องค์การเภสัชกรรม ผลิตน้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ 4 สูตร ใช้แล้ว 3 สูตร ล่าสุดตัวใหม่สูตรที่ 4 สกัดสารเข้มข้น 81 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ใช้ในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ที่ไม่สามารถใช้สูตรสารสกัดแบบเดิมได้ ให้แพทย์เป็นผู้พิจารณา มีเกณฑ์ข้อบ่งชี้การใช้ชัดเจน พร้อมเผยรายชื่อสถานพยาบาลทั้งรัฐ และเอกชน รวมทั้งคลินิกใช้น้ำมันกัญชาผ่านเว็บไซต์องค์การเภสัชกรรม

 

เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวความสำเร็จ “น้ำมันสารสกัดจากกัญชาขององค์การเภสัชกรรมได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร” ซึ่งที่ผ่านมามี 3 สูตร และล่าสุดมีอีก 1 สูตรทางการแพทย์  ว่า  นับเป็นข่าวดีที่องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตน้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ออกมารักษาผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบันให้บริการทั่วประเทศถึง 1,173 แห่ง  โดยอภ.ได้ส่งมอบ ผลิตภัณฑ์น้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ล็อตแรก ให้แก่คลินิกกัญชานำร่องในทุกเขตสุขภาพ  

“เป็นที่น่ายินดีว่าน้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ทั้ง 3 สูตรได้รับการบรรจุเป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564 แล้ว โดยได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงจะช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาสุขภาพได้มากขึ้น แต่ยังจะช่วยให้ประเทศชาติมีความเข้มแข็งทางยา ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาราคาสูงจากต่างประเทศ ได้อีกด้วย” นายอนุทินกล่าว  และว่า ที่สำคัญการรักษาตรงนี้จะอยู่ในสิทธิ์ประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 สิทธิ์การรักษา ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิ์ข้าราชการ

 

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า  อภ.มีการพัฒนาการผลิตและนำผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ทยอยออกสู่ตลาด เพื่อให้แพทย์ของคลินิกกัญชาแผนปัจจุบันโรงพยาบาลภาครัฐ126 แห่ง และโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน 71 แห่ง นำไปใช้กับผู้ป่วย ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้การตอบรับเป็นที่น่าพอใจทั้งจากแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาและผู้ป่วยที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม  

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.)   กล่าวว่า ที่ผ่านมา อภ.ได้ผลิตน้ำมันสารสกัดกัญชาทางการแพทย์  3  รายการ เป็นรูปแบบยาหยดใต้ลิ้น ประกอบด้วย 1.น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC เด่น ใช้เสริมในการรักษาภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง  2. น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD เด่น ตามโครงการของกรมการแพทย์ สำหรับรักษาโรคลมชักในเด็ก และ 3.น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD และTHC สัดส่วน 1:1 ใช้รักษาเสริมในผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดปานกลางถึงรุนแรง 

“ล่าสุด อภ.ได้พัฒนาสูตรที่ 4 ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการใช้น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC เด่น  เนื่องจาก ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องใช้น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC สูงกว่าผลิตภัณฑ์เดิมที่มีความเข้มข้น 13 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย องค์การเภสัชกรรมจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันสารสกัดกัญชาสูตรใหม่ที่มี THC เข้มข้น 81 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เพื่อใช้เป็นการรักษาเสริมในภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้ายที่มีอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการปวดในระดับปานกลางจนถึงรุนแรง” นพ.วิฑูรย์ กล่าว

ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวอีกว่า  สำหรับสูตรที่ 4 ได้ผ่านการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ปัจจุบันคณะอนุกรรมการประเมินรายการยาได้พิจารณาบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร และอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป นับเป็นยาจากกัญชารายการที่ 4 ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ที่ได้บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร  นอกจากนี้ อภ.ยังร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรวม 12 แห่ง ในการเตรียมความพร้อมทางด้านวัตถุดิบ และกำลังการผลิตรองรับการผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากกัญชาและกัญชง ซึ่งขณะนี้ยังสามารถผลิตได้เพียงพอ  

ด้าน ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ อภ. กล่าวว่า โดยหลักการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตามข้อบ่งชี้นั้น ที่ผ่านมาจะใช้อยู่ 2 สูตร คือ 1.น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี THC เด่น และ 2. 3.น้ำมันสารสกัดกัญชาที่มี CBD และTHC สัดส่วน 1:1  แต่ที่ผ่านมามีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่สามารถรักษาตามสูตรดังกล่าวได้ เนื่องจากต้องใช้หลายหยดมาก โดยความเข้มข้นนี้ไม่ได้ ซึ่งขณะนั้นกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ออกน้ำมันสกัดกัญชาสูตรความเข้มข้นสูง แต่ด้วยกำลังการผลิตจึงยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ทาง อภ.จึงมาสนับสนุนช่วยเสริมตรงนี้ โดยสายพันธุ์กัญชาที่นำมาปลูกสามารถสกัดออกมาได้มาก จนได้สูตรที่ 4  ซึ่งมีความเข้มข้นมากกว่าของเดิมถึง 6 เท่า

เมื่อถามว่าแพทย์ที่รักษาจะต้องเลือกใช้อย่างไร ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวว่า แพทย์จะผ่านการอบรมเกณฑ์การใช้ ซึ่งจะใช้ในระดับต่ำก่อนและดูผลตอบลัพธ์เป็นอย่างไร อยู่ทีดุลยพินิจของแพทย์ โดยผู้ป่วยไม่สามารถร้องขอจะใช้สูตรไหนได้ ต้องให้แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งคลินิกที่ผ่านการขออนุญาตใช้ตามกฎหมายได้ ซึ่งการใช้ทาง อภ.จะผลิตตามพรีออเดอร์ ความต้องการใช้ โดยสามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ขององค์การเภสัชกรรม  https://www.gpo.or.th/ ได้ว่า มีสถานพยาบาล หรือคลินิกไหนที่ใช้น้ำมันสกัดกัญชาของ อภ. จะมีการอัปเดตข้อมูลในเว็บไซต์  ส่วนอาการข้างเคียงไม่มาก ส่วนใหญ่มีอาการปากแห้ง คอแห่ง อย่างไรก็ตาม กรณีการใช้สูตรที่ 4 ขณะนี้ยังไม่ได้มีการใช้ในบัญชียาหลักฯ เพราะต้องรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน  

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การเภสัชกรรม มีน้ำมันสารสกัดกัญชาพร้อมจำหน่ายให้แก่สถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาติทั้ง 4 สูตรแล้ว