เปิดข้อมูลโอมิครอน " BA.4 - BA.5"   แนวโน้มมากขึ้น แบ่งเป็นผู้เดินทางตปท. 78.3% ในประเทศ 50.3%  คาดการณ์อีกไม่นานครองตลาดในไทย  เมื่อแยกสัดส่วนติดเชื้อภาพรวมจำนวน 173 ราย เป็น BA.4 - BA.5 อยู่ที่  35.8%  ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ 44 ราย ติด BA.4 - BA.5 ราว 29.5% ไม่ถือว่ามากกว่ากลุ่มอื่น ส่วนกลุ่มอาการรุนแรง-เสียชีวิตมี 11 ราย ติดเชื้อ 36.4% ตัวเลขยังน้อย!  ทางสถิติสรุปไม่ได้ว่า รุนแรงจากสายพันธุ์นี้ ขอความร่วมมือรพ.ส่งตัวอย่างป่วยรุนแรงเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติที่แม่นยำ 

เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 4 ก.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว การเฝ้าระวังโควิด19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5  ว่า  จากการติดตามเฝ้าระวังระบาดของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5  โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า เป็นโอมิครอน 100%  ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจด้วย SNP ทั้งหมด 948 ราย มีพบว่าเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 447 ราย ส่วน  BA.4  และ BA.5 เราไม่ได้แยกเพราะเป็นการตรวจชั้นต้น มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกัน ซึ่งตรวจรวมกันพบว่ามี 489 ราย  ทั้งนี้  เมื่อแบ่งกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศจำนวน 46 ตัวอย่าง พบว่า เป็นBA.4 และ BA.5   ประมาณ 78.3%  ส่วนกลุ่มในประเทศมี 900 ตัวอย่าง ตรวจพบ BA.4 และ BA.5  50.3%

"หากพิจารณาตามรายสัปดาห์เริ่มต้นจากประมาณ 6% กว่าๆ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว มาเป็น 44.3% และมาเป็น 51.7% ภาพรวมของทุกกลุ่ม ซึ่งมีแนวโน้มขึ้น หากเป็นแบบนี้ก็คาดการณ์ได้ว่า อีกไม่นานสายพันธุ์  BA.4 และ BA.5   จะครองตลาดส่วนใหญ่ของการติดเชื้อในประเทศไทย ทั้งนี้พบเกือบครบทุกเขตสุขภาพ เว้นเขตสุขภาพ 3 , 8 และ 10 แต่คิดว่าก็มีกลุ่มตัวอย่างเช่นกัน เพียงแต่เป็นการสุ่มตรวจ อย่างไรก็ตาม มากที่สุดยังเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากกรุงเทพฯ เป็นเปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ภาพรวมประเทศก็เป็นเช่นนั้น" นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้  การตรวจชั้นต้นได้ผล 1 วันแล้ว ยังนำจำนวนตัวอย่างบางส่วนมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรประมาณ 1 สัปดาห์ บางส่วนอาจซ้ำกัน ดังนั้น BA.4 และ BA.5  ในไทยมีประมาณ 1,000 ราย แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้มีความหมาย เพราะต้องดูสัดส่วนคนติดเชื้อทั้งหมด หากสัดส่วนเยอะกว่าอีกสายพันธุ์หนึ่งก็แสดงว่าแพร่เร็วกว่า

เมื่อวิเคราะห์ตามกลุ่มต่างๆช่วงวันที่ 25 มิ.ย.- 1 ก.ค. 65   เป็นข้อมูลที่น่าสนใจแต่ต้องติดตามต่อ โดยพบว่า 173 รายในภาพรวมมี BA.4 และ BA.5  35.8% ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ มี 44 รายพบ BA.4 และ BA.5  ประมาณ 29.5% ซึ่งแสดงว่าสายพันธุ์กลุ่มนี้ไม่ได้เกิดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มากกว่ากลุ่มอื่น ส่วมกลุ่มที่มีค่า ct น้อยๆ คือ เชื้อเยอะๆ มี19 ราย พบเป็นสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5   36.8%   ส่วนกลุ่มที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ได้ตัวอย่างมาเพียง 11 ราย พบสัดส่วนสายพันธุ์นี้ 36.4% ไม่ได้แตกต่างกันมาก 

