กรมการแผนแพทย์ไทยและการแพทย์ทางเลือก เตรียมส่งแพลตฟอร์ม “อาหารไทยเป็นยา” ใช้ AI ชูจุดแข็งสมุนไพรไทย เตรียมส่ง “จันทบุรี” เสนอยูเนสโกเดินตามรอยเมืองเพชรฯ
นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่า การที่ทางองค์การยูเนสโกกำหนดโครงการเพื่อให้เมืองต่างๆได้มีการพัฒนาและการนำเสนอตัวภูมิปัญญาหรือ องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวัฒนธรรมทางด้านอาหารซึ่งในประเทศไทยเรื่องอาหารไทยเป็นอาหารที่ได้รับ ความยอมรับจากนานาชาติ นักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยจะถามหาเมนูอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบ และยอมรับเพราะว่ารสชาติอร่อยมีคุณค่าและประโยชน์ทางด้านโภชนาการและราคาถูก จากความนิยมจึงนำเอาสมุนไพรและเครื่องเทศเข้าไปเพิ่มคุณค่าหรือเพิ่มมูลค่าของตัวอาหารที่มีความนิยม
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทำงานร่วมกับจังหวัดได้ลองคัดเลือกอาหารจากเมนู ท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกโครงการอาหารไทย อาหารเป็นยา เช่น จังหวัดจันทบุรี โครงการสุขภาพดีด้วยสมุนไพร ต่อยอดด้วยเรื่องอาหารที่มีการนำสมุนไพรเครื่องเทศผสมในอาหาร กำลัง ดำเนินการเสนอองค์การยูเนสโกพิจารณาให้เป็นเมืองวัฒนธรรมทางด้านอาหารเหมือนกับจังหวัดเพชรบุรี ขณะนี้ทางกรม รับสมัครพื้นที่จังหวัดต่างๆทั่วประเทศเข้ามาร่วมในโครงการอาหารไทย อาหารเป็นยา เริ่มต้น ระยะแรกใช้เมืองสมุนไพรซึ่งมีอยู่ 14 จังหวัด ปรากฎว่ามีจังหวัดสมัครเพิ่มเติมเป็น 18 จังหวัดคาดว่าจะขยายต่อไปทั้ง 76 จังหวัด
โดยหลักการพิจารณามาจากเรื่องอาหารปลอดภัยของกรมอนามัย Clean Food Good Taste จะเน้นเกณฑ์ความสะอาดของสถานที่ ภาชนะอุปกรณ์ บุคลากร และจะนำเรื่องสมุนไพร เครื่องเทศเข้าไปต่อยอด ทั้งนี้ ร้านอาหารที่ได้มาตรฐานขั้นต้นต้องยึดเรื่องความสะอาด ความปลอดภัยของอาหารเป็นเกณฑ์มาตรฐาน เบื้องต้นและต่อเนื่องด้วยการพัฒนาเมนูอาหารที่มีสมุนไพรเครื่องเทศในเรื่องของอาหารไทยอาหารเป็นยา เน้นที่ผู้ประกอบหรือผู้ปรุงอาหารมีความรู้สามารถระบุได้ว่าสมุนไพรที่นำไปผสมในเมนูมีสรรพคุณทางยาด้านใด
ทางกรม จะมีข้อแนะนำให้ผู้ประกอบการมีความรู้เกี่ยวกับการนำสมุนไพรเครื่องเทศมาใช้ให้เกิดสรรพคุณหรือประโยชน์ในการดูแลสุขภาพพร้อมกับจัดทำชุดการเรียนรู้ด้วยตัวเองให้กับบรรดาเชฟหรือผู้ประกอบการ เป็นสื่อความรู้ความเข้าใจ
นพ.ขวัญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสมุนไพร รวมทั้งกัญชา กัญชง หากนำมาประกอบอาหาร เครื่องดื่ม สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพเพาะปลูกสมุนไพรเครื่องเทศต่างๆ มีแหล่งไปส่งขายกับผู้ประกอบการร้านอาหาร รวมถึงการสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ เป็นการเพิ่มมูลค่าของอาหาร แต่ละจานให้เป็นที่น่าจดจำทั้งรสชาติและความเป็นมา อย่างไรก็ตามไม่ว่าผู้ประกอบการจะนำสมุนไพรมาปรับใช้กับอาหาร เครื่องดื่ม เพื่อให้เกิดประโยชน์กับร่างกายแล้วยังต้องคงรสชาติอาหารที่กลมกล่อมอร่อยถูกปาก
“ขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กำลังนำเรื่องของ Social Media สื่อออนไลน์เข้าไปเสริม เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่มาช่วยเผยแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ด้วย พร้อมดำเนินการระบบ Application AI นำมาใช้กับเรื่องของอาหารโดยจะทำเป็นโมบายแอพพลิเคชั่น ประมวลข้อมูลเบื้องต้นจากแบบสำรวจเพื่อการวินิจฉัยและระบบส่งข้อมูลของร้านอาหารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการแพทย์ แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้เลือกเมนูที่ตามแอพพลิเคชั่นแนะนำ ซึ่งคาดการณ์ว่าประมาณปี 2566 จะสำเร็จ นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวปิดท้าย
สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถร่วมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติฯ ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 6-10 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองานี ฮอล์11-12 พบกับกิจกรรมต่างๆ อาทิ โซนจัดแสดงสินค้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยที่มีมาตรฐาน การแจกต้นพันธุ์สมุนไพรหายาก ตลาดนัดความรู้ เป็นต้น สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก โทร. 0-2149-5649, Facebook Fanpage มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ หรือ Website:https://natherbexpo.dtam.moph.go.th
ข่าวเกี่ยวข้อง : อภัยภูเบศรชูเมนูอาหารพืชผัก 9 ชนิด "พรีไบโอติกส์" สูง หวังขับเคลื่อนเป็น Soft Power
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 797 views