เนื่องใน “วันรามาธิบดี” 3 พ.ค. 2565 ซึ่งเข้าสู่ปีที่ 54 ปีของการเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ตอกย้ำการผลักดันแนวคิดต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ยุคใหม่ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งและก้าวสู่โรงพยาบาลแห่งอนาคต

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า กว่า 50 ปีแล้วที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีพันธกิจมากกว่าโรงพยาบาลทั่วไป เพราะนอกจากจะดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยมากกว่า 2.3 ล้านคนต่อปี ยังเป็นสถานที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ศาสตร์บัณฑิต พยาบาล วิทยาศาสตร์การแพทย์แขนงอื่นๆ อีกหลายสาขา ที่สำคัญผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนกว่า 400 คนต่อปีไปช่วยประชาชนทั้งประเทศ เป็นองค์กรที่สร้างองค์ความรู้จากการวิจัยทั้งในระดับวิทยาศาสตร์การแพทย์นานาชาติหรือในประเทศ

ล่าสุดได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติประจำปี 2564 “การบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม” จากการสร้างนวัตกรรมในด้านการเรียนการสอน หลักสูตรต่างๆ และงานวิจัยที่ออกไปเป็นผลผลิตในการนำไปรักษาพยาบาลจริง รวมไปถึงนวัตกรรมการให้การรักษาพยาบาล การปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆและรูปแบบการรักษาแนวใหม่ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งเป็นทิศทางในการพัฒนาระบบสุขภาพในอนาคต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้านหลักๆ

นวัตกรรมด้านการศึกษา

ศ.นพ.ปิยะมิตร เผยว่าในยุคที่ต้องเรียนข้ามศาสตร์ ได้มีการจัดทำหลักสูตรแบบไฮบริดเพื่อตอบสนองความสามารถและความสนใจที่หลากหลายของนักศึกษาแพทย์ โดยการผลิต “แพทย์นวัตกร” คือเรียนแพทยศาสตรบันฑิตควบคู่ไปกับวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต ใช้เวลา 7 ปีได้ปริญญา 2 ใบ

“เราพบว่ามีแพทย์จำนวนมากในการสร้างนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นเครื่องแพทย์รุ่นใหม่ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในด้านการแพทย์ในด้านต่างๆ หรือมีคนที่อยากเรียนวิศวะแต่ก็อยากเรียนแพทย์ด้วยเลยเปิดหลักสูตรนี้ขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว หลังจากจบจะได้แพทย์ศาสตร์บันฑิตและวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตด้วย เราเชื่อว่าคนเหล่านี้จะกลายไปเป็นนวัตกรผลิตงานวิจัยดีๆ รวมไปถึงอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ออกมา”

นอกจากนี้ยังมีหลักสูตร “แพทย์นักบริหาร” เพื่อส่งเสริมให้แพทย์มีทักษะและความพร้อมในการบริหารจัดการโรงพยาบาล และองค์กรด้านสาธารณสุขตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศ และ “นักฉุกเฉินการแพทย์ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา – Sport Paramedic” เป็นหลักสูตรร่วมระหว่างภาควิชาฉุกเฉินการแพทย์ และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา

“เป็นหลักสูตรที่มีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของประชาสังคมตามความสนใจของผู้เรียนในปัจจุบัน หลักสูตรเหล่านี้สมัยนี้จะเป็น self-customized เรียนจบเหมือนกันแต่อาจมีวิชาเลือกที่แตกต่างกันได้มากเพราะความชอบไม่เหมือนกัน เป็นนวัตกรรมการสอนในยุคปัจจุบัน”

นวัตกรรมด้านการวิจัย

ขณะเดียวกันในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรักษาที่ซับซ้อน มีงานวิจัยที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างเช่น ยีนบำบัด (Gene Therapy) คือการรักษาด้วยการตัดต่อยีนในผู้ป่วยที่เป็นธาลัสซีเมีย โดยสามารถเอาสเต็มเซลล์ของคนที่ป่วยด้วยโรคนี้มาตัดต่อยีนแล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ทำให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นเม็ดเลือดที่ปกติ รวมไปถึงการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ที่ทำสำเร็จไปแล้ว 2 รายและสามารถพัฒนาต่อไป

นอกจากนี้การวิจัยด้านนวัตกรรมสร้างอวัยวะเทียมที่มีชีวิต (Tissue Regeneration) ซึ่งทำให้เกิดการผลิตกระดูกเทียมเยื่อหุ้มสมองเทียม การรักษาโรคด้วยเม็ดเลือดขาวซึ่งกระตุ้นภูมิต้านทานต่อเซลล์มะเร็ง การปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ตับ และไต สำหรับไตได้ ดำเนินการไปแล้วกว่า 2.9 พันราย ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย การปลูกถ่ายอวัยวะตับจากพ่อแม่สู่ลูกที่มีภาวะตับวาย โดยทำสำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย เปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมโดยไม่ต้องผ่าตัด และนวัตกรรมรักษาลิ้นหัวใจรั่วด้วยการใช้คลิปหนีบ เป็นต้น

