สธ. เผยฝีดาษวานร การติดเชื้อจากสัตว์ป่าไม่ใช่ประเทศไทย แต่มาจากทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะ ลิง สัตว์ฟันแทะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กๆ การนำเข้าต้องผ่านกระบวนการตรวจโรคจากกรมอุทยานฯ ย้ำ! การระบาดที่ยุโรปจากคนสู่คนพบมาจากการร่วมงาน Pride Festival ประเทศสเปน ใครมีประวัติร่วมขอให้สังเกตอาการ
เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงสัตว์ในประเทศไทยต่อความเสี่ยงโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkeypox) เช่น ลิงเขาสามมุก จ.ชลบุรี หรือลิงในพื้นที่ท่องเที่ยว ว่า ประเทศยังไม่เคยพบการรายงานโรคฝีดาษลิงในสัตว์ป่าของไทยมาก่อน สัตว์ป่าที่พูดถึงคือจากทางทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะ ลิง สัตว์ฟันแทะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเล็กๆ ซึ่งการนำเข้ามาอย่างถูกต้องจะต้องผ่านกระบวนการตรวจโรคจากกรมอุทยานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น ความเสี่ยงจะอยู่ที่สัตว์ป่านำเข้ามา
“เราจึงให้กลุ่มผู้ที่สัมผัสสัตว์ป่าใกล้ชิดที่มาจากแอฟฟริกาไม่ว่าการนำเข้าด้วยวิธีใด และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ การเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจมีผู้ติดเชื้ออยู่ตอนนี้ ถ้ามีอาการป่วยก็ขอให้พบแพทย์แจ้งประวัติเสี่ยง เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ” นพ.จักรรัฐกล่าว
ด้าน นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากสัตว์จะติดจากสัตว์ด้วยกัน ยังมีวงจำกัดในทวีปแอฟฟริกา ดังนั้นความเสี่ยงของสัตว์ในไทยจึงน้อย แต่ความเสี่ยงจะไปอยู่ที่การนำเข้ามาแบบลักลอบ โดยเรียนว่าโรคฝีดาษลิงเป็นโรคจากสัตว์สู่คน เคยเจอครั้งแรกในลิง แต่จริงๆ สัตว์นำโรคไม่ได้มีแค่ลิง ยังมีสัตว์ฟันแทะ สัตว์ป่า ซึ่งทวีปแอฟฟริกาที่มีการติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่พื้นที่ชนบบท จากการใกล้ชิด
“แต่ช่วงนี้ที่มีการระบาดเพราะเมื่อต้นเดือนพ.ค. มีการติดเชื้อนอกประเทศ คือทางยุโรป แพร่ระบาดคนสู่คน จากกรณีที่มีคนร่วมงาน Pride Festival ประเทศสเปน มีคนจำนวนมาก คนร่วมงานมีความใกล้ชิดกันมากๆ จึงพบการติดเชื้อเกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้นเราต้องกลับมาให้ความสนใจ เฝ้าระวังติดตาม ตรวจจับแต่เนิ่นๆ หากผู้ที่มีประวัติเข้าร่วมงานดังกล่าวเข้ามา เราจะได้ตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ระบาดวงกว้าง ” นพ.ทวีทรัพย์กล่าว
นพ.ทวีทรัพย์กล่าวด้วยว่า การแพร่ระบาดของฝีดาษลิงยากกว่าโควิดเพราะต้องใกล้ชิดกันมากๆ สัมผัสสารคัดหลั่ง แผล ไม่ใช่เพียงไอจามเหมือนโควิด ดังนั้นเราจะเน้นย้ำในกลุ่มที่เข้าพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง รวมถึงผู้ที่มีแผล ตุ่มหนองที่ลักษณะคล้ายโรคสุกใส ไข้ทรพิษ และเตือนประชาชนที่จะเข้าร่วมงานกิจกรรมต่างๆ เพราะทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่โควิด ดังนั้นเราต้องป้องกันโรคอื่นๆ ด้วย
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
-5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ประกาศแจง 9 ข้อ "โรคฝีดาษวานร" ยังไม่จำเป็นเร่งรีบหาวัคซีน
-สธ.เข้มมาตรการป้องกัน "ฝีดาษลิง" ตั้งด่านสนามบินคัดกรองกลุ่มเสี่ยง พร้อมสั่งการ รพ.สังกัดรับมือ
- ทำความรู้จักโรค “ฝีดาษวานร” ไทยยังไม่พบ ยังไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 633 views