ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สมศักดิ์” มอบ กยผ. ศึกษาผลการรณรงค์คนไทยสุขภาพดี ลดโรคจากอาหารเป็นยา ดึง “อสม.” เป็นกำลังสำคัญให้ความรู้ปชช.  หากสามารถลดค่ารักษาพยาบาลที่สูงถึงปีละ 1.4 แสนล้านบาท งบที่ประหยัดได้อาจใช้เป็นกองทุนสร้างขวัญกำลังใจอาสาสมัครสาธารณสุข หรือกรมอนามัย ไม่ได้จำกัดกองทุนใดพิเศษ  ตอบกลับหลังบุคลากรสธ.มองให้ความสำคัญ อสม. เยอะกว่าสายงานอื่นๆ ชี้ไม่ใช่ เพราะอสม.ได้ค่าป่วยการน้อย ส่วนเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดกว่า 3.9 พันล้าน เสนอครม.แล้ว แต่ยังไม่ได้

 

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานเปิดตลาดนัดสุขภาพ “จากเมนูชูสุขภาพ สู่อาหารเป็นยา” พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

นายสมศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดตลาดนัดสุขภาพ ว่า  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายด้านสุขภาพ ด้วยการขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้องกับงานส่งเสริมสุขภาพ โภชนาการ สุขาภิบาลอาหารและน้ำ และอาหารเป็นยา ในหลายหน่วยงาน เพื่อการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีของคนไทยให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีสุขภาพดี และเห็นถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีของบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข และประชาชน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เปิดตลาดนัดสุขภาพ “จาก เมนูชูสุขภาพ สู่ อาหารเป็นยา” หมายความว่า ทานอาหารแล้วไม่ป่วย ต้องรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยเน้นอาหารไทย สมุนไพรไทย ลดโรค

“อสม.ถือเป็นกำลังสำคัญ เป็นหน่วยงานด่านหน้าในการรณรงค์ให้ชาวบ้านสุขภาพแข็งแรง ลดการเจ็บไข้ได้ป่วย เงินที่ประหยัดจากการรักษา ซึ่งสปสช.จ่ายเงินตรงนี้ราวปีละ  1.4 แสนกว่าล้านบาท หากลดการจ่ายเงินตรงนี้ได้ โดยท่านปลัดสธ.กำลังติดตามกองยุทธศาสตร์และแผนงาน(กยผ.) สำนักงานปลัดฯ ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งจะเป็นหน้าที่ อสม.ไปรณรงค์ โดยเงินที่ประหยัดตรงนี้อาจวนกลับมาช่วยเป็นกองทุนอะไรได้บ้าง ให้แก่ อสม. กำลังวางแผนกันอยู่” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  สิ่งสำคัญ อสม.ต้องเข้าใจความรู้การกินเพื่อสุขภาพ อาหารเป็นยา ก่อนจะไปรณรงค์ให้ประชาชนทราบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังศึกษาว่า การทำแบบนี้จะลดค่าใช้จ่ายลงเท่าไหร่ โดย กยผ.กำลังทำการศึกษาเรื่องนี้ ว่า อาหารเป็นยา อาหารไทย สมุนไพรไทย ช่วยสุขภาพแข็งแรง ลดโรคและจะลดค่าใช้จ่ายอย่างไร

เมื่อถามว่า รายได้ที่ประหยัดจากด้านนี้ กำลังพิจารณาว่า จะเอาไปเป็นกองทุน อสม. หรือกองทุนกรมอนามัย ได้หรือไม่ ไม่ใช่เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นกองกลางเหลืออยู่จาก สปสช. อย่างที่ผ่านมาใช้เงินฟอกไต 1.6 หมื่นล้าน หากการกินอาหารสุขภาพลดเสี่ยงเกิดโรค ลดการฟอกไต  ก็เอามาใช้ประโยชน์ แต่ต้องไปดูระเบียบก่อนว่า ทำได้หรือไม่ ซึ่ง กยผ.กำลังศึกษา

เมื่อถามว่ามีโอกาสนำเรื่องเงินกองทุนช่วยอสม. เข้าไปในร่างพ.ร.บ.อสม.ที่กำลังทำหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าใช้ได้ก็ใช้ หากมีช่องทางสามารถจ่ายได้ก็ต้องทำ หรือว่าค่าป่วยการที่ยังน้อยอยู่ หากทำได้ก็ต้องทำ ก็ต้องไปดูระเบียบ

ถามต่อกรณีร่างพ.ร.บ.อสม. จะไม่มีเรื่องกำหนดอายุเกษียณ 70 ปีใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ตนไม่ได้ติดใจ เพราะตอนนี้ค่าป่วยการก็ได้น้อย จึงไม่ควรห้ามอะไร แต่หากวันข้างหน้า มีกองทุน โดยอสม.พัฒนาเป็นผู้ช่วยพยาบาลมากขึ้นก็ปรับเปลี่ยนได้ สามารถออกเป็นกฎกระทรวงทีหลังได้

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า บุคลากรน้อยใจว่านโยบายส่วนใหญ่ไปที่ อสม. ได้มากกว่าบุคลากรอื่นๆ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า อสม.ได้เยอะอะไร ได้ค่าป่วยการแค่ 2 พันบาทต่อเดือน ได้น้อยมาก นี่เป็นการให้ขวัญกำลังใจ จะได้มีแรงทำงาน ตอนนี้ค่ายาสูงมากถ้าลดตรงนี้ได้ก็ดี นี่คือความท้าทาย

เมื่อถามถึงค่าเสี่ยงภัยโควิด นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เสนอครม.ไปนานแล้วกว่า 3.9 พันล้านบาท แต่ยังไม่ได้เลย

 

สำหรับตลาดนัดสุขภาพ จัดขึ้นภายในบริเวณอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เป็นตลาดต้นแบบในการสร้างสิ่งแวดล้อมด้านสุขภาพที่เอื้อต่อการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดี ผ่านการบริโภคอาหารที่ดี มีคุณค่า สะอาด ปลอดภัย ป้องกันและบรรเทาโรคได้อย่างมีประสิทธิผล โดยตลาดจะเปิดขายทุกวันพุธ โดยเริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป  

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2566 พบว่า ประเทศไทยมีการบริโภคน้ำตาลทรายสูงถึง 1.7 ล้านตัน หรือประมาณ 18 ช้อนชาต่อวัน ซึ่งเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ
ไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และจากข้อมูลสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยบริโภคเกลือโซเดียมมากถึง 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกณฑ์องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าไม่ควรบริโภคเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน

สำหรับภาวะสุขภาพของคนวัยทำงาน ด้านภาวะอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในประเทศไทย ปี 2562 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด 17.9 ล้านคน รองลงมาคือ โรคมะเร็ง 9.0 ล้านคน และโรคเบาหวาน 1.6 ล้านคน ซึ่งสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโรคดังกล่าว ได้แก่การบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการบริโภคอาหาร หวาน มัน เค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนด และหนึ่งในมาตรการในการแก้ปัญหานี้คือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการมีแหล่งจับจ่ายซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีความครอบคลุม และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย