การระบาดของฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิงกำลังถูกจับตามากขึ้นไม่ใช่แค่ในฐานะของภัยคุกคามด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะการที่มันเป็นโรคที่เสี่ยงติดเชื้อได้ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะเกย์และไบเซ็กชวล

          นั่นก็เพราะการระบาดครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการพบการแพร่ระบาดในชุมชนนอกแอฟริกา และพบผู้ป่วยรายแรกในและการแพร่กระจายระหว่างชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) และเคสส่วนใหญ่อยู่ในชายหนุ่มที่ระบุตัวเองว่าเป็นชายรักชาย โดยเป็นการแพร่เชื้อระหว่างคู่นอน อันเนื่องมาจากการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างมีเพศสัมพันธ์และเกิดรอยแผบที่ผิวหนังจนติดเชื้อโรค น่าจะเป็นรูปแบบการแพร่เชื้อในกลุ่มชายรักชาย (1)

          ยุโรปเป็นพื้นที่ซึ่งพบการติดเชื้อในวงกว้างที่สุด สำนักงานควบคุมโรคยุโรป (ECDC) จึงแนะนำว่า สถาบัน/หน่วยงานด้านสาธารณสุขและองค์กรในชุมชนควรดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการแพร่กระจายของฝีดาษลิงในชุมชนที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายคนอื่นๆ ที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ระวัดระวัง หรือมีคู่นอนหลายคน บุคคลที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ระมัดระวังการหรือมีคู่นอนหลายคนที่ไม่ใช่ชายรักชายก็ควรระมัดระวังเช่นกัน (1)

          ด้วยความที่โรคนี้ถูกตั้งเป้าว่าน่าจะระบาดในหมู่ชายรักชาย (MSM) เป็นหลัก ทำให้เกิดการรายงานเข้าที่เพ่งเล็งกลุ่ม  MSM มากเป็นพิเศษ จนทำให้หน่วยงานของสหประชาชาติ คือ โครงการร่วมสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและเอดส์ (UNAIDS) ออกมาติงการนำเสนอข่าวว่ากลุ่ม MSM และชาวแอฟริกันถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ อันเป็นการกระทำที่ “เสริมสร้างทัศนคติแบบปรักปรำและเหยียดเชื้อชาติ และทำให้ตราบาปรุนแรงขึ้น” โดย แมททิว แควานอ (Matthew Kavanagh) รองผู้อำนวยการบริหาร UNAIDS กล่าวว่า "การตีตราและกล่าวโทษบ่อนทำลายความไว้วางใจและความสามารถในการตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่มีการระบาดเช่นนี้" (2)

          การที่หน่วยงานอย่าง UNAIDS ต้องออกโรงในประเด็นนี้แทนที่จะเป็นองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็คงเป็นเพราะทางหน่วยงานมีประสบการณ์เรื่องผู้ป่วยเอชไอวีและเอดส์ถูกตีตราจากคนในสังคมและการตีตราโรคนี้ว่าเป็นโรคที่ติดต่อระหว่างกลุ่มชายรักชายในช่วงแรกๆ ที่มีการระบาดในช่วงทศวรรษที่ 80-90

          สื่อต่างๆ ก็ตื่นตัวกับการตีตรากลุ่มชายรักชายในช่วงการระบาดของฝีดาษลิงขึ้นมาบ้าง เช่น สื่อในอังกฤษ (ประเทศที่พบการระบาดแห่งแรกๆ) อย่าง The New Statesman ระบุว่า "ฝีดาษลิงไม่ใช่ไวรัสเกย์ ไม่ใช่ว่าเราเคยผ่านสถานการณ์แบบนี้มาก่อนแล้วไม่ใช่หรือ?" ผู้เขียนชี้ว่าไม่มีโรคใดที่เป็น “โรคเกย์” เพราะไวรัสจะเลือกร่างกายที่ไม่มีภูมิคุ้มกันก่อน แต่ "น่าเศร้าที่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการเล่าเรื่องที่ชวนให้นึกถึงช่วงแรกๆ ของเอชไอวีซึ่งมีการใช้ไวรัสติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างรวดเร็วเพื่อตีตราชายรักชาย ซึ่งในจำนวนนี้พบผู้ป่วยกลุ่มแรก" (3)

          นี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และเป็นแค่ความกังวลของคนไม่กี่คน แต่มีหลักฐานเชิงสถิติมารองรับ นั่นคือรายงานร่วมจาก Gallup และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 (3) ว่าร้อยละ 35 ของผู้ตอบแบบสอบถามจาก 50 ประเทศกล่าวว่า ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำงานเคียงข้างผู้ที่ไม่ติดเชื้อ จะเห็นได้ว่าผ่านมาแล้วถึง 40 ปีหลังพบผู้ติดเชื้อคนแรก ผู้คนก็ยังไม่เปลี่ยนทัศนะคติเรื่องตราบาปของผู้ติดเชื้อเอไอวี ดังนั้นจึงสมควรแล้วที่จะต้องมีเสียงติงให้ระวังการนำเสนอข่าวที่ออกไปในทางตีตราคนบางกลุ่มในช่วงการระบาดของฝีดาษลิง

