เป็นอีกครั้งในเวลาเพียง 3 เดือนไล่ๆ กันที่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 นอกจากจะยังไม่จบลงแล้วยังมีโรคแปลกๆ ใหม่ๆ มา "ร่วมแจม" สร้างความกังวลให้กับมนุษยชาติกันอย่างไม่หยุดหย่อน
เริ่มจากโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ที่ได้รับการยืนยันในเดือนพฤษภาคมและยังระบาดอย่างต่อเนื่อง ณ เวลาที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น โดยโรคนี้เริ่มต้นด้วยคลัสเตอร์ที่พบในสหราชอาณาจักร แต่ผู้ป่วยยืนยันรายแรกถูกโยงไปถึงบุคคลที่เชื่อมโยงกับการเดินทางไปยังไนจีเรีย (ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่น) และตรวจพบเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
หลังจากโรคจากแอฟริกาที่เป็นโรคประจำถิ่นที่นั่นกลายเป็นโรคจากต่างถิ่นที่ระบาดไปหลายพื้นที่ของโลกไปเรียบแล้ว ในอีก 2 เดือนต่อมาโลกก็พบกับอีกโรคหนึ่งที่เริ่มการระบาดในแอฟริกาเช่นกัน นั่นคือ โรคไวรัสมาร์บวร์ค (Marburg virus disease, MVD)
โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 เกิดการระบาดของโรคมาร์บวร์คในประเทศกานา กานารายงานผู้ป่วยที่มีผลเป็นบวก 2 รายเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม หลังจากได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ถือเป็นการระบาดครั้งแรกในประเทศกานา โดยการระบาดเกิดขึ้นตามรอยประเทศกินีเมื่อปีที่แล้ว โดยในตอนนั้น รัฐบาลกินีตรวจพบกรณีติดเชื้อจากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ในจังหวัดทางใต้ใกล้พรมแดนของประเทศกับเซียร์ราลีโอนและไลบีเรีย
ข่าวการพบโรคไวรัสมาร์บวร์คที่ประเทศกานากลายเป็นความสนใจของสื่อทั่วโลกในทันที เพราะในช่วงเวลาที่โควิด-19 ยังไม่สงบนั้น หากมีโรคแปลกๆ โผล่ขึ้นมาก็ย่อมจะเป็นการง่ายที่จะสร้างความตื่นตระหนกเหมือนเช่นกรณีของฝีดาษลิง ทั้งๆ ที่โรคนี้ยังเป็นแค่ outbreaks หรือตามนิยามของ CDC ของสหรัฐอเมริกาก็คือ เหมือนกับ epidemic "แต่มักใช้สำหรับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่จำกัด" (1)
สถานการณ์ในกานายังอยู่ในวงจำกัดและย้อนกลับไปในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา การระบาดของไวรัสมาร์บวร์คจำกัดวงอยู่ในประเทศแถบแอฟริกาเพียงไม่กี่ประเทศ คือ ปี 2560 ยูกันดา ติดเชื้อ 3 ตาย 3, ปี 2557 ยูกันดา ติดเชื้อ 1 ตาย 1, ปี 2553 ยูกันดา ติดเชื้อ 18 ตาย 9, ปี 2551 ยูกันดา ติดเชื้อ 2 ตาย 1, ปี 2550 ยูกันดา ติดเชื้อ 4 ตาย 1 ปี 2547 - 2548 แอโกลา ติดเชื้อ 252 ตาย 227 เป็นต้น (2)
โรคไวรัสมาร์บวร์คเกิดจากไวรัสสองชนิดคือไวรัสมาร์บวร์คและไวรัสแรเวินที่อยู่ในสกุล Marburgvirus วงศ์ Filoviridae (3) เป็นไวรัสเฉพาะถิ่นที่พบในป่าแห้งแล้งแถบเส้นศูนย์สูตรของทวีปแอฟริกา แหล่งที่มาของไวรัส คาดว่าค้างคาวผลไม้โลกเก่ามีส่วนเป็นตัวเก็บเชื้อในธรรมชาติ และการเยือนถ้ำที่ค้างคาวอาศัยอยู่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
โรคไวรัสมาร์บวร์คมีระยะฟักตัว 2–21 วัน โดยเฉลี่ย 5–9 วัน ช่วงวันที่ 1–5 หลังเริ่มแสดงอาการ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน หนาวสั่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง คอหอยอักเสบ ผื่นนูนแบน ปวดท้อง เยื่อตาอักเสบ และละเหี่ย ช่วงวันที่ 5–13 ผู้ป่วยจะมีภาวะสิ้นกำลัง หายใจลำบาก บวมน้ำ ไข้ออกผื่น และอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น สมองอักเสบ สับสน เพ้อ ปลายช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีอาการตกเลือดซึ่งจะนำไปสู่ช่วงฟื้นตัวหรือทรุดหนัก หลังจากนั้นช่วงวันที่ 13–21 อาการผู้ป่วยสามารถแบ่งเป็นสองประเภท หากฟื้นตัวผู้ป่วยจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ไฟโบรไมอัลเจีย ตับอักเสบ และอ่อนแรง ส่วนผู้ป่วยที่อาการทรุดจะมีไข้ต่อเนื่อง ภาวะตื้อ โคม่า ชัก การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ และช็อก ผู้ป่วยมักเสียชีวิต 8–16 วันหลังเริ่มแสดงอาการ (4)
