เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2565 สำนักข่าว AP รายงานว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกประชุมคณะกรรมการฉุกเฉินในวันนั้น เพื่อพิจารณาว่าการระบาดของโรคฝีดาษวานรที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ว่าควรได้รับการประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทั่วโลกหรือไม่  ซึ่งการประกาศว่าโรคฝีดาษวานรเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลกจะหมายความว่าการระบาดนั้นเป็น "เหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดา" (extraordinary event) และโรคนี้มีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายข้ามพรมแดนมากยิ่งขึ้นซึ่งอาจต้องได้รับการตอบสนองจากทั่วโลก (1)

          ขณะที่โลกรอการตัดสินใจของ WHO อยู่นั้น อีกองค์กรหนึ่งคือเครือข่ายอนามัยโลก (WHN) องค์กรอิสระที่เป็นการรวมตัวกันของนักวิทยาศาสตร์เพื่อร้วมกันปกป้องสุขภาพของชุมชนโลก ประกาศในเวลาไล่ๆ กัน (22- 23 มิถุนายน 2565) ว่า การระบาดของฝีดาษวานรในปัจจุบันเป็นโรคระบาดใหญ่ (pandemic)  เนื่องจากขณะนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน 3,417 รายใน 58 ประเทศ (จากข้อมูลในขณะนั้น) และการระบาดกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายทวีป "การระบาดจะไม่หยุดลงหากปราศจากการดำเนินการทั่วโลกร่วมกัน แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่าไข้ทรพิษมาก เว้นแต่จะมีการดำเนินการเพื่อหยุดการแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง—การลงมือกระทำที่สามารถนำไปใช้ได้จริง—ผู้คนหลายล้านจะเสียชีวิตและอีกหลายคนจะตาบอดและพิการ" (2)

          WHN ระบุว่าจุดประสงค์ที่สำคัญในการประกาศการระบาดใหญ่คือเพื่อบรรลุความพยายามร่วมกันในหลายประเทศหรือทั่วโลก เพื่อป้องกันอันตรายในวงกว้าง ซึ่งคำจำกัดความของการระบาดใหญ่คือโรคติดเชื้อที่เติบโตในวงกว้าง ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ และมักจะส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก WHN ชี้ว่าการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในหลายทวีป และความจำเป็นในการดำเนินการร่วมกันเพื่อหยุดยั้ง เป็นไปตามทั้งเกณฑ์และวัตถุประสงค์ที่จำเป็นสำหรับการประกาศการระบาดใหญ่ จำเป็นต้องมีการดำเนินการทั่วโลกร่วมกัน

          “ไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะรอให้การระบาดของโรคฝีดาษวานรเพิ่มขึ้นอีก เวลาที่ดีที่สุดในการแสดงให้เห็นคือ ณ เวลานี้ การดำเนินการทันทีทำให้เราสามารถควบคุมการระบาดได้โดยใช้ความพยายามน้อยที่สุด และป้องกันไม่ให้ผลที่ตามมาแย่ลงไปอีก การดำเนินการที่จำเป็นในตอนนี้ต้องการเพียงการสื่อสารสาธารณะที่ชัดเจนเกี่ยวกับอาการ การทดสอบที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย และการติดตามผู้สัมผัสโดยมีการกักกันน้อยมาก ความล่าช้าใด ๆ จะทำให้ความพยายามหนักขึ้นและผลที่ตามมาจะรุนแรงขึ้น” ยาเนียร์-บาร์-ยัม (Yaneer Bar-Yam, PhD) ประธาน New England Complex System Institute และผู้ร่วมก่อตั้ง WHN กล่าว (2)

          ในขณะที่ เอริก-ไฟเกิล-ดิง (Eric Feigl-Ding, PhD) นักระบาดวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ด้านสุขภาพ และผู้ร่วมก่อตั้ง WHN กล่าวว่าองค์การอนามัยโลกจำเป็นต้องประกาศ "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วน" (PHEIC) และชี้่ว่ามีบทเรียนของการไม่ประกาศ PHEIC ทันทีในต้นเดือนมกราคม 2563 ช่วงที่เริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 "ควรจะจำไว้เป็นบทเรียนประวัติศาสตร์ว่าการรับมือการแพร่ระบาดช้าอาจมีความหมายต่อโลกอย่างไร” (2)

          “ในช่วง 18 เดือนแรกของการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 แสดงให้เราเห็นว่าการหยุดไวรัสเป็นกลยุทธ์ที่คุ้มต้นทุนซึ่งสอดคล้องกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ โรคฝีดาษวานรหยุดยั้งได้ง่ายกว่ามาก สิ่งนี้จะช่วยให้มองเห็น (สถานการณ์) ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ธุรกิจต่างๆ สามารถคาดการณ์สังคมและเศรษฐกิจของตนได้ในอนาคต” เซซีล ฟิลลิปส์ (Cecile Phillips) นักเศรษฐศาสตร์และประธาน l’Institut économique Molinari กล่าว (2)

