จากกรณีแพทยสภาจัดทำ (ร่าง) ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวย พ.ศ. ... ซึ่งเนื้อหาในข้อบังคับฯ เน้นรับรอง “หลักสูตรการอบรมระยะสั้นที่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล” ซึ่งอาจมีโอกาสทำให้เกิดผลแทรกซ้อนกับผู้บริโภคได้ และจะกลายเป็นภาระต่อระบบบริการสาธารณสุขนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นต่ามรัฐธรรมนูญได้จัดเสวนา “หลักสูตรศัลยกรรมเสริมความงามห้องแถว ไม่ใช่หน้าที่แพทยสภา” ผ่านเฟชบุคไลฟ์ สภาองค์กรของผู้บริโภค และสื่อต่างๆ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน
ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ เปิดประเด็นด้วยเหตุผลที่ว่า ทำไมกลุ่มแพทย์ถึงออกมาคัดค้านเรื่องนี้ว่า หากประเทศไทยต้องการจะเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐานสากล โดยสิ่งที่เป็นข้อกังวลคือ เห็นความไม่โปร่งใสเกี่ยวกับที่มาของการทำหลักสูตรเรื่องนี้ เพราะโดยปกติแล้วการอบรมแพทย์เฉพาะทางใดๆ จะเป็นหน้าที่ของราชวิทยาลัยเป็นผู้รับรองแหล่งฝึกที่เหมาะสม โดยทางแพทยสภาจะเป็นผู้ขึ้นทะเบียนรับรองการผ่านอบรม แต่ปรากฏว่างานนี้แพทยสภาทำเองทั้งหมด ซึ่งจะเกิดความขัดแย้งในบทบาทหน้าที่หากมีการร้องเรียน เพราะมีหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน ที่สำคัญแหล่งฝึกสอนเป็นเพียงคลินิกเอกชน
(ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล)
ทั้งนี้มีข้อมูลว่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีคลินิกเอกชนแห่งหนึ่งยื่นขอทำหัตถการผ่าตัดเสริมจมูก จากนั้นอีก 2 เดือนคือมีนาคมมีการตั้งคณะทำงานและมีการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 เมษายน โดยการเอาหลักสูตรดังกล่าวเข้ามาพิจารณา ทั้งที่ยังไม่มีข้อบังคับเรื่องนี้เกิดขึ้น ก่อนที่วันต่อมาจะมีการอนุมัติ (ร่าง) ข้อบังคับฉบับนี้และอยู่ระหว่างการนำเรื่องไปสู่การอนุมัติของสภานายกพิเศษคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมามีการประชุมครั้งที่ 2 พิจารณาหลักสูตรหัตถการผ่าตัดเสริมจมูกพื้นฐาน
“มันเป็นขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน ในเมื่อกฎหมายแม่ยังไม่ออกแล้วเอาอะไรมารับรองกฎหมายลูก และเหตุผลสำคัญมากๆ คือข้อบังคับว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเกี่ยวกับการเสริมสวยนี้ ปรากฏว่าไส้ในกลับว่าด้วยการฝึกอบรมเสริมความงาม มันเหมือนเป็นการสอดไส้ กรรมการได้ตรวจสอบไส้ในก่อนการอนุมัติหรือไม่”
นอกจากนี้ทางราชวิทยาลัยและกรมแพทย์ที่เกี่ยวข้องไม่มีการรับรู้เรื่องนี้มาก่อน ซึ่งตามปกติต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ขณะเดียวกันปัจจุบันประเทศไทยมีมาตรฐาน World Federation for Medical Education หรือ WFME ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสําหรับแพทยศาสตร์ศึกษาพื้นฐานของสหพันธ์แพทยศาสตรศึกษาโลก ซึ่งทำให้ความเป็นเมดิคัล ฮับยังคงสภาพอยู่ได้ แต่หลักสูตรไม่มีการทำรับรองมาตรฐานสากลเหล่านี้ หรือแม้กระทั่งสถานฝึกอบรมก็ไปสอนกันในคลินิกเอกชนที่ไม่มีการติดตามหรือรับรองมาตรฐานสากลแต่อย่างใด
“บทบาทของแพทยสภาคือการสร้างมาตรฐานของแพทย์และการรักษาให้ดูแลประชาชน และจะสร้างความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยได้อย่างไร” ผศ.ดร.นพ.สุธี กล่าว
ขณะที่ พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ นายแพทย์ศัลยกรรมและกรรมการแพทยสมาคม เห็นด้วยว่าการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะต้องมีความเคร่งครัด ผลผลิตที่ออกมาจะต้องยืนยันได้ว่าปลอดภัย อีกทั้งในระดับสากลต้องมีคำว่า WFNE เพื่อสร้างความเชื่อถือสำหรับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะแพทย์เฉพาะทางที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญชำนาญการต้องยึดหลักสากลและต้องมีพื้นฐานแน่นเพียงพอ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเรียนรู้อย่างน้อย 3 ปีและต่อยอดไปสู่เฉพาะทางอีก 2 ปีเพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคการทำหัตถกรรมทั้งหลายมีความปลอดภัยและมีคุณภาพได้มาตรฐานจริง
