หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ ชี้ฝีดาษลิง แพร่ระบาดแตกต่างจากอดีต เดิมพบกระจุกตัว ขณะนี้ลามไป 15 ประเทศ แม้ไทยยังไม่พบ แต่ต้องเข้มมาตรการ ชี้เครื่องวัดอุณหภูมิช่วยคัดกรองได้ เหตุไข้สูง อาการหลัก ย้ำ! สวมหน้ากากอนามัยยังสำคัญ ป้องกันการติดเชื้อจากการไอ จาม 

กลายเป็นอีกโรคที่มีการจับตามองในแวดวงสาธารณสุขทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย "ฝีดาษลิง" ซึ่งขณะนี้แพร่ไปแล้วประเทศทั่วโลกแล้ว ขณะที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังรับมือเรื่องนี้ คอยตรวจคัดกรองผู้เดินทางที่มีความเสี่ยงป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศไทยนั้น

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ Hfocus เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง ถึงอันตรายของโรคดังกล่าว ว่า  ฝีดาษลิง ณ ขณะนี้ยังไม่พบในประเทศไทย แต่เป็นโรคที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง ซึ่งประเทศไทยก็เช่นกัน โดยฝีดาษลิง เป็นไวรัสที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะการระบาดในช่วงนี้แตกต่างจากเมื่อปี  2018-2019 เนื่องจากปีนั้นคนที่มาจากประเทศต้นตอในแอฟริกา และไปประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ ขณะนั้นกลับพบว่ามีการติดเชื้อเป็นกระจุก จากนั้นโรคก็สงบลง

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า แต่ครั้งนี้กลับพบแตกต่างจากเดิม เพราะมีการแพร่เร็วขึ้นไป 15 ประเทศใน 3 ทวีปแล้ว ยิ่งมีการเปิดประเทศยิ่งต้องระวัง อีกประการคือ คนที่ติดเชื้อรายแรกๆ ของประเทศก็มีประวัติชัดเจนว่า มาจากประเทศต้นตอ แต่ผู้ป่วยหลังจากนั้นกลับกลายเป็นว่า หาประวัติสัมผัสโรคไม่ได้ การติดเชื้อในประเทศอังกฤษคล้ายเป็นการแพร่ในชุมชน โดยที่รายต่อมาไม่ได้สัมผัสกับรายแรกและไม่ได้กลับจากพื้นที่ต้นตอ   คือ คล้ายๆโควิดที่มีการระบาดวงกว้างที่หาต้นตอไม่ได้ แสดงว่าอาจเป็นไปได้ที่ติดในชุมชน จึงต้องมีมาตรการเข้มงวดขึ้น 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า แต่ข้อดีของไวรัสตัวนี้ก็คือ ความสามารถในการแพร่ติดต่อ ยังอยู่ในระดับต่ำมาก ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่คลุกคลี จะติดทุกคน แต่ต้องกักตัว 21 วัน เมื่อทราบว่าได้สัมผัสเชื้อ โดยอาการจะเป็นไข้ก่อน ปวดหัวปวดเมื่อยปวดหลัง จากนั้นประมาณ 1 วันขึ้นไป หรืออาจ 3-4 วันก็จะมีผื่นตุ่มหนองขึ้นบริเวณใบหน้า มือ แขนขา ลำตัว ซึ่งลักษณะแบบนี้คนที่ติดเชื้อและมีอาการจะรู้ตัวอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่มีไข้จึงควรจำกัดตัวเอง ไม่ไปสุงสิงกับผู้อื่นเลย และคนรอบๆก็สามารถสังเกตเห็นได้ ก็ต้องแยกตัวออกห่าง และเตือนให้คนนั้นรีบพบแพทย์ แต่ที่มีการติดเชื้อในต่างประเทศเข้าใจว่า อาจคิดว่าป่วยเป็นไข้หวัด เพราะมีอาการคล้ายกัน แม้แต่โควิดระยะหลังอาการก็ไม่รุนแรงอาจทำให้ชะล่าใจได้

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ไทยยกระดับเฝ้าระวัง "ฝีดาษลิง" ป้องกันเข้าประเทศ  พร้อมชูศักยภาพแลปกรมวิทย์-จุฬา ตรวจหาเชื้อ)

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าโรคนี้หากติดจากคนสู่คน การติดต่อจะเหมือนโควิดหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ใช่ เนื่องจากสามารถติดได้จากการไอ จาม พูดคุย มีละอองฝอยกระจาย แต่ยังสามารถติดต่อได้จากเพศสัมพันธ์ทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ รวมทั้งติดจากเลือด สารคัดหลั่ง และยังมีรายงานว่าสามารถติดจากการสัมผัสสิ่งของของผู้ป่วย ส่วนเชื้อจะอยู่บริเวณสิ่งของนานแค่ไหนยังไม่มีรายงานออกมาจากต่างประเทศ ต้องจับตามองต่อไป

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า การติดเชื้อในต่างประเทศมากจากไม่สวมหน้ากากอนามัย ทำให้ติดจากการพูดคุย ไอ จาม   ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เป็นไปได้มาก เพราะในต่างประเทศบางแห่งเริ่มถอดแมสก์ เนื่องจากโควิดรุนแรงน้อยลง  คนที่เริ่มมีอาการก็อาจคิดว่าไม่ติดฝีดาษลิง แต่คิดว่าเป็นหวัด หรือโควิดอาการไม่รุนแรง

"ที่สำคัญคือ แม้ไทยจะยังไม่พบโรคนี้ แต่ก็มีความเสี่ยงได้จากการเปิดประเทศ แต่ไม่เปิดก็ไม่ได้ ดังนั้น ต้องมีมาตรการรัดกุม โดยในส่วนของสนามบินเดิมจะตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิก่อนเข้ามา แต่มีช่วงหนึ่งที่โควิดเริ่มเปลี่ยนไปที่การวัดอุณหภูมิอาจไม่ใช่อาการหลัก แต่ฝีดาษลิง การเป็นไข้ถือเป็นอาการหลัก ดังนั้น เครื่องวัดอุณหภูมิจะช่วยคัดกรองได้อันดับแรกๆ รวมทั้งการสวมใส่หน้ากากอนามัย ยังจำเป็นมาก เพราะไม่ใช่ป้องกันโควิด ป้องกันโรคทางเดินหายใจอื่นๆ แต่ฝีดาษลิงก็ยังช่วยได้" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้   หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ยังให้ข้อมูลว่า แม้โรคนี้จะมีความสามารถในการติดต่อจากคนสู่คนได้ แต่การปล่อยเชื้อไม่ใช่ว่า ทุกคนจะติด การแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนยังค่อนข้างต่ำ จึงทำให้ตอบไม่ได้ชัดเจน ว่า เพราะเหตุใดในต่างประเทศจึงมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย พฤติกรรมในการระมัดระวังตัวเองป้องกันตัวสำคัญ สวมใส่หน้ากากอนามัย มีสุขอนามัยที่ดี  เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษา เป็นเพียงการรักษาตามอาการ  อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกังวล ไทยมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อนี้ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ของจุฬาฯ สามารถตรวจไวรัสจากฝีดาษลิงได้ โดยใช้ระยะเวลา 1-2 วัน  

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม : 

-คร.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง 

-แพทย์ผิวหนังเตือนฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิต

-จับตาการระบาดของฝีดาษลิงที่กำลังทับซ้อนการระบาดโควิด

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org