สวรส.เตรียมงานวิจัยประกบหลัง รพ.สต.ถ่ายโอนไป อบจ. 1 ต.ค. 65 มุ่งศึกษา 2 ประเด็นหลัก ทั้งสุขภาพประชาชนในพื้นที่ และระบบบริหารจัดการต่างๆ ทั้งระบบบริการ กำลังคน ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ฯลฯ เพื่อ ส่วนประเด็นประเมินคุณภาพ รพ.สต. หากไม่มี รพ.สต.ติดดาว ล่าสุด สวรส.ประสาน สรพ.หารือมาตรฐานเหมาะสม
ตามที่จะมีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 โดยการถ่ายโอนครั้งนี้มี อบจ. 49 แห่ง และรพ.สต.จำนวน 3,264 แห่ง ขณะที่บุคลากรรวมแล้ว 21,917 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีการตั้งงบประมาณสำหรับการถ่ายโอน รพ.สต. ไปแล้ว 512 แห่ง แต่เกิดข้อคำถามว่า เมื่อ รพ.สต.ถ่ายโอนไปแล้วนั้น จะมีการติดตามการประเมินผลหลังถ่ายโอน รวมไปถึงการประเมินเรื่องต่างๆต่อไปอย่างไรนั้น
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า สวรส. เป็นหน่วยงานศึกษาวิจัย ซึ่งในเรื่องการกระจายอำนาจรูปแบบการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยัง อบจ. ย่อมต้องมีการติดตามเพื่อศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การถ่ายโอนไม่สะดุด ไม่ว่าจะเป็นระเบียบ แนวทางต่างๆ ที่สำคัญเมื่อถึงวันที่ 1 ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นการถ่ายโอนจริง จำเป็นต้องมีงานวิจัยประกบ 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรก สุขภาพของประชาชนหลังการถ่ายโอนเป็นอย่างไร และประเด็นที่สอง คือ ต้องติดตามระบบบริหารจัดการต่างๆ อาทิ ระบบบริการ ระบบกำลังคน เมื่อถูกถ่ายโอนจากกระทรวงสาธารณสุขไปกระทรวงมหาดไทยจะเป็นอย่างไร
ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวอีกว่า รวมถึงระบบข้อมูล ซึ่งปกติตัวชี้วัดต่างๆ อย่างตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุข เราจะทราบข้อมูล แต่เมื่อถ่ายโอนไป อบจ. แล้ว จึงไม่แน่ใจว่าจะสามารถทราบข้อมูลนี้อีกหรือไม่ อย่างหากมีโรคระบาด ซึ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน และกระทรวงสาธารณสุขก็ควรจะทราบข้อมูลดังกล่าว ในฐานะเป็น National Health Authority รวมไปถึงระบบยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ซึ่งปกติกระทรวงสาธารณสุขจะจัดซื้อยารวม ทำให้ได้ราคาถูก แต่หากแยกซื้อจะมีราคาแพง จึงต้องไปดูว่า มีระบบอะไรรองรับ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนให้สามารถจัดซื้อยาได้ราคาถูก และประชาชนเข้าถึงยาได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ระบบการเงินการคลัง เป็นเรื่องสำคัญที่ สวรส.ต้องมีการติดตามผลและศึกษาวิจัยว่า ควรเป็นรูปแบบใดเหมาะสมที่สุด อีกทั้ง ในส่วนของการอภิบาลระบบ การดูแลกำกับเชิงนโยบาย หากมีการถ่ายโอนแล้ว ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข จะสั่งการอะไรเกี่ยวข้องกับสุขภาพได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ สวรส. จะมีการศึกษาเรื่องเหล่านี้ โดยจะหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสปสช. อบจ. รพ.สต. ต่อไป