“สมัยก่อนถ้าลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว เราต้องตัดกระดูกกลางหน้าอกแล้วทำให้หัวหยุดเต้น ต้องต่อเครื่องปอดหัวใจเทียม หลังจากเสร็จก็ต้องทำให้หัวใจกลับมาเต้นใหม่และให้ปอดหัวใจเทียมหยุดทำงานมันถึงจะกลับมาทำงานได้ แต่วิวัฒนาการทางด้านการรักษาปัจจุบันก้าวหน้าไปเยอะ มีการใช้ลิ้นเทียมสอดใส่เข้าทางเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ขา เข้าไปถึงตัวหัวใจกลายเป็นลิ้นตัวใหม่เข้าไปดันแทนลิ้นตัวเก่าออกไปโดยไม่ต้องผ่า อยู่โรงพยาบาลแค่ 1-2 วันก็กลับบ้านได้” ศ.นพ.ปิยะมิตร อธิบาย

นั่นทำให้การรักษาโรคจำนวนมากมายในปัจจุบันสามารถรักษาแบบไม่ต้องผ่าเปิดใหญ่โตหรือทำให้หัวใจหยุดเต้น โดยมีการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้สามารถรักษาในโรงพยาบาลอื่นๆ ได้ รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงพยาบาลจังหวัดขนาดใหญ่หลายๆ สามารถเปลี่ยนไตได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขยายผลการดูแลประชาชนครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

นวัตกรรมด้านการรักษาพยาบาล

อย่างที่ทราบกันดีว่าโรงพยาบาลรามาธิบดีมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมากและมีความท้าทายในเชิงระบบ จึงมีแนวคิดส่งเสริมแนวทางการรักษาโรคและดูแลสุขภาพยุคใหม่ด้วยการรักษาตัวที่บ้านได้ ได้แก่ ระบบการให้บริการผู้ป่วยนอกผ่าน Telemedicine ซึ่งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นผู้นำด้านนี้ รวมถึงนวัตกรรมเคมีบำบัดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งปกติจะต้องมารอคิวให้ยาแต่บางครั้งมาแล้วเตียงไม่ว่างต้องรอไปเรื่อยทำให้การรับเคมีบำบัดล่าช้า

“เป็นการเอายาใส่ลูกยางแล้วลูกยางค่อยๆหดรัดตัวเอาเข้าไปในเส้นเลือดได้ เพียงแต่จัดการใส่สายเข้าไปในหลอดเลือดให้คนไข้มารับยาแล้วกลับบ้านได้ เราพบว่าวิธีการนี้ทำให้คนไข้ได้รับยาตรงเวลาและผลการรักษาดีขึ้น จึงขยายผลการรักษาเคมีบำบัดแบบนี้ไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ เป็นวิธีที่มีประโยชน์มาก”

 คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า นี่อาจจะไม่ใช่นวัตกรรมที่ไฮเทคมากแต่เป็นไฮทัช เป็นระบบบริหารจัดการที่จะทำให้เตียงในโรงพยาบาลช่วยคนได้เยอะขึ้น ขณะเดียวกันคนไข้มะเร็งได้รับยาตรงเวลาโดยไม่ต้องรอว่าเตียงว่างหรือยัง มีคิวหรือไม่ สามารถตัดปัญหาหลากหลายออกไป ที่สำคัญประหยัดงบประมาณลงได้เยอะและเอาไปช่วยผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นอีก

โครงการและการพัฒนาในอนาคต

นอกจากเรื่องของนวัตกรรมแล้ว ศ.นพ.ปิยะมิตร ยังเผยด้วยว่ารามาธิบดีเตรียมสร้างศูนย์ขนาดใหญ่เพื่อผลิตบุคลากรที่จะออกไปดูแลผู้สูงอายุ เพราะอยากให้มีเวลาอยู่กับลูกหลายที่บ้าน โดยที่มี caregiver ออกไปช่วยดูแล โดยศูนย์การเรียนรู้นี้อยู่ที่จักรีนฤบดินทร์ สร้างผู้เชี่ยวชาญในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตร

นอกจากนี้ยังได้จับมือกับกรมธนารักษ์ ทำที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่แข็งแรงดี สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ในชื่อ “รามาธนารักษ์” ในรูปแบบคอนโดอยู่ได้ 30 ปีประมาณ 900 ยูนิต เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปพร้อมดูแลสุขภาพโดยรามาธิบดี ร่วมกับการจัดกิจกรรมและอาชีพไม่ให้รู้สึกเหงา รวมทั้งโครงการ Nursing Home สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วย ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ อีก 500 ยูนิต ซึ่งจะเป็นจุดที่ใช้ทำวิจัย สร้าง  caregiver และทำให้เกิดการดูแลแบบครบวงจรขึ้นที่นั้น เป็นลักษณะธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ขณะเดียวกันเร็วๆนี้จะมีการสร้างตึกให้บริการเพิ่มชื่อว่า รามาธิบดีศรีอยุทธยา บริเวณโรงพยาบาลเดชาเดิมติดกับสถานีรถไฟฟ้าพญาไท สูง 24 ชั้นเชื่อมต่อรถไฟฟ้าพญาไทและแอร์พอร์ตลิ้ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับการดูแลรักษา คาดจะเปิดให้บริการปลายปีหน้า