อธิบดีกรมสุขภาพจิต เผยสาเหตุคนหลงเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ลัทธิประหลาด มาจากพื้นฐานขาดความมั่นคงในจิตใจ มอบศูนย์สุขภาพจิตทั่วประเทศ สื่อสารทำความเข้าใจ ประเมินสภาพจิตพร้อมเยียวยารักษาตรงจุด
กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการหลงเชื่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อ้างตนว่า เป็นเจ้าสำนักพระบิดา หรือการอวดอ้างว่ามีคุณวิเศษ จนทำให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีการหลงเชื่อและกินสิ่งปฏิกูล จนเกิดคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ทำให้คนหลงเชื่อ เป็นเพราะสภาพจิตใจของผู้หลงเชื่ออ่อนแอ หรือมีปัญหาสุขภาพจิตใดที่จะสามารถแก้ไข หรือเยียวยาได้หรือไม่นั้น
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ความรู้ถึงเรื่องนี้ ว่า คนที่มีแนวโน้มเชื่อในสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยพื้นฐาน คือ คนที่ขาดความมั่นคงในจิตใจ ซึ่งอาจเป็นในทุกด้าน หรือบางด้าน เช่น หากถูกชักจูงในเรื่องของสุขภาพ อาจเพราะอยู่ในสภาพของโรคที่หาคำตอบไม่เจอ อย่างบางคนที่อยู่ในกลุ่มที่เชื่อว่า โรคที่ร้ายแรง รักษาไม่หาย เช่น โรคมะเร็ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือเอ็นซีดี เบาหวาน ซึ่งมีรายละเอียดของการดูแล และตนเองไม่สามารถจัดการได้ ก็มีแนวโน้มจะเชื่อสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เพื่อให้รู้สึกว่ามีสิ่งยึดเหนี่ยว มีความหวัง
แต่หากเขาเข้าถึงข้อมูลที่ชัดเจนเพียงพอก็จะมีความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้ ตรงกันข้ามหากอยู่ห่างไกลจากแหล่งข้อมูลที่ดี และไม่ได้มีพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดี จนเกิดความเชื่อถือ เชื่อมั่นก็ยิ่งเกิดข้อจำกัด อีกอย่างสิ่งแวดล้อมของตัวเขาเองก็สำคัญ ถ้าหากมีครอบครัว มีกลุ่มเพื่อน ชุมชนที่เอนเอียงไปกับความเชื่อประจำท้องถิ่น ซึ่งอาจมีมิติของไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ย่อมมีแนวโน้มให้ความเชื่อไปในทิศทางนั้นๆได้
"เมื่อมีองค์ประกอบหลายๆอย่างมารวมกัน พอมีคนที่มีความคมชัดกว่า ผู้ที่หวั่นไหว ไม่มั่นคงก็จะคล้อยตามคนที่แข็งแรง ชัดเจนกว่า มีการตามๆกันไป จริงๆ เราจะเห็นปรากฎการณ์แบบนี้เรื่อยๆ แต่จะรูปแบบแตกต่างกันไป" พญ.อัมพร กล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต มีการลงไปประเมินตั้งแต่ผู้นำความคิดเรื่องนี้ว่า เป็นอย่างไร รวมไปถึงกลุ่มที่เชื่อถือคล้อยตาม เราก็ไปประเมินว่า มีจุดอ่อนอย่างไร พร้อมทั้งประเมินสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ สิ่งสำคัญต้องปกป้องสุขภาพก่อน หากมีผลต่อสุขภาพต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือทั้งกายและใจ ซึ่งปัจจุบันกรมสุขภาพจิต มีศูนย์สุขภาพจิตดูแลทั่วประเทศ โดยหากครอบครัวหรือพบว่าญาติมีข้อกังวล หรือแนวโน้มหลงเชื่อง่ายให้สามารถปรึกษาโรงพยาบาลจิตเวชทุกแห่งได้ ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์สุขภาพจิตคอยสอดส่องดูแลในพื้นที่มาตลอด
เมื่อถามว่า คนที่สามารถชักจูงคนอื่นในทางที่ผิดๆ คนกลุ่มนี้มีปัญหาทางจิตเวชหรือไม่มี พญ.อัมพร กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ต้องประเมิน บางคนก็มีปัญหาทางจิตใจ แต่บางคนก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ สิ่งสำคัญอย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ ต้องหนักแน่น วิเคราะห์แยกแยะให้เป็น
"กรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้ศูนย์สุขภาพจิตทั่วประเทศสอดส่องดูแลปรากฎการณ์ลักษณะนี้ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงทางเลือกในการแก้ปัญหาสุขภาพที่เป็นวิทยาศาสตร์ รวมถึงการประเมินด้านสุขภาพจิต รวมไปถึงปัญหาจิตเวชต่างๆ เพราะผู้เกี่ยวข้องบางส่วนอาจมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตที่ยังไม่ได้รับการประเมินและดูแลรักษา เป็นโอกาสในการดูแลและช่วยให้กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเข้าถึงการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม" พญ.อัมพร กล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : อันตราย! ลัทธิกินอุจจาระ- ปัสสาวะรักษาโรค ส่งผลเสียสุขภาพกาย และจิตใจเข้าขั้นงมงายร่วมหลงผิด)
- 1403 views