ประธานบอร์ด สรพ. แนะเมื่อถ่ายโอนแล้ว ขอสาธารณสุขทำงานร่วมท้องถิ่น ยึดปชช.เป็นหลัก  ด้านตัวแทนรพ.สกลฯ เสนอ สรพ.ทำมาตรฐานเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด เพราะระบบสุขภาพไม่สามารถแยกประเมิน Primary Care ออกจาก Secondary care หรือTertiary care ได้ พร้อมห่วงการผลิตแพทย์ Fam med   อบจ.มีโครงสร้างรองรับอย่างไร

 

"ถ่ายโอนแล้วสิ่งสำคัญในพื้นที่ต้องทำงานร่วมกัน ไร้ทิฐิต่อกัน คิดถึงประชาชนเป็นหลัก...เพื่อคุณภาพการบริการที่ดี.."  นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ประธานกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.  ฝากถึงการทำงานในพื้นที่ เมื่อมีการถ่ายโอน รพ.สต.ไปท้องถิ่นแล้ว สิ่งสำคัญคือ คุณภาพการบริการต้องไม่ด้อยกว่าเดิม 

แต่เกิดคำถามว่า ก่อนการถ่ายโอนไปท้องถิ่น รพ.สต. จะมีการดำเนินการเรื่องคุณภาพผ่าน "รพ.สต.ติดดาว" แต่หากถ่ายโอนไปท้องถิ่นแล้ว การประเมินคุณภาพตรงนี้จะดำเนินการอย่างไร และต้องมีการเชื่อมโยงกับระบบสาธารณสุข อย่างโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปหรือไม่

เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.  นำโดยนพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ประธานกรรมการ สรพ.  และพญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. พร้อมทั้งสื่อมวลชน ลงพื้นที่ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา  เพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการพัฒนาการจัดระบบบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการปฐมภูมิ (รพ.สต.) ต่อการพัฒนาคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชน กรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปองค์การบริหารสวนจังหวัด(อบจ.) โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวนมาก

โดย นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ประธานกรรมการ สรพ.   กล่าวขึ้นช่วงหนึ่งภายในการประชุมดังกล่าว ว่า  สรพ.ได้มีแนวคิดจัดทำมาตรฐานให้บริการในระดับปฐมภูมิ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะกรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยังอบจ. ซึ่งเรื่องมาตรฐานการบริการเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการมีแนวทางปฏิบัติต่างๆแล้ว ในเรื่องของการปฏิบัติงานที่ทำด้วยใจ ละทิฐิ และทำงานร่วมกันในพื้นที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง จะเป็นสิ่้งสำคัญที่จะส่งผลให้คุณภาพการบริการแก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการถ่ายโอนไปแล้ว และเกิดโรคระบาดอีกครั้งการทำงานในส่วนกระทรวงสาธารณสุข จะประสานกับอบจ.ได้มากน้อยแค่ไหน นพ.ธีรพล กล่าวว่า   ช่วงโควิดมีพ.ร.บ.โรคติดต่อ คล้ายๆ พระแสงกายสิทธิ์ ใช้ในเหตุการณืไม่ปกติ ดังนั้น ไม่ว่ากฎหมายใดต้องอยู่ภายใต้พ.ร.บ.นี้ แต่เมื่่อถ่ายโอนไปแล้วเราไม่สามารถใช้อาวุธพิเศษทำงานได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามถึงจะมีการถ่ายโอนแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุข ยังทำหน้าที่เป็นเรกูเลเตอร์ (Regulator)  แม้ในอนาคตการบริการจะลดลง ซึ่งจริงๆยังสามารถสั่งการหรือขอความร่วมมือกับทาง อบจ. เพราะมีอำนาจในขอบข่ายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงฯออกมา สามารถใช้ได้ทั่วประเทศ

"ประเด็นสำคัญจริงๆ อยู่ที่หน้างาน การประสานงานร่วมกัน การเข้าใจกัน การไม่มีทิฐิต่อกัน การยึดประชาชนเป็นส่วนกลาง ว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ถ้าไม่เกิดขึ้นและไปยึดเรื่องเงิน เรื่องศักดิ์ศรี เรื่องภาระงานมากไป หากเป็นแบบนี้ก็ไม่ดี แม้มีพระแสงกายสิทธิ์ก็ช่วยไม่ได้อยู่ดี ดังนั้น เวลาทำงานร่วมกันจึงต้องละทิฐิ ผลประโยชน์ส่วนตัวออกไป ต้องยึดประชาชน ส่วนตัวเรา เสียบ้างไม่เป็นไร แต่ยึดประชาชนเป็นสำคัญ" นพ.ธีรพล กล่าว

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สวรส.เตรียมศึกษาวิจัย พร้อมติดตามผล หลัง รพ.สต.ถ่ายโอนไป อบจ. 1 ต.ค.65)

ด้าน นพ.อำพล เวหะชาติ หัวหน้ากลุ่มเวชกรรมสังคม ตัวแทนจากโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร กล่าวว่า   ในเรื่องการประเมินคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิ เมื่อไม่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ถ่ายโอนไปท้องถิ่นแล้ว การประเมินคุณภาพจะเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมารพ.สต.ที่อยู่ในกระทรวงฯ จะใช้นโยบาย รพ.สต.ติดดาว 