เมื่อถามว่า สวรส.ในฐานะหน่วยงานวิจัยกังวลประเด็นไหนเกี่ยวกับการถ่ายโอนมากที่สุด รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า เป็นข้อห่วงใยเรื่องระบบบริการ และตัวบุคลากร ยกตัวอย่าง รพ.สต. 1 แห่ง หากมีบุคลากรทำงานจำนวน 4 คน โดย 2 คนเป็นคนเดิมเคยอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อโอนย้ายแล้ว ด้วยความเป็นคนเดิมทำงานในพื้นที่มาตลอด ก็จะสามารถเชื่อมโยง ขอความช่วยเหลือผ่านเครือข่ายต่างๆได้ เรียกว่า มีเลือดสาธารณสุขอยู่ แต่อีก 2 คนหากเป็นคนใหม่ที่ไม่คุ้นชิน หรือไม่มีสายสัมพันธ์สนิทแนบแน่นมาก่อน ตรงนี้จะมีผลต่อการทำงานหรือไม่
"สิ่งสำคัญ เมื่อถ่ายโอนแล้วต้องไม่มีผลต่อการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ คือ คุณภาพการบริการต้องไม่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งในอดีต สวรส.เคยประเมินผลการถ่ายโอนรพ.สต.ไปเทศบาล พบว่า ตัวชี้วัดด้านการดูแลสุขภาพไม่ด้อยกว่าเดิม และเมื่อถามความพึงพอใจของประชาชนพบว่า หลังจากถ่ายโอนก็ยังพึงพอใจมาก ถึงมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบทางสถิติ ไม่แตกต่างจากเดิม สะท้อนให้เห็นว่า คนที่ทำงานสาธารณสุขอยู่เดิมเมื่อถ่ายโอนไปแล้วก็ยังทำงานได้เช่นเดิม เชื่อมประสานพื้นที่ได้ไม่แตกต่างจากเดิม ดังนั้น บุคลากรทำงานมีส่วนสำคัญมาก" ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีบุคลากรที่ย้ายตาม รพ.สต.ไปอบจ. แต่ไม่ได้ย้ายถาวร เป็นการขอช่วยราชการ จะมีผลต่อการให้บริการหลังจากนั้นหรือไม่ ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวว่า การช่วยราชการได้กำหนดเป็นกฎหมาย เพื่อให้บุคลากรสามารถชั่งใจได้ว่า อยู่ได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็สามารถคืนกลับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนจะมีผลต่อระบบบริการสุขภาพหรือไม่นั้น ช่วงแรกของการช่วยราชการไม่มีผล แต่ความเป็นจริง ทาง อบจ.ต้องมีตำแหน่งจริงๆ ให้เขาด้วย แม้เขาจะไปช่วยราชการ
ผู้สื่อข่าวถามว่า สวรส.จะมีการศึกษาวิจัยความจำเป็นของการประเมินคุณภาพ รพ.สต.หรือไม่ จากเดิมกระทรวงสาธารณสุขมี "รพ.สต.ติดดาว" หากย้ายไป อบจ. ต้องประเมินอย่างไร ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวว่า ปกติการประเมินผลในเรื่องคุณภาพจะมีตัวชี้วัดกำหนด โดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล หรือ สรพ. ทำเรื่องนี้ ซึ่งเดิมจะประเมินส่วนรพ.ศูนย์(รพศ.) รพ.ทั่วไป(รพท.) และรพ.ชุมชน(รพช.) แต่ล่าสุดขยายครอบคลุมไปยังหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือรพ.สต.ด้วย
"ทีมสวรส. กำลังหารือกับ สรพ.ว่า ควรมีมาตรฐานอะไรในการวัด รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไป อบจ.ว่า มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งงานหลักของไพรมารีแคร์ คือ การควบคุมป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ ตรงนี้ก็ต้องมาพิจารณาว่าจะออกเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างไร" ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเกี่ยวข้อง :
-สรพ.ถกข้อห่วงใยประเมินคุณภาพ "รพ.สต." หากถ่ายโอนไปท้องถิ่น 1 ต.ค. ใครดูแลต่อ..
-จับตาระบบประเมินคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ จาก "รพ.สต.ติดดาว" สู่รูปแบบใด
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.or
- 1462 views