นพ.บัญชา ค้าของ ที่ปรึกษาพิเศษนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.)และที่ปรึกษาผู้ว่าราชการภูเก็ต เปิดเผยว่า การถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ซึ่งจังหวัดภูเก็ตมีทั้งสิ้น 21 รพ.สต. ได้เตรียมแนวทางการพัฒนาเป็นโรงพยาบาลออนไลน์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มของจังหวัดที่กำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมายทำเป็นโรงพยาบาลประจำตัวบุคคล เน้นส่งเสริมสุขภาพทั้งสิ้น 1 ล้านห้อง รองรับทั้งชาวไทยและต่างประเทศในเฟสแรก เพื่อให้คนเข้าถึงข้อมูล ความรู้ สิทธิสวัสดิการ ข่าวสารแจ้งเตือนผ่านระบบ Digital Platform ของอบจ.
“ด้วยระบบนี้ประชาชนสามารถประเมินตัวเองได้ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลหรือปรับพฤติกรรมอย่างไร คัดกรองตัวเองว่ามีความเสี่ยงอะไร และปรับพฤติกรรมเพื่อดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย กินอาหารสุขภาพ ปรับอารมณ์ สร้างความสัมพันธ์และความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว นี่คือคำตอบทั้งหมดในพาร์ทแรกเรื่องสุขภาพส่วนบุคคล”นพ.บัญชากล่าว
ที่ปรึกษานายกอบจ.ภูเก็ตกล่าวอีกว่านอกจากรพ.ออนไลน์แล้ว ยังมีการจัดตั้งสถานีสุขภาพบริการด้วยดิจิทัล หรือ Digital Health Post ประจำหมู่บ้านหรือชุมชน ทั้งหมด 157 แห่งทั่วภูเก็ต เปรียบเสมือนสถานีอนามัยประจำหมู่บ้าน โดยประชาชนสามารถเข้าไปสแกนหน้าหรือลงทะเบียนด้วยระบบอิเล็กทรอนิก เพื่อวัดความดัน เบาหวาน ไขมัน โรคประจำตัวต่างๆ ด้วยระบบ IoT (Internet of Things – การเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลถึงกันได้ด้วยอินเตอร์เน็ต) เชื่อมกับเอไอ หากตรวจพบว่ามีระดับความดัน เบาหวานอยู่ในระดับที่เสี่ยงแล้ว จะมีระบบ Telemedicine พบกับแพทย์ หากมีการสั่งยาก็มีตู้จ่ายยาอัตโนมัติโดยไม่ต้องเดินทางไปแออัดกันที่โรงพยาบาลทั้งหมด ผู้สูงอายุหรือคนที่ใช้เทคโนโลยีไม่คล่อง จะมีอาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่ในชุมชนเข้ามาช่วยบริการเป็น Digital Volunteer เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้
“หากสามารถยกระดับสถานีสุขภาพหมู่บ้านหรือรพ.สต.ให้มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์และได้มาตรฐาน ประชาชนก็อยากใช้บริการใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางมาแออัดในรพ.ใหญ่ แปลว่าแพทย์ของรพ.วชิระภูเก็ต จะเชื่อมโยงกับการดูแลรักษาระบบ Telemedicine รพ.อำเภอ และแพทย์ที่รพ.สต. อนาคตมาตรฐานของวชิระภูเก็ตจะไม่มีแค่ที่เดียว แต่จะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งภูเก็ต โดยการเชิญรพ.วชิระภูเก็ตมากำกับกระบวนการ Telemedicine หรือมีแพทย์มาประจำที่รพ.สต.”นพ.บัญชากล่าว
- 1046 views