"ส่วนตัวมองว่าประเด็นการโอนถ่ายนั้น ในแง่ของการทำงานระบบสุขภาพไม่สามารถแยกการประเมิน Primary Care ออกจาก Secondary care หรือTertiary care ได้ ยกเตัวอย่าง ถ้าเราต้องการดูผลลัพธ์อัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหนึ่ง หรือการประเมินเรื่องอนามัยแม่และเด็ก จะไปชี้วัดแค่โรงพยาบาลศูนย์แห่งเดียวคงไม่ได้ เพราะคนไข้คนหนึ่งอาจเริ่มต้นที่งานส่งเสริมป้องกันที่ปฐมภูมิก็เป็นได้ ซึ่งต้องประเมินภาพรวมระบบให้เชื่อมโยงเพื่อให้เห็นระบบสุขภาพทั้งหมด" 

นพ. อำพล กล่าวอีกว่า ดังนั้น หากรพ.สต.ถ่ายโอนไปแล้ว และไม่มีตรงนี้มาเสริม จะกลายเป็นต่างคนต่างพัฒนาของตัวเอง บทบาทของ สรพ. อาจต้องเป็นทั้งผู้ประเมิน และต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด  ยกตัวอย่าง หากมีการพัฒนาควรมีการทำ DATA ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด ใเห็เป็นทั้ง Smart Hospital  Smart PCU และ Smart รพ.สต. ให้เป็นเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลมาอยู่ในระบบเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม เมื่อ รพ.สต.ย้ายไปท้องถิ่นแล้ว ขอเรียนท่านปลัด อบจ.ว่า ทางตนยินดีให้ความร่วมมือในแง่ของวิชาการและในแง่การสนับสนุนเป็นเครือข่ายในการพัฒนาร่วมกัน เพราะเราก็อยากให้หน่วยปฐมภูมิที่เข็มแข็ง 

"แต่ยังมีข้อกังวล คือ กลุ่มเวชกรรมสังคม ยังทำหน้าที่ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แต่โครงสร้างของ อบจ.ไม่มีตำแหน่งของแพทย์ Fam med  (Family Medicine) ไม่มีตำแหน่งทันตแพทย์ เภสัชกร ซึ่งไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี แต่ในเรื่องการบริการเป็นเรื่องสหวิชาชีพร่วมกัน ซึ่งกังวลว่า หากเราผลิตแพทย์แฟมเมดออกไป น้องๆจะไปอยู่ที่ไหนอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องระยะยาว ซึ่งยินดีหากมีการหารือร่วมกันเพื่อวางแผนระยะยาวเรื่องนี้ ” นพ.อำพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนสาธารณสุขพื้นที่กังวลเรื่องการบริการที่จะไร้รอยต่อจริงๆหรือไม่ นพ.อำพล กล่าวว่า ขณะนี้มีการฟอร์มทีมเตรียมไว้สำหรับการถ่ายโอนที่จะมาถึงในวันที่ 1 ต.ค.2565 ซึ่งในเรื่องไร้รอยต่อจริงหรือไม่อย่างไร ส่วนนี้ไม่กังวล เพราะในพื้นที่มีการดำเนินการในพื้นที่อย่างดี ที่ผ่านมา เคยเข้าฟังนโยบายของท่านนายกฯ อบจ.สกลนคร ทราบว่า จะมีการตั้งโรงพยาบาล อบจ. และจะมีการเยี่ยมบ้านในคนไข้ติดเตียง ผู้พิการ รวมไปถึงจะมีการจัดทำระบบส่งต่อในส่วนอุบัติเหตุ งาน EMS ซึ่งระบบยังอยู่

"ปัญหา คือ ในเรื่องความเข้าใจของ อบจ. อาจยังไม่เข้าใจเนื้อหาสาธารณสุขทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกัน ส่วนสสจ. จะเป็นพี่เลี้ยงต่อหรือไม่ ยังมีคณะกรรมการขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ คิดว่าไม่น่ามีปัญหา แต่ในเรื่องของบุคลากร อย่างในส่วนของแพทย์ที่จะไปอยู่กับท้องถิ่น จะมีการจัดสรรอย่างไร ตรงนี้ยังมองภาพไม่ออก แต่คิดว่า ผู้บริหารเตรียมการแล้ว เนื่องจากถ่ายโอนแล้วประชาชนต้องได้รับการบริการที่มีคุณภาพเท่าเดิม หรือต้องมากกว่าเดิม" นพ.อำพล กล่าว

 ด้าน นายมานพ เชื้อบัณฑิต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า การประกันคุณภาพ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนมาแล้วเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในเรื่องคุณภาพการให้บริการ ถ้าใช้เกณฑ์ที่ สรพ. ก็เป็นอีกแนวทางที่คิดว่า  ทุกพื้นที่ ทุก อบจ. พร้อมให้ความร่วมมือในการใช้เกณฑ์คุณภาพ ซึ่งไม่ว่าจะจาก สรพ. หรือจากกลไกอื่นๆ 

(ข่าวเกี่ยวข้อง: สรพ.ถกข้อห่วงใยประเมินคุณภาพ "รพ.สต." หากถ่ายโอนไปท้องถิ่น 1 ต.ค. ใครดูแลต่อ..)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.or