“เหมือนกับบ้านจะแข็งแรงได้ต้องตอกเสาเข็มอย่างถูกต้อง ไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะมาผ่าตัดได้แค่อบรมหลักสูตร 3 เดือน เพราะการผ่าตัดอาจมีโรคแทรกซ้อน มีระยะเวลาต้องติดตาม หากมีความผิดพลาดต้องมีการแก้ไข หากจะมีหลักสูตรอื่นต้องมีเหตุผลทำไมต้องต่ำกว่า 3 ปี ที่ผ่านมามีการออกประกาศนียบัตร 1 ปีเพื่อแพทย์ชนบทที่ต้องผ่าตัดโรคไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งมีในการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตร์บันฑิตที่สามารถทำได้แต่ไม่มีวุฒิรับรอง เกิดความกังวลใจเพราะหลายปีก่อนมีการผ่าตัดไส้ติ่งและคนไข้เสียชีวิตจนเป็นคดีฟ้องร้อง แพทยสภาจึงเห็นความสำคัญให้มีประกาศนียบัตรเฉพาะทาง 1 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้บริโภค”
สำหรับการแต่งตั้งคณะทำงานร่างหลักสูตรระยะสั้นนี้ พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ เผยว่ามีภาคเอกชนเข้ามาร่วมประชุม ซึ่งมีสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวย มีการดำเนินภายในองค์กรสอนกันเองสอนกันเองระยะเวลาสั้น หลักสูตรที่ทำกันมาใช้ได้ โดยอาศัยมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพ.ศ.2525 ที่มีคำจำกัดความสามารถทำเสริมสวยได้ และมีแนวโน้มจะใช้หลักสูตรของภาคเอกชนในการอบรมเสริมจมูกพื้นฐาน 3 เดือน ซึ่งสร้างความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยของประชาชนให้กับกลุ่มแพทย์บางส่วนและพยายามคัดค้านในเรื่องนี้ เพราะไม่เชื่อว่าหลักสูตรการอบรมระยะสั้นเพียง 3 เดือนและเป็นการอบรมในคลินิกจะสร้างความปลอดภัยกับประชาชนโดยไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใดๆ พิสูจน์ จากเดิมที่แพทยสภารับรอง 2 หลักสูตรที่ทำเสริมสวยได้คือ ศัลยกรรมตกแต่ง และศัลยกรรมตกแต่งและเสริมสวยใบหน้า ซึ่งต้องเรียนถึง 5 ปี
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาได้ทำจดหมายไปถึงรมว.กระทรวงสาธารณสุข ให้ยุติการพิจารณาข้อบังคับฯของแพทยสภาเมื่อวันที่ 20 พ .ค. โดยมี 3 เหตุผล ได้แก่
1.หลักสูตรต่ำกว่ามาตรฐานสากล เน้นการหารายได้ชัดเจนซึ่งจะทำให้เกิดมาตรฐานลดลงส่งผลต่อผู้บริโภคได้
2.ขาดการมีส่วนร่วมจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นและโอกาสในการรับรู้
3.การดำเนินครั้งนี้เทียบเคียงกับการทำให้สิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ไม่เหมือนทำเรื่องจริยกรรมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแต่ไปรับรองหลักสูตรที่ทำกันอยู่ตามคลินิกให้ถูกกฎหมาย
“ถ้าทำให้หลักสูตรต่ำกว่ามาตรฐานสากลและหารายได้มากขึ้น ยิ่งทำให้มาตรฐานการดูแลรักษาต่ำลง อีกทั้งผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าแพทย์ที่ให้บริการไม่ใช่แพทย์ที่ผ่านหลักสูตรศัลยกรรมตกแต่งแต่ผ่านหลักสูตรระยะสั้น จะมีการให้ข้อมูลอย่างไร ในเมื่อปัจจุบันมีปัญหาก็มีความยากในการเรียกร้องชดเชยอยู่แล้ว”
(สารี อ๋องสมหวัง)
ทั้งนี้จากปัญหาการร้องเรียนของผู้บริโภคในปี 2562-2565 มีการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องเสริมความงาม 118 ราย โดยมีเรื่องสัญญาไม่เป็นธรรม ไม่สามารถยกเลิกได้ ร้อยมากที่สุดร้อยละ 63.56 นอกจากนี้ก็มีได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ (18.64%) โฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริง (13.56%) และพฤติกรรมพนักงานไม่เหมาะสมในการให้บริการ (4.24 %)
เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค คาดหวังให้แพทยสภาควรจะมีกลไกที่ดีในการดำเนิน กำกับดูแลเรื่องคุณภาพ มาตรฐานและความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและการจัดการระบบในเชิงป้องกัน ดังนั้นความเชี่ยวชาญต้องมาก่อน ไม่ลดมาตรฐานการดำเนินการ ยิ่งถ้าอยากให้เป็นเมดิคัล ฮับด้านความงามยิ่งต้องสร้างมาตรฐานสากล พร้อมข้อเสนอแนะ 4 ข้อ คือ 1. ผู้บริโภคมีสิทธิจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานบริการและความเชี่ยวชาญของแพทย์ ขณะเดียวกันควรคำนึงว่าการเสริมสวยไม่ใช่การรักษาโรคทำเท่าที่จำเป็น 2.ควรมีสิทธิเลือก เลือกในสิ่งในที่ปลอดภัย 3.ต้องได้รับความปลอดภัย ตามกฎหมายเรามีสิทธิได้รับการเยียวยาเมื่อไม่มีความปลอดภัย และ 4.ผู้บริโภคต้องมีสิทธิได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ถ้าไม่เป็นธรรมมีสิทธิที่จะโต้แย้ง รวมทั้งอยากเห็นแพทยสภามีบุคคลภายนอกเพื่อให้เกิดความมั่นใจ การมีส่วนร่วมเหมือนในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซ๊ย สิงคโปร์ ฮ่องกง มีตัวแทนองค์กรผู้บริโภคนั่งอยู่ในแพทยสภา”
ขณะที่ ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ มีข้อเสนอให้แพทยสภายุติกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการฝึกอบรมผ่าตัดระยะสั้นเสริมสวยไว้ก่อน เพราะไม่ใช่หน้าที่มีราชวิทยาลัยทำอยู่แล้ว และทบทวนความจำเป็นในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยตามความเป็นจริงในปัจจุบันว่า ประเทศไทยและประชาชนคนไทยต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ(เฉพาะทางสาขาใดมากน้อยตามลำดับ ของจำนวนผู้ป่วยจริงให้ถูกต้องแล้วจึงจะมาพิจารณาปริมาณความต้องการผลิตแพทย์เสริมสวยที่ต้องได้มาตรฐานระดับสากลและประชาชนให้การยอมรับ
“อะไรคือความจำเป็นเร่งด่วนในระบบสาธารณสุขตอนนี้ คนไทยกำลังมีปัญหาอยู่กับอะไร เช่น หมอที่อยู่โรงพยาบาลอำเภอขาดความเชี่ยวชาญทางด้านใดที่ดูแลผู้ป่วยไม่ได้ แพทยสภาทำสิ่งนั้นก่อนดีหรือไม่ หรือประเทศไทยมีความต้องแพทย์ในสาขาใดมากน้อยอย่างไร ควรจัดลำดับว่าอะไรควรทำก่อนหลัง ปกติหลักสูตรของคณะแพทย์กว่าจะผ่านได้ครึ่งปีค่อนปี แต่หลักสูตรนี้ผ่านได้แค่ไม่กี่เดือน”
นอกจากนี้ต้องสร้างมาตรฐานคุณภาพการรักษาด้านเสริมวยให้ได้ ได้แก่ การลงทะเบียนการรักษา การรับรองคุณภาพสถานพยาบาล เช่น HA กลไกการติดตามแก้ไขภาวะแทรกซ้อน ระบบการคุ้มครองความเสียหาย ระบบกำกับดุแลแพทย์ผู้ทำหัตการ และแพทยสภาควรปล่อยหน้าที่การฝึกอบรมแพทย์หลักปริญญาเป็นของราชวิทยาลัยให้ดำเนินการตามมาตรฐานสากล
พล.ต.ท.นพ.อรรถพันธ์ มองว่าอย่างที่บอกว่าพรบ.ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 มีมาตรา 4 ซึ่งตีความได้ว่าหมอที่จบแพทยศาสตร์บัณฑิตที่ไม่เคยเรียนเสริมสวย ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเสริมสวยได้เป็นเหตุให้แพทย์ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเสิรมสวยที่คลินิก โดยอาจไม่ได้ผ่านการเรียนเฉพาะทางมา ดังนั้นประชาชนต้องให้ความใส่ใจ สืบหาข้อมูลให้ดีก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาตามมา
“ทุกคนถามหมอได้ว่าจบแพทย์บัณฑิตหรือเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทางไหน ถ้าไม่ตอบต้องเดินออกและบอกต่อเพราะผิดปกติ เพราะการผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียง ไม่ได้หมายความว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญการการผ่าตัดจะไม่มีปัญหาเลย แต่ต้องมีวิธีแก้เป็นเมื่อมีโรคแทรกซ้อน และหมอแต่ละคนความสามารถไม่เท่ากัน ศัลยกรรมเสริมสวยต้องมีศิลปะด้วย ไม่ใช่แค่ผ่าเป็น จึงมีความแตกต่าง คนไข้ต้องลองปรึกษา 1-3 คนก่อน แล้วดูความน่าเชื่อถือมากที่สุด”
- 1328 views