รองนายกฯ และรมว.สธ. แจงชัด! สธ.ออกประกาศกระทรวงฯ คุมใช้ "กัญชา"ไม่เหมาะสม ทั้งกรมอนามัยออกประกาศกำหนดกลิ่นและควันกัญชาเป็นเหตุรำคาญ และประกาศข้อกำหนดการนำใบกัญชาปรุงอาหาร รวมไปถึงร่าง พรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยว่าด้วยกัญชากัญชง กำหนดคนอายุต่ำกว่า 20 ปี ทั้งนักเรียนนักศึกษาใช้ไม่ได้ เว้นมีแพทย์แนะนำ
เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 16 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการควบคุม กำกับการใช้กัญชาอย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อสุขภาพ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ว่า กรมอนามัยได้ออกประกาศกระทรวงฯ เพื่อกำหนดให้กลิ่นและควันกัญชาเป็นเหตุรำคาญ และได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565
นายอนุทินกล่าวว่า แต่เพื่อความมั่นใจของประชาชน วันนี้ตนจะพิจารณาลงนามในประกาศสมุนไพรควบคุม(กัญชา) อาศัยความพ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย เพื่อคุ้มครองผู้อายุต่ำกว่า 20 ปี เด็ก เยาวชนและหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้น้ำบุตร ดังต่อไปนี้ 1.ให้กัญชาที่เป็นพืชตระกูลแคนนาบิส(Cannabis) เป็นสมุนไพรควบคุม 2.ให้ผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปสามารถใช้ประโยชน์กัญชาได้ ยกเว้นการใช้ประโยชน์ดังต่อไปนี้ การใช้ในที่สาธารณะและใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร 3.ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหอมพื้นบ้านตามกฎหมายการแพทย์แผนไทย สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาในการบำบัดรักษาผู้ป่วยของตน และ 4.ให้ประกาศมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา
"ขอย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ว่าด้วยพืชกัญชากัญชง ซึ่งการนำมาใช้ประโยชน์จะครอบคลุมทุกอย่าง จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป ส่วนคนอายุต่ำกว่า 20 ปีซึ่งรวมถึงวัยนักศึกษาไม่สามารถเข้าถึงพืชกัญชาได้หากไม่มีแพทย์ให้คำแนะนำ ประกาศนี้ก็ถือว่าครอบจักรวาลแล้ว " นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น ยังกำหนดว่าห้ามใช้พืชกัญชามาในการสูบเสพในที่สาธารณะ ซึ่งจะสอดคล้องกับประกาศเรื่องของกลิ่นควันที่เป็นเหตุรำคาญด้วย ซึ่งการตั้งกฎหมายจะมีบทลงโทษและการตักเตือนแล้วแต่ความควรแก่เหตุที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า สธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงมีการใช้กฎหมายควบคุมให้เกิดประโยชน์ที่สุด โดยมอบอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด อปท. อบต. หรือส่วนราชการใดๆ สามารถบังคับใช้กฎหมายในขอบเขตประกาศกระทรวงฯ เรื่องการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2565
นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับร้านอาหารที่ใช้กัญชาเป็นส่วนผสม ทางกรมอนามัยก็ออกประกาศว่าจะต้องติดป้ายและคำเตือน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจรับบริการ ซึ่งการประกอบอาหารไม่ได้ใช้สารสกัดกัญชา แต่ใช้ส่วนของใบใส่ในอาหารซึ่งไม่เกิดปัญหาแน่นอน เพราะไม่มีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ส่วนช่อดอกต้มในอาหารก็ใส่ปริมาณพอควร ถ้าร้านบอกว่าใส่ช่อดอกเกินปริมาณ เราก็อย่าไปกิน
เมื่อถามว่าเราไม่ได้ควบคุมช่อดอกใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ได้ห้าม แต่ห้ามสารสกัด จะนำไปใช้ก็ใช้อย่างพอเหมาะ ร้านใดที่ใช้เกินปริมาณก็จะมีโทษด้วย ร้านอาหารเองก็ต้องติดป้ายแจ้งให้ลูกค้าทราบ วิเคราะห์ปริมาณกัญชาที่จะใช้ในอาหาร เช่น ช่อดอกก็ไม่ควรเกิน 1-2 ดอกในหม้อต้ม
เมื่อถามถึงการต้มช่อดอกจะเข้าข่ายการสกัดด้วยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีปัญหาในการใช้ แต่ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการเสพสูบ นำสารสกัดกัญชาไปใช้มากเกินไป แต่การนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต้องมีการขออนุญาตจากอย.อยู่แล้ว ซึ่งต้องเน้นย้ำว่า ร้านอาหารจะต้องห้ามใส่เกินปริมาณ
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในตัวกฎหมายหลักจะมีระบุเรื่องปริมาณสาร THC เกินกำหนดไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว ซึ่งจะทราบได้อย่างไรว่าเกิน เราดำเนินการ 2 อย่าง คือ 1.กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบ พนักงานต้องผ่านการอบรม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสัดส่วนอาหารที่รับประทาน อย่างคำแนะนำหากกินหมดทั้งจาน ก็ไม่ควรกินเกินวันละ 2 เมนู และส่งเสริมให้กินหลากหลายครบหมู่อาหาร เพื่อไม่ให้ปริมาณสารเกิน 2.ควบคุมที่ร้านให้ติดป้ายและคำเตือนแจ้งประชาชน พร้อมแสดงเมนูที่ผสมกัญชา ทั้งนี้ ทางสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารก็ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 469 views