          กล่าวโดยสรุปก็คือ WHN เรียกร้องให้ WHO และองค์กรควบคุมโรค (CDC) ระดับชาติดำเนินการทันทีเพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรคฝีกดาษวานร การดำเนินการในช่วงต้นจะมีผลมากกว่าและมีการแทรกแซงที่ไม่ใหญ่นัก ซึ่งหากดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพในขณะนี้ การแทรกแซงที่ใหญ่และทำให้สังคมต้องสะดุดมากขึ้นก็ไม่จำเป็น หน่วยงานด้านสุขภาพและรัฐบาลควรเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตในการตอบโต้การระบาดที่ล่าช้า "ยิ่งเราล่าช้ามากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่มันจะควบคุมไม่ได้มากขึ้นเท่านั้น" (2)

          อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ซึ่ง WHO ได้ผลสรุปของการประชุมแล้ว WHO ประกาศว่าการระบาดของโรคฝีดาษวานร "ไม่ได้ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC)" อย่างไรก็ตาม "คณะกรรมการรับทราบอย่างเป็นเอกฉันท์ถึงลักษณะฉุกเฉินของเหตุการณ์ และการควบคุมการแพร่กระจายของการระบาดต่อไปจำเป็นต้องมีความพยายามในการตอบสนองอย่างเข้มข้น คณะกรรมการแนะนำว่าควรมีการติดตามและตรวจสอบเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดหลังจากผ่านไปสองสามสัปดาห์ เมื่อมีข้อมูลอีกครั้งเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ทราบในปัจจุบัน เพื่อพิจารณาว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่อาจรับประกันว่าจะมีการพิจารณาคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ใหม่หรือไม่" (3)

          จะเห็นได้ว่าท่าทีของ WHO ยังไม่ร้อนรนเท่ากับ WHN หรือเรียกได้ว่าตรงกันข้ามแบบหน้ามือเป็นหลังมือ โดย WHO ยอมรับว่ามันมี "ลักษณะฉุกเฉิน" และ "ในขณะที่สมาชิกบางส่วนแสดงความคิดเห็นต่างกัน คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้แนะนำผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ว่าในขั้นตอนนี้ การระบาดควรได้รับการพิจารณาว่าไม่ถือเป็น PHEIC" (3)

          ขณะที่ เตโวโดรส อัดฮาโนม (Tedros Adhanom Ghebreyesus) กล่าวในแถลงการณ์ต่างหากว่า "ผมรู้สึกกังวลอย่างยิ่งกับการแพร่กระจายของฝีดาษในลิง ซึ่งขณะนี้มีการตรวจพบในกว่า 50 ประเทศทั่วห้าภูมิภาคของ WHO โดยมีผู้ป่วย 3,000 รายตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม คณะกรรมการเหตุฉุกเฉินแสดงความกังวลอย่างจริงจังเกี่ยวกับขนาดและความเร็วของการระบาดในปัจจุบัน โดยระบุสิ่งที่ไม่ทราบจำนวนมาก ช่องว่างในข้อมูลปัจจุบัน และจัดทำรายงานฉันทามติที่สะท้อนความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างคณะกรรมการ" (4)

          ทว่า "โดยรวมแล้วในรายงาน พวกเขาแนะนำว่าขณะนี้เหตุการณ์ไม่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการแจ้งเตือนที่ WHO สามารถออกได้ แต่ยอมรับว่าการประชุมของคณะกรรมการเองนั้นสะท้อนถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้น เกี่ยวกับการแพร่กระจายของโรคฝีดาษาลิงระหว่างประเทศ พวกเขาแสดงความพร้อมที่จะประชุมใหม่ตามความเหมาะสม" (4)

          ท่าทีของ WHO ดูเหมือนจะยังก้ำกึ่ง ส่วนหนึ่งเพราะข้อมูลยังไม่ชัดเจน ส่วนผู้อำนวยการของ WHO นั้นมีแถลงการณ์ที่ออกมาคนรูปเลยทีเดียวจนเหมือนกับว่า WHO กำลังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าควรจะทำให้มันเป็นสถานการณ์ที่ชวนให้ตื่นตระหนก หรือจะให้ถ้อยคำในแบบที่ทำให้โลกไม่ต้องกังวลกับมันดี

          นอกจากความสับสนทั้งภายใน WHO  และระหว่าง WHO กับผู้เชี่ยวชาญภายนอกองค์การเช่น WHN ยังมีผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า การตัดสินใจของ WHO ที่จะดำเนินการหลังจากที่โรคได้แพร่กระจายไปยังประเทศตะวันตกแล้วเท่านั้น สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจนที่เพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส (1) นั่นคือการชี้ว่าโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นในประเทศยากจนในแอฟริกามานาน แต่ดูเหมือนว่าประชาคมโลกจะเอาใจใส่กับมันน้อยมาก แต่พอโรคนี้กระจายไปยังชาติตะวันตก องค์กรระดับโลกถึงกระตือรือร้นขึ้นมา

          พูดง่ายๆ ก็คือจะขยับต่อเมื่อประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยเริ่มเดือดร้อนนั่นเอง

 

อ้างอิง

1. Cheng, Maria. (June 23, 2022). "WHO considers declaring monkeypox a global health emergency". AP.

2. "World Health Network declares Monkeypox a pandemic". (June 22, 2022). WHN.

3. "Meeting of the International Health Regulations (2005) Emergency Committee regarding the multi-country monkeypox outbreak". (June 25, 2022). WHO.

4. "WHO Director-General's statement on the report of the Meeting of the International Health Regulations (2005) Emergency Committee regarding the multi-country monkeypox outbreak". (June 25, 2022). WHO.