“ฝีดาษวานร” แนวโน้มทั่วโลกขาขึ้น! ขณะที่ไทยยังยืนยัน 2 ราย ล่าสุดเตรียมมอบ อภ.จัดหาวัคซีนฝีดาษลิง เข้าไทยคาดครึ่งเดือนหลัง ส.ค.นี้ เบื้องต้น 1 พันโดส ขณะที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันฯ จะพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเสี่ยงกลุ่มไหนควรได้รับวัคซีนก่อน ย้ำ! ไม่จำเป็นต้องได้ทุกคนเหมือนวัคซีนโควิด19 เหตุความรุนแรงแตกต่างกัน ส่วนศูนย์วิทย์ตรวจเชื้อได้ 15 แห่งทั่วประเทศ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 ส.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝีดาษวานร ว่า สถานการณ์ฝีดาษวานรทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.2565 มีผู้ป่วยยืนยัน 22,812 ราย จาก 75 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้มีรายงานติดเชื้อ 2 ราย ส่วนสถานการณ์การเสียชีวิตจากฝีดาษวานรขณะนี้มี 3 ราย จากสเปน 2 ราย และบราซิล 1 ราย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มทั่วโลกเป็นช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะประเทศทางทวีปอเมริกา และยุโรปในหลายประเทศ ส่วนเอเชียเริ่มมีรายงานหลายประเทศ ประเทศที่น่าจะมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ สิงคโปร์ รองลงมาเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่การติดเชื้อในเอเชียมีประวัติใกล้ชิดกับผู้เดินทางต่างประเทศ แต่ก็เริ่มมีแนวโน้มติดในประเทศ อย่างสิงคโปร์มีมากกว่า 10 รายขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ส่วนปัจจัยเสี่ยงทำให้ผู้เสียชีวิตจากฝีดาษวานร ทั้งที่โรคความรุนแรงค่อนข้างต่ำ จากข้อมูลอย่างสเปนพบว่ารายแรกมีภาวะแทรกซ้อนสมองอักเสบ ส่วนรายที่สองมีโรคมะเร็งร่วมด้วย ก็จะคล้ายๆ กับโรคติดเชื้อหลายโรคในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ติดเชื้อ 2 รายในประเทศไทย รายแรกที่เป็นชายไนจีเรีย มีผลตรวจยืนยันตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. ซึ่งไม่ได้รับความร่วมมือและหลบหนีไปกัมพูชา ขณะนี้หายดีแล้ว แต่จากการค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในภูเก็ตรวมกว่า 50 รายยังไม่พบผู้ป่วยใหม่ในพื้นที่ แต่ยังเฝ้าระวังต่อเนื่อง ส่วนรายที่ 2 ที่เป็นชายไทย มีประวัติใกล้ชิดกับชายต่างประเทศ และได้สอบสวนโรคร่วมกับหลายหน่วยงานพบว่า ทุกคนเป็นลบ แต่ก็จะเฝ้าสังเกตอาการจนครบ 21 วัน ส่วนชาวเบลเยี่ยม ที่คาดว่าจะเป็นเหตุการติดเชื้อ เบื้องต้นน่าจะออกจากต่างประเทศแล้ว ซึ่งกำลังติดตามจากหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป
“สำหรับวัคซีนฝีดาษวานรนั้น ต้องย้ำว่าโรคนี้ไม่ได้รุนแรง ไม่ได้ติดต่อง่าย ซึ่งโรคจะต่างกับโควิด19 จึงไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้กับคนไทยทุกคน แต่ต้องเลือกกลุ่มที่มีความเหมาะสม โดยการจะฉีดวัคซีนต้องคำนึง 4 ปัจจัย คือ 1.ประสิทธิภาพ 2.ผลข้างเคียง 3.สถานการณ์การระบาดของโรค และ4.ความเป็นไปได้ของการจัดบริการ ขณะนี้กำลังจัดหาวัคซีนรุ่นที่ 3 โดยให้องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เป็นผู้ประสานเข้ามาอย่างช้าน่าจะช่วงครึ่งเดือนหลัง ส.ค.นี้” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามว่าวัคซีนฝีดาษลิงที่จะนำเข้ามามีจำนวนเท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เบื้องต้น 1 พันโดส โดยฉีดคนละ 2 โดส ส่วนรายละเอียดการฉีดเว้นห่างเท่าไหร่ และจะเลือกกลุ่มใดในการฉีดนั้นจะมีคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคฯ พิจารณาความเหมาะสมต่อไป
ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เดิมการตรวจเชื้อฝีดาษวานร จะต้องตรวจในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 แต่ล่าสุดท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามให้สามารถตรวจเชื้อในห้องชีวนิรภัยระดับ 2 ได้ และขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งสามารถตรวจหาเชื้อฝีดาษลิงได้ด้วยวิธีพีซีอาร์ และรายงานผลใน 24 ชั่วโมง ล่าสุดศูนย์วิทยาศาสตร์ที่สมุทรสาครตรวจไปแล้วเมื่อวานนี้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเก็บตัวอย่างนั้นจะมีรายละเอียดว่า ต้องตรวจอย่างไรบ้าง แต่จริงๆ หากไม่สามารถตรวจได้ทั้งหมดแต่ขอให้มีการตรวจจาก Throat swab ก็สามารถส่งตรวจได้ และบุคลากรผู้ทำการตรวจขอให้สวมชุด PPE ป้องกันตัวเอง แม้จะไม่ได้ติดกันง่าย แต่การป้องกันตนเองก็เป็นสิ่งที่ดี
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีแนวทางปฏิการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร ฉบับวันที่ 31 ก.ค.2565 ซึ่งได้ผ่านการประชุมของศูนย์ EOC เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการแจ้งรายละเอียดต่างๆในการวินิฉัย การดูแลรักษา โดยหลักๆ หากพบการติดเชื้อ ก็จะมีการแอดมิททุกรายในโรงพยาบาล และให้ดำเนินการรักษาในห้องแยกผู้ป่วยโรคติดเชื้อ เป็นต้น
ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรครุนแรง อาทิ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกมาภายใน 2 ปี ผู้ที่เป็นโรคที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี หญิงตั้งครรภ์ /ระหว่างให้นมบุตร เป็นต้น
- 2065 views