เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ดร.ภก.ณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสมุนไพรไทยที่ช่วยในการดูแลและบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่า สมุนไพรไทยเป็นภูมิปัญญาที่มีมานาน ซึ่งการใช้สมุนไพรรักษาโควิด-19 เป็นการแพทย์ทางเลือก เหมาะกับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว เช่น ยาฟ้าทะลายโจร

เป็นหนึ่งในบัญชียาหลักแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เพื่อรักษาอาการเจ็บคอ ไข้หวัด ประกอบกันมีผลวิจัยเพื่อใช้รักษาโควิดทั้งในไทยและจีน อย่างไรก็ตาม การใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดต้องใช้ขนาดมากกว่าไข้หวัดทั่วไป คือ สารเอนโดรกราโฟไลด์มากกว่า 180 มิลลิกรัมต่อวัน เช่น รับประทานวันละ 4 เม็ด 3 เวลา ทานต่อเนื่องไม่เกิน 5 วัน

ดร.ภก.ณัฐพศุตม์ กล่าวว่า สำหรับสมุนไพรนอกเหนือจากฟ้าทะลายโจรที่ช่วยภูมิต้านทานร่างกาย คือ กระชาย จากการศึกษาในหลอดทดลองพบช่วยลดเชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ถึง 99.5% ขิง ผลทดลองในประเทศจีน อินเดีย พบว่าช่วยป้องกันเชื้อเข้าสู่เซลล์  ลดการอักเสบและเพิ่มภูมิต้านทานได้ และ ขมิ้นชัน ที่น่าสนใจมาก เป็นเครื่องเทศที่เราใช้กันอยู่แล้ว มีการทดลองในต่างประเทศในรูปแบบตำรับยาเข้าสมุนไพร เช่นโกฐจุฬาลัมพา ทั้งนี้ การใช้สมุนไพรอื่นๆ เช่น หอมแดง จะเป็นลักษณะไอหอมระเหยช่วยบรรเทาอาการ แต่ไม่ใช่การรักษา อย่างไรก็ตาม การทำร่างกายให้แข็งแรงเสมอ ด้วยการออกกำลังกาย นอนให้เพียงพอและดื่มน้ำให้มาก เป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค

 

ด้าน นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวว่า สำหรับการนำสมุนไพรเพื่อใช้บรรเทาอาการป่วย เป็นภูมิปัญญาไทยที่มีมาแต่ช้านาน เพราะเป็นสมุนไพรที่หาได้สะดวก หรือปลูกได้เอง เช่น หอมแดง มีสรรพคุณช่วยให้การหายใจสะดวกและโล่งขึ้น เอามาใช้รักษาอาการหวัด ทั้งนี้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำการใช้สมุนไพรในสถานการณ์โควิดโดยมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่ได้แนะนำเพื่อการรักษาโรคโดยตรง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลวิจัยทางคลินิกในการใช้รักษาโรคที่ชัดเจน 

นพ.ฆนัทกล่าวว่า กรณีผู้ป่วยอายุน้อยไม่มีโรคประจำตัว อาการไม่รุนแรง สามารถใช้สมุนไพรเพื่อดูแลตามอาการของโรคได้ เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ช่วยลดอาการไข้หวัด มะขามป้อม ช่วยแก้ไอ เป็นต้น ทั้งนี้ หากผู้ป่วยที่มีอาการมากขึ้นยังมีความจำเป็นในการปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและใช้ยาที่เหมาะสมต่อไป 

"ปัจจุบันแม้ยังไม่มีข้อมูลว่าสมุนไพรตัวใดสามารถรักษาโรคโควิดได้ แต่ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงสามารถใช้สมุนไพรควบคู่หรือเป็นทางเลือกในการบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคโควิดได้" นพ.ฆนัทกล่าว