สถาบันวัคซีนแห่งชาติอัปเดต! วัคซีนโควิดรุ่นใหม่ ยังไม่แล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพัฒนา ล่าสุดมีโมเดอร์นา - ไฟเซอร์ และNovavax ศึกษาวิจัยจำเพาะโอมิครอนสายพันธุ์ BA.1 ยังไม่ใช่ BA.4/BA.5 ผอ.สถาบันฯ จับตาข้อมูลต่อเนื่อง ย้ำ! วัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพ ป้องกันความรุนแรง ลดเสียชีวิตได้จริง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยง 608
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ส.ค. 2565 นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาวิชาการ ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom webinar) ถึงวัคซีนรุ่นใหม่ ว่า ขณะนี้มีการติดตามข้อมูลวัคซีนป้องกันโควิดรุ่นใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อสายพันธุ์โอมิครอน แต่หากลองสังเกตดู คีย์เวิร์ดจริงๆ แม้กระทั่ง US FDA ก็บอกว่าหากจะมีการพัฒนาหรือใช้จริงวัคซีนโอมิครอน ขอให้เพิ่มสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เข้าไปในการทำ BA.1 ด้วย หมายความว่า ทำจนเสร็จแล้วผ่านไป 6 เดือนเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่มา ทาง US FDA ขอให้เพิ่มสายพันธุ์ใหม่เข้าไปอีก ซึ่งหากเพิ่ม BA.4 และ BA.5 เข้าไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่า ในอนาคตจะมีสายพันธุ์อะไรอีก เพราะต่อจากโอมิครอน ก็ยังมีสายพันธุ์อื่นๆอีก จึงยังไม่มีจุดจบของตัวสายพันธุ์ใหม่
นพ.นคร กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมามีการพัฒนาวัคซีนต่อสายพันธุ์เดลตาแล้ว ปรากฏว่า มีสายพันธุ์อื่นอีก ซึ่งเป็นไปได้ว่า เมื่อพัฒนาสายพันธุ์ BA.1 แล้ว แต่อาจไม่ได้ใช้ เพราะต้องมาเพิ่ม BA.4/BA.5 อีกก็ได้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาของโควิดที่เราต้องวิ่งไล่ตาม แต่ในส่วนของประเทศไทยเอง เราก็มีนักวิจัยที่พัฒนาวัคซีนของเรา ซึ่งมีเสนอขอพัฒนาสายพันธุ์โอมิครอน และสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ให้ทุนสนับสนุน ตอนนี้ทั้ง mRNA ของจุฬา หรือในส่วนไบโอเทคที่พัฒนาตัวไวรัล เวคเตอร์วัคซีน ก็มีการพัฒนาวัคซีนต้นแบบที่เป็นโอมิครอน BA.4 /BA.5 อยู่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทันเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ แต่เราต้องเตรียมไว้
“ขณะนี้นี้ต้องมีการจับตาดูว่า ต่างประเทศมีการพัฒนาอย่างไรด้วย ซึ่งขณะนี้ในส่วนสถาบันฯ ยังไม่ได้สั่งวัคซีนรุ่นใหม่ตรงนี้ เพราะประเทศต้นทางยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้ แต่ขอย้ำว่า วัคซีนป้องกันโควิดที่มีอยู่ในมือ ณ ขณะนี้ ใช้ได้จริง ไม่ต้องรอรุ่นใหม่ๆ” นพ.นคร กล่าว
พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันเรามีวัคซีนจำนวนมากที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ทั้งเชื้อตาย ทั้งไวรัลเวคเตอร์ (Viral Vector) วัคซีน mRNA และวัคซีนโปรตีนซับยูนิต หรือในชื่อโคโวแวกซ์ ส่วนวัคซีนที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ขึ้น คือ สายพันธุ์โอมิครอน BA.1 พัฒนาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลพื้นฐานมาจากการวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม mRNA ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาลูกผสม
“อย่างโมเดอร์นา และไฟเซอร์ ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาเช่นกัน ตั้งแต่ตัวเดี่ยวๆ จนถึงสองตัวผสมกัน โดยมีการเสนองานวิจัยเฟส 3 ให้กับ USFDA เมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่โปรตีนซับยูนิต อย่างโนโวแวกซ์ก็พัฒนาเช่นกัน ทั้งสไปรท์ของ BA.1 และของอู่ฮั่น แต่ยังเป็นงานวิจัยเฟส 3” พญ.สุเนตร กล่าว
พญ.สุเนตร กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนรุ่นใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ด้วยความจำเป็นของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดการเสียชีวิตได้ แม้วัคซีนที่เรามีอยู่อาจไม่ดีที่สุดกรณี BA.4/BA.5 แต่ก็ยังสามารถป้องกันได้ และทันเวลา เพราะตอนนี้กำลังระบาดอยู่ ดังนั้น การผลิตวัคซีนเมื่องานวิจัยออกมา หากขึ้นทะเบียนได้ ก็ต้องใช้เวลาการผลิต การจัดทำต่างๆ อาจไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งถึงวันนั้นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 จะอยู่หรือปล่าว หรือจะมีตัวใหม่ๆอีก ดังนั้น วัคซีนเข็มกระตุ้นของเรา สามารถลดความรุนแรง ความการเสียชีวิตได้
“แม้วัคซีนปัจจุบันจะไม่ดีที่สุด แต่ก็ดีพอในการป้องกันได้ ดังนั้น หากใครฉีดเข็มสุดท้ายห่างมาแล้วเกิน 4 เดือน ยิ่งมีโรคประจำตัวขอให้มาฉีดบูสเตอร์ เพราะวัคซีนเข็มกระตุ้นลดอัตราการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตอย่างชัดเจน” พญ.สุเนตร กล่าว
พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวย้ำว่า วัคซีนเข็ม 3 จำเป็นต้องฉีด ใครฉีดเกิน 4 เดือนขอให้มาฉีดเข็มกระตุ้น ที่สำคัญมาตรการทางสังคมอย่าลืม ต้องปฏิบัติเช่นเดิม
(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดประสิทธิผลวัคซีนโควิดต่อโอมิครอนระดับประเทศ ชี้ฉีด 3 เข็มลดป่วยรุนแรง 90% )
ศ.เกียรติคุณ นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า วัคซีนที่หน่วยตนมีเหลือ แต่ยังมีคนไม่ยอมมาฉีด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องท้าทายในการเชิญชวนให้คนมาฉีด ดังนั้น หากไม่มีข้อห้ามขอให้มาฉีด ขอให้มาฉีดเข็ม 3 จาก 45% ณ วันนี้ เราต้องฉีดให้มากถึง 70% ให้ได้ อย่างมาเลเซีย ฉีด 3 เข็มไปถึง 70% แล้ว จึงขอให้ช่วยกันเชิญชวนคนอายุ 18 ปีขึ้นไปมาฉีดเข็ม 3 ส่วนอาการข้างเคียง หากเป็นโควิด มีอาการข้างเคียงหนักกว่าการฉีดวัคซีนอีก ยกเว้นมีข้อห้ามจริงๆ ซึ่งโอกาสเกิดข้างเคียงแม้จะมี แต่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม เข็ม 3 ไม่ว่าจะเป็น mRNA หรือไวรัลเวกเตอร์ ฉีดได้หมด
- 3965 views