กรมควบคุมโรคเผยผลติดตามอาการ 12 ราย กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ “ฝีดาษวานร” ที่รอต่อเครื่องในไทยบินไปออสเตรเลีย ทั้งหมดไม่มีอาการ เหตุเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ! เผยความจำเป็นต้องมีวัคซีนป้องกันบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ขอให้รอการประเมินสถานการณ์ หากไม่ระบาดมากอาจไม่ต้อง  แต่หากระบาดหนักต้องมีการพิจารณาให้กลุ่มเสี่ยงต่อไป  

 

ตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข(EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง (monkey pox) ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบการติดเชื้อในประเทศไทย มีเพียงการเฝ้าระวังติดตามอาการกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงต่ำ 12 ราย ที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรบนเครื่องบินที่รอต่อเครื่องในไทยไปออสเตรเลีย ซึ่งติดตาม 21 วัน ล่าสุดไม่พบอาการใดๆนั้น ส่วนคำถามว่า ไทยจำเป็นต้องมีวัคซีนป้องกันฝีดาษวานร โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข หรือกลุ่มที่ต้องใกล้ชิดผู้เดินทางหรือไม่นั้น

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ไทยติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด "ฝีดาษวานร”  12 ราย หลังออสเตรเลียแจ้งมาต่อเครื่องที่ไทย)

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า  สำหรับการติดตามอาการผู้ใกล้ชิด 12 รายนั้น ขณะนี้ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ จึงไม่น่ากังวล อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษวานร เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย เรียกว่าความรุนแรงไม่ได้มาก หายเองได้  เพียงแต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากเริ่มมีอาการและเข้าพบแพทย์ก็จะรักษาตามอาการให้หายได้

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขบางส่วนตั้งคำถามว่า ต้องมีวัคซีนป้องกันให้กับบุคลากรด้วยหรือไม่  นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ต้องมีการศึกษาและพิจารณาว่าการใช้สอดคล้องกับการระบาดหรือไม่ ซึ่งหากมีการระบาดจำนวนมากจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันคนส่วนใหญ่ไม่ให้ป่วย แต่หากไม่มีเคสและมาฉีดวัคซีนก่อน ผลข้างเคียงที่เกิดจากการฉีดวัคซีนอาจรุนแรงกว่าไม่ฉีด ซึ่งการประเมินสถานการณ์ทั่วโลกไม่ใช่หลักหมื่นหลักแสนราย จึงต้องประเมินสถานการณ์ก่อน

“ขอให้มีการติดตามสถานการณ์ก่อน โดยหากจะฉีดวัคซีนต้องมีปริมาณมากเพียงพอ และต้องฉีดให้กับคนที่เกี่ยวข้องก่อน  คือ กลุ่มที่ดูแลคนเดินทางมาจากต่างประเทศ หรือบุคลากรทางการแพทย์ แต่บุคลากรการแพทย์จะเป็นกลุ่มไหนก็ต้องพิจารณาอีก เพราะบุคลากรก็มีจำนวนมากเช่นกัน ส่วนจะสั่งซื้อหรือไม่ อย่างไรก็ต้องมีการพิจารณาวางแผน ทั้งหมดต้องติดตามข้อมูลก่อน” นพ.จักรรัฐ กล่าว

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org