"เบื้องต้นข้อมูล ณ วันนี้ ยังไม่พบความรุนแรงจากสายพันธุ์BA.4 และ BA.5   เมื่อเทียบกับBA.1 และ BA.2 เดิมอย่างเห็นได้ชัด เพียงแต่ตัวเลข 11 รายยังต่ำเกินไป จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลที่มีคนไข้ใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบส่งตัวอย่างมาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติที่แม่นยำขึ้น" นพ.ศุภกิจ กล่าว

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ชี้รักษาผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ" พุ่งกว่า 2 แสนราย ขอให้สวมแมสก์ อย่าผ่อนคลายทั้งหมด)

โดยสรุปคือ สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5   ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นกว่า 50% และจะค่อยๆเบียดตัวเก่า เหมือนโอมิครอนเบียดเดลตา ความรุนแรงข้อมูลยังไม่มากพอ ต้องติดตามคนใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบ และเสียชีวิตมีสายพันธุ์นี้แตกต่างจากคนติดเชื้อทั่วไปหรือไม่ ดังนั้น มาตรการส่วนบุคคลยังจำเป็น ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ยังมีความจำเป็น แม้ตอนนี้จะไม่ได้บังคับกันแล้ว แต่ขอให้เป็นสุขนิสัยส่วนบุคคลที่ช่วยกันได้ อย่างข้อมูลที่ผ่านมาลองถามตัวเองว่า ใส่แมสก์มา 2 ปีเป็นหวัดน้อยลงหรือไม่ รวมทั้งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ยังมีความจำเป็นโดยเฉพาะกลุ่ม 608 และผู้ที่ได้รับเข็มสุดท้ายมนานแล้วเกินกว่า 4 เดือน

"เมื่อเรายังไม่มีวัคซีนรุ่นใหม่ๆ การฉีดเข็มกระตุ้นจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ กรมวิทย์ เคยทำการทดลองและพบว่า สามารถช่วยต่อสู้กับสายพันธุ์ใหม่ๆได้ และวันนี้กรมวิทย์ มี BA.4 และ BA.5  จะมีการเพาะเชื้อให้มีจำนวนมากพอ เพื่อนำมาทดสอบกับวัคซีนที่ฉีดไป ทั้งเข็ม 3 และ 4 ว่า สู้กับเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ข้อแนะนำคนฉีด 2 เข็มไม่พอ ส่วนคนฉีดเข็ม 3 เกิน 4 เดือน ภูมิฯตกแล้ว ต้องกระตุ้นอีก" นพ.ศุภกิจ กล่าว และว่า ที่สำคัญอย่าเพิ่งตกใจเกินกว่าเหตุ อย่างเห็นข้อมูลการไปนอนรพ.มากขึ้น อาจจากติดเชื้อมากขึ้น เพราะBA.4 และ BA.5   อาจหลบภูมิได้ และคนเคยเป็น BA.1 ก็ติดซ้ำได้ แต่สัดส่วนขอดูว่า ใช่จากสายพันธุ์นี้หรือไม่ หรือจากสัดส่วนคนติดเชื้อมากขึ้น ก็ย่อมมีคนอาการหนักเพิ่มได้

เมื่อถามว่า นอกจากสายพันธุ์BA.4 และ BA.5   ยังมีกรณีสายพันธุ์ เพราะBA.2.75 ที่พบในอินเดีย สหรัฐ และอังกฤษ เป็นสายพันธุ์น่ากังวลหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ต้องเรียนว่า  BA.2.75 หากมีปัญหามาก ทางองค์การอนามัยโลกจะจัดให้เป็น VOC-LUM แต่ตอนนี้ยังไม่จัด และการรายงานข้อมูลไปที่จีเสสก็ยังน้อยเพียง 60 กว่าตัวอย่าง ถือว่ายังน้อยเกินไป ไม่ต้องกังวลกรมวิทย์ มีการเฝ้าระวังตลอด ซึ่งไทยยังไม่มีสายพันธุ์  BA.2.75 

เมื่อถามว่าผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นและนอนรักษาในรพ. เป็นเพราะสายพันธุ์  BA.2.75  หรือไม่ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า   วันนี้เรากำลังพิสูจน์ว่า ที่แพร่เร็วขึ้น ทำให้อาการรุงแรง อาการหนักด้วยหรือไม่ เบื้องต้นยังไม่พบเช่นนั้น   

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org