          ตัวอย่างที่สื่อรายงานอยางจำเพาะเจาะคือผู้สื่อข่าวของ Fox News (4) ในสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่าโรคฝีฝีดาษลิงเป็น "โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์" ซึ่ง "โดยหลักแล้วติดต่อผ่านเพศรักร่วมเพศ" คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรพิเศษ แต่ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่าสื่อนี้เน้นว่า "โดยหลัก" (primarily) ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะโรคนี้ติดต่อได้กับคนทุกกลุ่ม เพียงแต่กลุ่มชายรักชายพบเป็นกลุ่มแรกและมากกว่ากลุ่มอื่นในช่วงแรกของการพบโรคเท่านั้น 

          แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มชายรักชายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด แม้จะมีเสียงติงจากองค์การของสหประชาชาติ จากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข และจากสื่อ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องการกับการควบคุมการระบาดโดยตรงก็ยังเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยอย่างตรงไปตรงมาว่าฝีดาษลิงเกี่ยวข้องกับกลุ่มชายรักชาย

          อย่างเช่น หลังจากนั้นสำนักงานควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แจ้งเตือนชายที่เป็นเกย์และไบเซ็กชวลว่าโรคฝีดาษลิงดูเหมือนจะแพร่กระจายไปทั่วโลกในชุมชนของกลุ่มที่มีรสนิยมทางเพศแบบนี้  ซึ่งดร.จอห์น บรูกส์ เจ้าหน้าที่ของ CDC เน้นย้ำว่าทุกคนสามารถติดโรคฝีฝีดาษลิงได้ทั้งสิ้นได้ผ่านการสัมผัสใกล้ชิดส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงรสนิยมทางเพศ อย่างไรก็ตาม บรูกส์ กล่าวว่าผู้คนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบทั่วโลกจนถึงตอนนี้เป็นผู้ชายที่ระบุว่าเป็นเกย์หรือไบเซ็กชวล (5)

          ส่วน Pink News ซึ่งเป็นสื่อของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ รายงานข่าวเพื่อให้กลุ่มความหลากหบายทางเพศตระหนักว่าอาจมีการโยงพวกเขาเข้ากับการระบาด โดยเสนอข่าวผู้เชี่ยวชาญที่เตือนไม่ให้สังคมทำให้เกิดตราบาปกับกลุ่มชายรักชาย (โดยรายงานย้ำในช่วงสัปดาห์เดียวกันอย่างน้อย 3 ครั้งว่ามันไม่ใช่ ‘gay disease’ และประณามท่าทีการรายงานข่าวที่เป็น ‘homophobic and racist’)

          แต่ในขณะเดียวกัน Pink News ก็รายงานตรงๆ ว่า "ฝีดาษลิงระบาดทั่วยุโรปเชื่อมโยงกับซาวน่าเกย์และเทศกาลความใคร่เฉพาะจุด (fetish)" และอีกข่าวหนึ่งเตือนว่า "กลุ่มชายรักชาย (queer men) ถูกกระตุ้นให้มีความ 'ระมัดระวัง'"

          จะเห็นว่าแม้แต่สื่อของกลุ่มความหลากหลายทางเพศก็ไม่เลี่ยงที่จะเอ่ยถึงหนึ่งในกลุ่มพวกเขาว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง นั่นก็เพราะพวกเขาไม่มีเจตนาที่จะตีตราบาปให้กลุ่มตนเอง แต่มีเจตนาเพื่อเตือนกลุ่มของตนเองให้ตระหนักถึงความเสี่ยงที่มากกว่ากลุ่มอื่นๆ และด้วยความที่เป็นสื่อของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ทำให้พวกเขาไม่ถูกตำหนิว่ารายงานข่าวโดยแอบแฝงความเหยียดและรังเกียจเพศทางเลือก

 

อ้างอิง

1. "Epidemiological update: Monkeypox outbreak". European Centre for Disease Prevention and Control. 20 May 2022. Archived from the original on 23 May 2022. Retrieved 26 May 2022.

2. "UN denounces ‘homophobic and racist’ reporting on monkeypox spread". 23 May 2022 . Agence France-Presse.

3. Charlotte Kilpatrick. "Monkeypox is not a gay virus. Haven’t we been here before?". 23 May 2022. The New Statesman.

4. Khaleda Rahman. "The Dangerous Parallel Between Monkeypox and AIDS". 24 May 2022. Newsweek.

5. Spencer Kimball. "CDC officials sound alarm for gay and bisexual men as monkeypox spreads in community". 24 May 2022. CNBC.