รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการสธ. ปลาบปลื้ม  "กรมสมเด็จพระเทพฯ" พระองค์ท่านชื่นชมการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุขแก้ปัญหาเด็กไทยขาดสารไอโอดีน   ด้านกรมสุขภาพจิตเผยข่าวดี! ผลสำรวจเด็กไทยประถมศึกษาไอคิวสูงเกินมาตรฐาน อยู่ที่ 102.8 จุด มากกว่าอดีต 4.5 จุด 

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 10 พ.ค.2565 ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน "เดินหน้า สร้างเด็กไทยไอคิวดี"   ว่า วันนี้เป็นการประกาศให้ทุกคนทราบว่า เด็กไทยไอคิวเกิน 100 แล้ว โดยค่าเฉลี่ยของไอคิวชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 อยู่ที่ 102.8 เพิ่มขึ้นกว่าการวัดครั้งก่อนถึง 4.5 จุด ซึ่งตัวเลขเดิมของปี 2559 ไอคิวของเด็กไทยป.1 อยู่ที่ 98.3 จุด ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นระดับมาตรฐานที่ควรเป็น เกินกว่า 100 เป็นครั้งแรก เป็นข่าวดีสำหรับทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาให้เด็ก เป็นข่าวดีสำหรับความมุ่งมั่นก้าวไกลให้มีความยั่งยืนในการพัฒนาเยาวชนของประเทศ ถือเป็นภารกิจสำคัญหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กไทยที่เคยมีไอคิวต่ำกว่ามาตรฐานในปี 2559 ซึ่งพบมากร้อยละ 31.8 ขณะนี้ลดลงเหลือ 1 ใน 3 เหลือเพียงร้อยละ 21 ที่ยังมีไอคิวต่ำกว่ามาตรฐาน ขอให้ทางกรมสุขภาพจิตให้ถือว่า เท่าไหร่ก็ยังเยอะอยู่ ยิ่งทำให้น้อยที่สุด หากทำให้เหลือ 1 เปอร์เซ็นต์ก็ยังถือว่าเยอะ ต้องทำให้เด็กไทยมีไอคิวที่เป็นพื้นฐาน คือ เกินร้อย เพื่อให้การพัฒนาของเขาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือความสำเร็จของระบบการสาธารณสุของไทยในบริบทการดูแลคุณภาพชีวิตของสตรีและเด็ก ทั้งการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์มีคุณภาพ การมีโภชนาการที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้ทรงพระราชทานแนวทาง และพระราโชบายเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขนำไปปฏิบัติในการแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนในเด็ก 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า พระองค์ท่านได้เสด็จมาประชุมที่กระทรวงสาธารณสุขทุกครั้ง เป็นสิริมงคล เป็นความสำคัญอย่างยิ่งของกระทรวงฯ เวลาพระองค์ท่านประชุม ได้มีการรายงานผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย พระองค์ท่านได้เน้นไปในเรื่องที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่า เด็กและเยาวชนของประเทศไทยควรได้รับเกลือไอโอดีนที่มีปริมาณเพียงพอ พระองค์ทรงรับสั่งว่า ไม่เช่นนั้นจะเป็นโรคเอ๋อ จะเป็นปัญหาในการพัฒนาประเทศ เป็นภาระผู้ปกครอง จึงต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  และการที่กระทรวงสาธารณสุขได้ถวายรายงาน สรุปผลดำเนินงานของกระทรวงในช่วงปีที่ผ่านมา 

