นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอให้ผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ทุกคนเข้าสู่ระบบการรักษาตามระดับอาการหรือลงทะเบียนในระบบ Home Isolation พร้อมเตือนอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ขณะนี้มีการแอบอ้างมาจากหน่วยงานสาธารณสุข โทรหาผู้ป่วยเพื่อขอข้อมูลส่วนบุคคลหรือให้โอนเงิน หากพบกรณีเช่นนี้ อย่าให้ข้อมูลส่วนบุคคล เพราะอาจถูกมิจฉาชีพนำไปสวมรอยทำธุรกรรมสูญเสียทรัพย์สิน หรืออาจถูกนำไปก่ออาชญากรรมอื่น ๆ ได้ ซึ่งจะทำให้เดือดร้อนหรือยุ่งยากภายหลัง จึงฝากให้ทุกคนระมัดระวังทั้งด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิต ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนให้ประวัติหรือข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ๆ รวมทั้งเตือนผู้ที่คิดหาประโยชน์ อย่าซ้ำเติมผู้ป่วย และการหลอกหลวงใช้ข้อมูลบุคคลอื่นเป็นความผิดทางกฎหมายและมีโทษทางอาญาด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า ได้รับการชี้แจงจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) หรือจากสายด่วน สปสช. 1330 ว่า จะโทรหาประชาชนเฉพาะในกรณีเมื่อบุคคลนั้นลงทะเบียนเข้ารับการดูแลในระบบ Home Isolation การโทรหาผู้ป่วยก็จะไม่สอบถามข้อมูลส่วนบุคคลเนื่องจากได้รับแจ้งข้อมูลผู้ป่วยตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนแล้ว ดังนั้น อย่าได้ให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับคนที่อ้างโทรมาจาก สปสช. รวมไปถึงหากพบมีการแจ้งให้โอนเงินไม่ว่าจะกรณีใด ๆ อย่าได้หลงเชื่อโดยเด็ดขาด
ด้านนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน หรือพม.โพล หัวข้อ “Feedback สังคมไทย ต่อภัย COVID-19” ซึ่งพม.ร่วมกับนิด้าโพล สำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 4,400 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับผลกระทบที่ได้รับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 แบ่งเป็น 6 ประเด็น ประกอบด้วย
1) ผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ พบว่า ร้อยละ 72.23 เรียนไม่เข้าใจ ไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนลดลง ร้อยละ 67.77 เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต และร้อยละ 48.41 ผู้ปกครองมีภาระเพิ่มขึ้นในเรื่องการเรียนการสอน 2) รูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ต้องการมากที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การเรียนการสอนแบบเรียนในสถานศึกษา และเสนอแนะว่าถ้ามีการเรียนแบบออนไลน์ควรปรับลดเวลาเรียน เนื้อหา และการบ้าน เพื่อลดความเครียดของนักเรียน ควรมีการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์และค่าอินเตอร์เน็ต รวมทั้งลดค่าเทอมหรือไม่เรียกเก็บค่าเทอม 3) การได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า ร้อยละ 74.02 ได้รับผลกระทบ โดยผลกระทบ 3 อันดับแรก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ต้องนำเงินเก็บ เงินออมมาใช้จ่าย และ การประกอบอาชีพยากลำบาก เช่น ขายของยากขึ้น
4) การปรับตัวทางด้านการเงิน พบว่า ร้อยละ 87.36 มีการปรับตัว โดยร้อยละ 77.86 มีการประหยัดค่าใช้จ่าย ร้อยละ 50.60 หารายได้เพิ่ม และร้อยละ 31.04 นำเงินออมออกมาใช้จ่าย โดยมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ลดราคาน้ำมัน ลดภาษีหรือลดภาระค่าใช้จ่าย ลดดอกเบี้ย เร่งให้มีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ขยายระยะเวลาโครงการคนละครึ่ง เพิ่มราคาสินค้าทางการเกษตร เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 5) เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต 3 อันดับแรก ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาล้างมือบ่อยขึ้น เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน รูปแบบการประกอบอาชีพ และ ต้องปรับรูปแบบการเรียนเป็นแบบออนไลน์
6) เรื่องที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ร้อยละ 20.25 ลดค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าวัสดุอุปกรณ์ในการศึกษา อันดับ 2 ร้อยละ 19.67 การเข้าสู่กระบวนการรักษาที่สะดวกและรวดเร็ว และอันดับ 3 ร้อยละ 16.73 การจัดหาอุปกรณ์ตรวจเชื้อ ATK เครื่องวัดไข้ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์
ปลัดกระทรวงพม.กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวง พม. มีนโยบายสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบางรายครัวเรือน โดยการบูรณาการความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายทั้ง 5 มิติ อาทิ มิติความเป็นอยู่ รายได้ การศึกษา สุขภาพ และการเข้าถึงบริการของภาครัฐ รวมถึงที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม หากพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 และประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม สามารถขอความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
- 216 views