การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical & Wellness Tourism กลายเป็นยุทธศาสตร์หลักของประเทศไทยและกลุ่มจังหวัดอันดามันเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เมื่อตลาดกลุ่มนี้มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องและมีมูลค่าสูง โดยเฉพาะภูเก็ตที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hup) โครงการเมดิคัล พลาซ่าและการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด Specialised Expo 2028 ภายใต้ชื่อ Expo 2028 – Phuket, Thailand ในธีมเกี่ยวกับสุขภาพ คือโปรเจ็กต์สำคัญที่สะท้อนแนวทางอย่างชัดเจน ล่าสุดได้เสนอของบประมาณ 60 ล้านบาทจต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมรองรับกิจกรรมสำรวจพื้นที่เชิงลึก (Enquiry Mission) ของคณะกรรมการองค์การนิทรรศการนานาชาติ (BIE) ช่วงวันที่ 25 - 29 ก.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการนโยบายการพัฒนาภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับนานาชาติไม่ได้มีแค่นี้ เมื่อหลายภาคส่วนกำลังขยับตามเพื่อเพิ่มศักยภาพ
**มอ.ทุ่มกว่า 5,000 ล้านบาทสร้างศูนย์สุขภาพอันดามัน
รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เผยโครงการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีแผนสร้างศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาโรคซับซ้อนของประชาชนในกลุ่มจังหวัดอันดามันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในกลุ่มจังหวัดอันดามันและประเทศไทย ภายใต้กรอบวงเงินกว่า 5,116 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
(รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม)
วิทยาลัยสุขภาพนานาชาติ ผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของพื้นที่อันดามันและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการผลิตทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์และแพทย์แผนไทย รวมทั้งเป็นโอกาสทางการศึกษาของประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์การศึกษาด้านสาธารณสุขของภูมิภาคอาเชียนด้วย
โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางขนาด 300 เตียง เน้นการบริการ Tertiary Care การแพทย์แม่นยำ การแพทย์ทางไกลและการบริการนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับพรีเมียม ซึ่งเป็นการบริการการรักษาเฉพาะทาง โรคซับซ้อน มีระบบส่งต่อระหว่างกันกับโรงพยาบาลในพื้นที่อันดามัน ซึ่งจะใช้งบประมาณมากที่สุดราว 4,762 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปี 2566 และคาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2569
สุดท้ายศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน ซึ่งมีส่วนย่อยเป็นศูนย์ทันตกรรมดิจิทัล สงขลานครินทร์ ซึ่งจะเป็นศูนย์ทันตกรรมนานาชาติที่ทันสมัยแห่งแรกในภาคใต้ มีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2567 ทั้งนี้มีการประเมินว่าโครงการศูนย์สุขภาพอันดามันจะเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวในพื้นที่อันดามันให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น ไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นประมาณ 62,000 ล้านบาท/ปี
** วชิระภูเก็ตเพิ่มศักยภาพขยายศูนย์การแพทย์ที่ถลาง
ขณะที่ นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่าทางโรงพยาบาลเตรียมขยายขีดความสามารถในการรักษาเพิ่ม สร้างศูนย์การแพทย์ที่สวนป่าบางขนุน อ.ถลาง เพื่อเป็นศูนย์รักษาเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เช่น ศูนย์รังสีรักษา และด้านอื่นๆ หลังจากที่ผ่านมาต้องส่งต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งไปฉายแสงที่สุราษฎร์