"สิ่งที่เป็นมงคลชีวิตสูงสุด คือ พระองค์ท่านได้กล่าวชื่นชม เพราะเห็นตัวเลขที่ดีขึ้น หากพูดภาษาชาวบ้านคือ พวกเรารับคำสั่งท่านไป และนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่รับไปแล้วเฉยๆ ให้ให้ความสำคัญ ซึ่งพระองค์ท่านเห็นความตั้งใจ ความใส่ใจของพวกเราต่อพระราชดำรัสของท่าน ซึ่งผมเห็นได้ว่า พระองค์ท่านกล่าวชื่นชมด้วยความพอพระทัย" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากนี้ ตนยังนำกราบทูลไปในการประชุมว่า เนื่องจากพระองค์ท่านมีพระราโชบายมาแล้ว และในปีนี้กระทรวงฯ ได้ใช้ความทุ่มเทของอสม.มาตลอด โดยเฉพาะโควิด อสม.มีความใกล้ชิดกับชาวบ้านมากขึ้น จึงขอให้ทางกรมสุขภาพจิตและกรมอนามัยได้ร่วมกันในการเพิ่มความรอบรู้ด้านไอโอดีนแก่อสม. เพื่ออธิบายต่อกับชาวบ้านให้ทราบความสำคัญ และให้เด็กๆได้รับสารไอโอดีนเพียงพอ ซึ่งพระองค์ท่านเห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า  การสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ฐานะการเงินของพ่อแม่ที่เลี้ยงเด็กในครอบครัวที่มีความพร้อม เด็กจะมีไอคิวถึงเกณฑ์มากกว่า ซึ่งตรงนี้เพราะเด็กเข้าถึงอาหาร คุณภาพชีวิตมากขึ้น แต่จริงๆ เรื่องนี้ไม่ใช่ว่า  เงินเท่านั้นจะซื้อได้ อย่างการรับสารไอโอดีนที่ดี ได้รับสภาพแวดล้อมที่ดี ได้รับความรู้ความเข้าใจการดำรงชีวิตที่ดี เพราะเรื่องนี้อยู่ในภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว ทั้งกรมอนามัย กรมสุขภาพจิต สปสช. หน่วยงานต่างๆ ต้องทำหน้าที่ตรงนี้ ความจนความรวยไม่สำคัญ สิ่งสำคัญต้องทำให้เด็กทุกคนที่เกิดมา ไม่ว่าฐานะรวยหรือจน ต้องได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างเด็กเกิดมาไม่รู้หรอกว่ารวยหรือจน เป็นผ้าขาว อยู่ที่เราให้พวกเขา ไม่ใช่ว่าต้องรวยถึงได้เปรียบคนอื่น อย่างหลายคนมีฐานะร่ำรวย ท้ายที่สุดลูกนำความเสื่อมเสียยังมี ดังนั้นเรื่องพวกนี้อยู่ที่การฟูมฟักเลี้ยงดู และระดับนโยบาย

"ผมไอคิวคงต่ำกว่าร้อย แต่อาศัยมาทำงานอยู่กระทรวงสาธารณสุข จึงเพิ่มไอคิวมาเล็กน้อย ตอนนี้สามารถประเมินสถานการณ์ต่างๆได้ วิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆได้ อยู่กระทรวงฯ รู้สึกฉลาดขึ้นมาเยอะ คิดได้รวดเร็วขึ้น ที่สำคัญไอคิวอย่างเดียวไม่พอ เก่งแค่นั้นหน้าดำคร่ำเครียดจะไปไอซียูได้ อาจเจอโรคอื่นๆ เครียด ความดันสูง จึงต้องมีอีคิวด้วย มีสภาพอารมณ์ สภาพจิตใจที่ดี กระทรวงฯมองทุกอย่างเป็นส่วนรวมก็จะฟันฝ่าอุปสรรคได้ กระทรวงฯผ่านเหตุการณ์มาไม่รู้เท่าไหร่ โดยเฉพาะวิกฤตโรคระบาด ตั้งสติร่วมมือกันทำงานก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง" นายอนุทิน กล่าว

 

รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ. ให้สัมภาษณ์เพิ่มกรณีผลสำรวจเด็กในครอบครัวที่มีความพร้อมจะทำให้เด็กมีไอคิวถึงเกณฑ์มากกว่า ว่า ผลสำรวจตรงนี้เมื่อมาถึงกระทรวงฯ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มองว่าไม่ได้ จนรวยไม่เกี่ยว การพัฒนาสมองคนต้องพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องหาวิธีว่า จะทำอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำของฐานะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพัฒนาเยาวชนของชาติ ซึ่งทำได้ โดยการทำให้สังคมมีสุขภาพที่ดี  พ่อแม่มีสุขภาพกายจิตดีเอาใจใส่เยาวชน ร่วมมือกับหน่วยงานราชการ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ฯลฯ ต้องช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลสำรวจระดับไอคิวเด็ก ป.1 ประจำปี 2564 พบว่า ค่าไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 102.8 ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน 100 แต่ยังพบต่ำกว่าเกณฑ์ปกติหรือไอคิวต่ำกว่า 90 ประมาณ 21.7% ซึ่งไม่ควรเกิน 25% และอยู่ในเกณฑ์บกพร่องหรือไอคิวต่ำกว่า 70 ประมาณ 4.2% ซึ่งไม่ควรเกิน 2.2%

สำหรับจังหวัดที่มีไอคิวเฉลี่ยมากกว่า 100 มีจำนวน 36 จังหวัด คิดเป็น 47% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่พบ 12 จังหวัด คิดเป็น 16% โดย กทม.มีไอคิวเฉลี่ยสูงสุด 112.6 ตามด้วยหนองคาย 109.4 , ปราจีนบุรี 108.3 , อุตรดิตถ์ 108.2 , นนทบุรี 108.2 และจันทบุรี 108.2 ส่วนที่มีไอคิวเฉลี่ยต่ำสุด คือ ยะลา 93.4 อย่างไรก็ตาม มีจำนวน 8 จังหวัดที่ไม่สามารถลงพื้นที่สำรวจได้ และไม่ได้วัดค่าไอคิวเฉลี่ย ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ตรัง และพัทลุง