กรมควบคุมโรคเผยผลใช้จริงวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น พ.ค. -  ก.ค. 65 กรณี “โอมิครอน”  BA.4/BA.5 พบบูสเตอร์เพิ่มประสิทธิผลป้องกันป่วยรุนแรง "ปอดอักเสบ-ใส่ท่อช่วยหายใจ"  จาก 60% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 83% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็ม และป้องกันการเสียชีวิตจาก 72% ใน 2 เข็ม เป็น 93% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็ม ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปป้องกันป่วยรุนแรงในคนรับครบ 3 เข็มถึง  80% ต่ำกว่ากลุ่มอายุ 18-59 ปี ที่ป้องกันได้ 89% แต่จะเพิ่มเป็น 100% เมื่อได้รับครบ 4 เข็มทั้งสองกลุ่มอายุ  

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดในปัจจุบันที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่และ ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ รวมถึงผู้เสียชีวิต เริ่มมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง ประชาชนส่วนใหญ่ มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นจากผลการให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 (ข้อมูลวันที่ 5 กันยายน 2565) มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 142,891,943 โดส มีประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็ม จำนวน 53,744,479 ราย คิดเป็น 77.3 % และฉีดเข็มที่ 3 ขึ้นไป จำนวน 31,876,008 ราย คิดเป็น 45.8%  

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ เข้าถึงการฉีดได้ง่าย จึงอยากเชิญชวนประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ให้มาฉีดเข็มกระตุ้น เพราะเมื่อฉีดวัคซีนไปสักระยะหนึ่ง ภูมิคุ้มกันจะลดลงตามธรรมชาติ การฉีดเข็มกระตุ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยลดการป่วยอาการหนักและเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากฉีดเข็มล่าสุดมากกว่า 3-4 เดือนขึ้นไป สามารถไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ คณะทำงานศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลวัคซีน กรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะทำงานวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ติดตามประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 จากการใช้จริงในประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง ผลของการใช้จริงช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 ที่เป็นการระบาดของ “โอมิครอน” สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 พบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยรุนแรง คือ อาการปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ จาก 60% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 83% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็มตามลำดับ

 
ป้องกันการเสียชีวิตจาก 72% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 93% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็มตามลำดับ สำหรับกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ป้องกันปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มได้ 80% ต่ำกว่ากลุ่มอายุ 18-59 ปี ที่ป้องกันได้ 89% แต่จะเพิ่มเป็น 100% เมื่อได้รับครบ 4 เข็มทั้งสองกลุ่มอายุ โดยการฉีดวัคซีนกระตุ้น 3 เข็มขึ้นไป จะมีประสิทธิผลในการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในระดับสูงกว่า 80% ได้นานถึง 6 เดือน 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ แม้จะฉีดเข็มกระตุ้นแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่จะไม่ป่วยหนักหรือเสียชีวิต การดำเนินงานควบคุมโรคต้องดำเนินการอย่างสมดุล ทั้งมาตรการวัคซีน ที่เร่งรัดฉีดเข็มกระตุ้นในประชากรเป้าหมายให้ครอบคลุมสูงสุด มาตรการสังคม ที่ต้องใช้ชีวิต วิถีใหม่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง และจัดการสภาวะแวดล้อมเสี่ยง และมาตรการการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ รู้สถานะการติดเชื้อเร็ว และรักษาเร็วด้วยยาที่มีประสิทธิผล หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามโรคและภัยสุขภาพสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข่าวเกี่ยวข้อง :

ครม.เห็นชอบปรับสัญญาไฟเซอร์เด็กเล็ก “6 เดือน- 5 ปี” 3 ล้านโดส นำเข้าล็อตแรก ต.ค.นี้  

สธ.เตรียมถกผู้เชี่ยวชาญหารือวัคซีนโควิดรุ่นใหม่ ต.ค.นี้ - ส่วนวัคซีนไทยคาดทยอยขึ้นทะเบียนปี 66

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org