“ตอนนี้กรมป่าไม้อนุมัติให้ใช้พื้นที่แล้วประมาณ 350 ไร่ ถ้าโครงการที่ไม้ขาวสำเร็จเรียบร้อยดี ผมว่าผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่อยากเข้าโครงการน่าจะเกินกว่าที่จะรองรับได้ จึงอาจต้องขยายมาในส่วนตรงนี้ที่มีพื้นที่มากขึ้น ถ้าเราสามารถดูตรงนี้ได้หมดก็จะลดปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยและยกระดับศักยภาพในการรองรับการรักษามากขึ้นด้วย”
(นพ.วีระศักดิ์ หล่อทองคำ)
ทั้งนี้โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 43 ไร่ แต่ใช้จริงได้แค่ 30 กว่าไร่เพราะอยู่ติดเขาไม่สามารถขยายแนวราบได้ โดยตอนนี้มีเตียงผู้ป่วยในอยู่ 550 เตียงสร้างตึกใหม่อีก 2 ตึกคาดจะเพิ่มได้อีกประมาณ 200 เตียงเป็น 750 เตียงส่วนบุคลากรตอนนี้มีอยู่ประมาณ 2300 คน อนาคตน่าจะถึง 2500-2700 คน
ผอ.รพ.วชิระภูเก็ต เสริมด้วยว่าในส่วนของบุคลากรที่เพิ่มขึ้น ทางโรงพยาบาลพยายามคุยกับธนารักษ์เพื่อให้ลงทุนสร้างที่พักสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่ก่อนโดยให้โรงพยาบาลผ่อนประมาณ 30 ปี เพื่อดูแลและสร้างแรงจูงใจให้กับบุคลากร เพราะรัฐไม่มีงบเพียงพอ หลังจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะให้งบสร้างตึกคนไข้ แต่ไม่ค่อยมีงบสร้างอาคารเจ้าหน้าที่ หรือบางครั้งสร้างตึกเสร็จแต่ไม่มีเครื่องมือแพทย์ เพราะมีแต่งบสร้างอาคารไม่มีงบซื้อเครื่องมือ
** รพ.เอกชนขยับจับมือธุรกิจโรงแรม
“เมื่อทุกส่วนเริ่มขยับ เริ่มมีกลุ่มทุนต่างๆ ตื่นเต้นและสนใจลงทุน” ธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เผยถึงการขยับสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
(ธเนศ ตันติพิริยะกิจ)
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต ยกตัวอย่างโรงพยาบาลเอกชนในเครือรพ.กรุงเทพที่เดิมทีก็มีชื่อเสียงมานานในทุกตลาด มีการเปิดบริการหลายศูนย์ในภูเก็ต ไล่ตั้งแต่ศักยกรรมเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงศัลยกรรมแปลงเพศก็ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าพอสมควร แต่ล่าสุดได้เริ่มจับมือกับภาคธุรกิจโรงแรมจัดทำโปรแกรมตรวจสุขภาพหรืออื่นๆ ในแนวทาง Medical & Wellness เช่น การเข้าไปตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep test ให้กับลูกค้าในโรงแรม รวมทั้งอาจมีการขยายศูนย์เพิ่มเติมอีก
นอกจากนี้อาจมีกลุ่มทุนที่ทำทางด้านนี้อยู่แล้ว เช่น กลุ่มธัญญะปุระ อาจเปิดสหคลินิกเพิ่มขึ้นภายในโรงแรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดลูกค้า wellness นี่ยังไม่รวมถึงโครงการ “ภูเก็ต เฮลท์ แซนด์บ็อกซ์” ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.)
สำหรับโครงการ “ภูเก็ต เฮลท์แซนด์บ็อกซ์” เมืองแห่งความผูกพันผู้คนสู่สุขภาพโลก เป็นโครงการต้นแบบเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพครบวงจรเพื่อรองรับประชากรชาวไทยและต่างชาติกว่า 1.2 ล้านคนที่แวะเวียนเข้ามา โดยพัฒนาระบบบริการรูปแบบใหม่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเนื่องจากการเข้าไม่ถึงบริการในสังคมเมือง พร้อมการเชื่อมโยงบริการสุขภาพของทุกภาคส่วนไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เป็นฐานรากที่เข้มแข็งไปพร้อมกับบริการสุขภาพเพื่อการแข่งขัน
ความพยายามของฝ่ายต่างๆ ที่กำลังเดินหน้าแนวทาง Medical Hub ของภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามัน เริ่มเห็นเป็ฌนรูปเป็นร่างชัดเจนชึ้น ในระยะเฉพาะหน้าการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด Specialised Expo 2028 ก็จะเป็นอีกขั้นหนึ่งของสร้างภาพลักษณ์การเป็นเมดิคัล ฮับ และเป็นการประกาศตัวต่อสังคมโลกว่า นับจากนี้ไปภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามันของไทยคือจุดหมายของ Medical & Wellness Tourism ซึ่งหากได้รับการคัดเลือกให้จัดงานดังกล่าวได้ ควเห็นการขับเคลื่อนการลงทุนด้านธุรกิจสุชภาพอีกมากมาย
- 7572 views