โรคไวรัสมาร์บวร์คมีอัตราติดเชื้อได้สูง แต่ไม่ติดต่อรวดเร็วมาก พวกมันไม่ได้แพร่เชื้อโดยละอองระหว่างการระบาด เนื่องจากไม่มีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติ การป้องกันโรคไวรัสมาร์บวร์คจึงขึ้นอยู่กับการกักกันเคสที่ได้รับการยืนยันหรือมีความเป็นไปได้สูง มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสม และการฆ่าเชื้อและการฆ่าเชื้อเป็นหลัก (4)
เนื่องจากโรคไวรัสมาร์บวร์คไม่ได้แพร่กระจายผ่านละอองลอย วิธีการป้องกันที่ตรงไปตรงมาที่สุดระหว่างการระบาดคือการหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง (ทางผิวหนังต่อผิวหนัง) กับผู้ป่วย เลี่ยงสัมผัสกับการขับถ่ายและของเหลวในร่างกาย รวมถึงวัสดุและอุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อน ผู้ป่วยควรถูกแยกตัวออกไป แต่ยังคงปลอดภัยที่จะให้สมาชิกในครอบครัวมาเยี่ยมได้ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ควรได้รับการฝึกอบรมและใช้เทคนิคการพยาบาลที่เข้มงวด (หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้ง ถุงมือ แว่นตาและเสื้อคลุมตลอดเวลา) ในส่วนของพิธีกรรมการฝังศพตามประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิธีการที่ต้องอาบศพที่เสี่ยงต่อการติดต่อกับเชื้อโดยตรง ควรถูกห้ามปรามหรือแก้ไขแนวทางการปฏิบัติ (4)
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสำหรับการป้องกันโรคไวรัสมาร์บวร์ค แต่มีวัคซีนหลายตัวที่ถูกคัดมากเป็นตัวแทนในการพัฒนาและทดสอบในสัตว์ทดลองต่างๆ
ที่น่าสนใจก็คือเมื่อปี 2564 องค์กร Gavi เผยแพร่บทความชื่อ "การระบาดใหญ่ครั้งต่อไป: มาร์บวร์ค?" ระบุว่า "เนื่องจากไวรัสมาร์บวร์คสามารถแพร่กระจายระหว่างผู้คนได้ จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการติดเชื้อที่เข้มงวดอย่างยิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้คนสัมผัสกัน เพื่อให้แน่ใจว่าตัวอย่างในห้องปฏิบัติการจะถูกกำจัดอย่างระมัดระวัง และเพื่อให้แน่ใจว่าขั้นตอนการฝังศพปลอดภัย การหลีกเลี่ยงการจัดการหรือการกินเนื้อสัตว์ป่าก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกันเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อที่อาจแพร่กระจายจากสัตว์ การเดินทางระหว่างประเทศเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญสำหรับการแพร่กระจายของไวรัสมาร์บวร์คไปนอกทวีปแอฟริกาและการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะได้รับผู้ป่วยก่อนที่ผู้คนจะนำไวรัสไปยังประเทศอื่น ๆ จึงมีความสำคัญ" (5)
บทความนี้ยังเตือนว่า โรคนี้มี "ภัยคุกคามจากโรคระบาด" โดยชี้ว่า "เนื่องจากไวรัสมาร์บวร์ค สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนผ่านการสัมผัสของเหลวในร่างกาย เช่นเดียวกับอีโบลา จากการแพร่ระบาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า กระแสโลกาภิวัตน์ที่เพิ่มขึ้นและการเดินทางระหว่างประเทศ หมายความว่าความเสี่ยงในการแพร่กระจายไปทั่วโลกนั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อระยะฟักตัวอาจนานถึงสามสัปดาห์ นี่อาจเป็นหายนะเนื่องจากอัตราการเสียชีวิตสูง" (5)
เรื่องนี้อาจจะประมาทไม่ได้เลย เพราะแม้แต่ในช่วงที่มีการล้อคดาวน์เต็มที่หรือบางส่วนในระหว่างการระบาดใหญ่ โรคฝีดดาษลิงก็ยังสามารถระจายตัวออกจากพื้นที่เฉพาะในแอฟริกาได้เป็นครั้งแรกและกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ของโลก
จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าไวรัสมาร์บวร์คอาจจะทำให้เกิดสถานการณ์แบบเดียวกัน?
อ้างอิง
1. "Principles of Epidemiology in Public Health Practice, Third Edition An Introduction to Applied Epidemiology and Biostatistics". (May 18, 2012). CDC.
2. Wikipedia contributors. "Marburg virus." Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 19 Jul. 2022. Web. 20 Jul. 2022.
3. Singh, edited by Sunit K.; Ruzek, Daniel (2014). Viral hemorrhagic fevers. Boca Raton: CRC Press. p. 458. ISBN 9781439884317.
4. Wikipedia contributors. "Marburg virus disease." Wikipedia, The Free Encyclopedia. Wikipedia, The Free Encyclopedia, 18 Jul. 2022. Web. 20 Jul. 2022.
5. Joi, Priya. (22 April 2021). "The next pandemic: Marburg?". Gavi.
- 266 views