถยื่นข้อมูลให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตววจสอบมาตรฐานห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 2+  อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าหากไม่ไม่พฤติกรรมเสี่ยง หรือมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดคนติดเชื้อก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจ เพราะไม่มีความจำเป็น และการตรวจยังคงมีราคาแพง ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกันเพื่อหาต้นทุนที่แท้จริง เพื่อจะได้ปรับลดค่าตรวจให้ถูกลง 

"กรณีมีชาวชาวฝรั่งเศส 1 ราย ที่จ.ตราด มีข้อสงสัยเพราะเคยมีไข้ เมื่อประมาณ 1 เดือน มีแผล และส่งตัวอย่างมาตรวจเบื้องต้นสิ่งส่งตรวจจากคอ จากเลือด ผลเป็นลบทั้งหมด ส่วนสิ่งส่งตรวจจากแผล ตัวอย่างที่ส่งมาไม่สมบูรณ์จึงบอกไมได้ อยู่ระหว่างเก็บตัวอย่างตรวจเพิ่มเติม ซึ่งรายนี้จะเป็นหรือไม่ ยังไม่ทราบ เพราะตัวอย่างส่งให้กรมวิทย์ค่อนข้างช้า แต่พื้นที่ได้ไปสอบสวนโรคเพิ่มเติม" อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว

ด้านดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับประชาชนวิตกกังวลมาก อย่างมีผื่นขึ้นมาก็มาขอตรวจ จริงๆ ต้องไปพบแพทย์เพื่อประเมินลักษณะผื่นที่เกิดขึ้น และดูประวัติเสี่ยงด้วยว่า สมควรตรวจหรือไม่ ทั้งนี้ หากเป็นขึ้นมาก็จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรคด้วย

นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอย้ำว่าทั้ง 4 รายที่ป่วย มีวิธีการติดเชื้อชัดเจน คือ นัวเนีย ใกล้ชิดมาก ไม่ใช่กินข้าวแล้วติด ดังนั้น หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็อย่าวิตกกังวลมากนัก

 

ข่าวอื่นๆ : ไทยพบโควิดสายพันธุ์ BA.2.75   จำนวน 5 ราย ส่วน BA.4.6  ยังไม่พบในไทย ย้ำ! ยังไม่มีข้อมูลแพร่เร็ว-รุนแรง

 

 *สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org