ปลัด สธ. เผยให้ยาโมลนูพิราเวียร์ "อนุทิน" หลังติดโควิด เป็นไปตามแนวทางการให้ยาตามอาการ ด้านกรมการแพทย์ยืนยันไม่มีอภิสิทธิ์พิเศษการรักษา เหตุอาการรองนายกฯ เข้าข่ายอ้วน เป็นไปตามดุลยพินิจแพทย์
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตนได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้เปิดเผยข้อมูลการรักษากับสื่อมวลชนแล้ว สำหรับข้อมูลผู้ติดตามคนอื่นๆ ก็เป็นข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ทั้งนี้ นายอนุทิน มีอาการระคายคอเล็กน้อย ตรวจ ATK แล้วพบว่าติดเชื้อ ตรวจ RT-PCR ยืนยันแล้ว ตอนนี้ก็พักรักษาที่บ้าน โดยมีอาการน้อยมากเป็นเพราะการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งแพทย์มีดุลยพินิจให้ยาโมลนูพิราเวียร์
(ข่าวเกี่ยวข้อง : "อนุทิน" ติดโควิด หลังเดินทางกลับจากประชุมงานปารีส แยกตัว 1 สัปดาห์)
เมื่อถามว่าสำหรับเกณฑ์การให้ยาโมลนูพิราเวียร์ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ยาใช้ดูแลตามอาการ บางคนมีอาการน้อยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา หากมีอาการมากขึ้นตามเงื่อนไขก็จะจ่ายยาตามแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคโควิด(Clinical Practice Guidelines:CPGs) ซึ่งแพทย์จะประเมินอาการผู้ป่วยเพิ่งสั่งจ่ายยา เช่น ฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ หรือแพ็กซ์โลวิด
เมื่อถามถึงความเข้าใจของประชาชนที่มองว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับวัคซีนโควิด-19 มากแล้วแต่ยังติดเชื้ออยู่ ทำให้หลายคนไม่อยากฉีด นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า วัคซีนโควิดมีประโยชน์ ผลการศึกษาวัคซีนบูสเตอร์โดสพบว่า ป้องกันติดเชื้อได้ถึง 80-90% ซึ่งหมายถึง 10% ที่เหลือก็ยังติดเชื้อได้อยู่ แต่ป้องกันความรุนแรงและเสียชีวิตได้ถึง 99%
อย่างไรก็ตาม สธ.ได้เร่งรัดให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ แต่พบว่ายังมีความเชื่อที่ผิดว่าแม้ฉีดวัคซีนหลายเข็มแต่ยังติดเชื้อทำให้ไม่มารับวัคซีน แต่ต้องย้ำว่าวัคซีนเข็มกระตุ้น จะช่วยลดความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ปกติเรากระตุ้นวัคซีนปีละครั้ง แต่ด้วยโรคไม่ยอม ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงต้องกระตุ้นซัก 3 เดือน เพื่อลดความรุนแรงของโรค แต่ก็เน้นย้ำเรื่องมาตรการป้องกันตัวเอง 2U คือ universal prevention และ universal vaccination ซึ่งเป็นหลักกับการอยู่ร่วมโควิดในระยะ Post pandemic หรือเป็นระยะหลังการระบาดใหญ่
วันเดียวกัน ที่ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เกิดข้อพิพากษ์วิจารณ์ในสังคมถึงการจ่ายยาโมลนูลพิราเวียร์ ให้กับ นายอนุทิน ชาญ ที่ติดเชื้อโควิด-19 แต่มีอาการเล็กน้อย ว่า ทางกรมการแพทย์ได้ออกแนวทางเวชปฏิบัติในการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโควิด-19 (CPG) อย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการปรับปรุงแนวทางมามากกว่า 10 ครั้งแล้ว สำหรับยาโมลนูลพิราเวียร์ จะจ่ายให้กับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งพิจารณาร่วมกับปัจจัยเสี่ยง โดยไม่แนะนำให้ในผู้ป่วยที่มีอาการมากแล้ว เพราะไม่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ หาดอาการรุนแรงมากแล้วก็จะให้ยาฉีด
"ข้อมูลผู้ป่วยเป็นความลับ แต่หากประเมินด้วยสายตาทุกคนก็เห็นว่า ท่ารองนายกฯ น้ำหนักเกินเข้าข่ายว่าอ้วน และมีอาการเล็กน้อยเข้าข่ายการจ่ายยาโมลนูลพิราเวียร์ และเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์" นพ.สมศักดิ์กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าเป็นการให้ยาตามเกณฑ์ไม่ใช่เรื่องสิทธิพิเศษหรือไม่ นพ.สมศักดิ์กล่าวยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งสามารถเข้าไปดูตามเกณฑ์การให้ยาของกรมการแพทย์ได้ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีความเสี่ยงและอาการน้อยมากเราก็จะจ่ายเป็นยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากอาการเล็กน้อยแต่มีปัจจัยเสี่ยง อย่างกรณีของท่านรองนายกฯ ที่มีปัจจัยเรื่องน้ำหนัก ซึ่งแพทย์ที่ดูแลก็ประเมินแล้วว่าเข้าข่ายได้ยาโมลนูลพิราเวียร์
เมื่อถามถึงเกณฑ์ความจำเป็นการใช้ยา นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากไม่มีอาการอะไรเลยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง ก็จ่ายยาตามอาการ หรือยาฟ้าทะลายโจร หากเริ่มมีอาการเล็กน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคประจำตัว โรคอ้วน ก็จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และหากอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคอ้วน หรือเป็นกลุ่ม 608 ก็จะให้ยาต้านไวรัส เช่น ยาโมนูลพิราเวียร์ แพ็กซ์โลวิด และกรณีที่เชื้อลงปอดแล้ว ก็จะพิจารณาให้ยาฉีดร่วมกับยาสเตียรอยด์บางตัว
"กรณีของท่านรองนายกฯ ยืนยันอีกครั้งว่าคุณหมอที่ดูแลประเมินแล้วว่าเข้าข่ายให้ยาโมลนูลพิราเวียร์ ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์อะไรเป็นพิเศษ" นพ.สมศักดิ์กล่าว
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 10860 views