กรมการแพทย์ปรับแนวทางเวชปฏิบัติฯ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ฉบับล่าสุด 22 เม.ย. 65 กำหนดการให้ยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ในกลุ่มอาการรุนแรง จากเดิมต้องอายุ 60 ปีขึ้นไป ปรับเป็นอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนอายุ 60 ปีเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง ชี้หากมีปัจจัยเสี่ยงร่วม 2 อย่าง ร่วมกับไม่ฉีดวัคซีนกระตุ้นให้สามารถรับยาได้

 

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวทางเวชปฏิบัติฯ สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขฉบับปรับปรุงล่าสุด ว่า ขณะนี้ได้มีการปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขฉบับปรับปรุง ณ  วันที่ 22  เมษายน 2565   โดยความร่วมมือของคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ และผู้แทนทีมแพทย์ที่ปฏิบัติหน้างาน ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ได้ทบทวนและปรับแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วย ตามข้อมูลวิชาการในประเทศ และต่างประเทศ

โดยการรักษาตามแนวทางล่าสุดนี้ยังเน้นว่า กลุ่มที่ไม่มีอาการก็จะเหมือนเดิม คือ ไม่ต้องกินยา  หรือพิจารณายาฟ้าทะลายโจร ขึ้นอยู่กับแพทย์วินิจฉัย ส่วนกลุ่มที่มีอาการแต่ไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วมใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ลดอาการได้ ซึ่งข้อมูลการศึกษาจากศิริราชชัดเจนว่า ฟาวิฯ ช่วยได้ แต่เป็นแค่การลดอาการ แต่ในกลุ่มเสี่ยง และหากมีอาการค่อนข้างรุนแรงก็สามารถใช้เรมดิซิเวียร์ (remdesivir)ซึ่งเป็นยาแบบฉีด และมียาโมลนูพิราเวียร์  รวมทั้งยังมีแพกซ์โลวิด (Paxlovid) โดยต้องประเมินจากปัจจัยเสี่ยงหรือไม่

“หากมีปัจจัยเสี่ยงเกิน 2 ตัว สามารถให้ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด ตัวใดตัวหนึ่งได้ เพราะลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิต แต่หากเป็นปอดอักเสบแล้ว มาถึงแล้วอาการรุนแรงแล้ว ยา 2 ตัวนี้ก็ไม่ได้ช่วย เพราะงานวิจัยระบุว่า ให้ใช้ในกลุ่มที่เริ่มมีอาการ หรือมีอาการ และห้ามใช้ในเด็กและหญิงตั้งครรภ์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวทางฉบับปรับปรุงล่าสุดมีอะไรแตกต่างจากฉบับเดิม นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า  ฉบับปรับปรุงจะเปิดกว้างขึ้น โดยเดิมการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด จะต้องมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป แต่แนวทางเวชปฏิบัติอันใหม่ปรับลดลง โดยให้กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง คือ ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป แต่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 2 ข้อ ร่วมกับฉีดวัคซีนไม่ครบ คือ ไม่ได้ฉีดวัคซีนกระตุ้นก็สามารถรับยา 2 ตัวนี้ได้

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์ชี้สถานการณ์เตียงโควิดหลังสงกรานต์ 1 สัปดาห์ยังรับได้ รอประเมินตัวเลขชัดเจนสิ้นเดือน เม.ย.นี้)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแนวทางเวชปฏิบัติฯ หรือ CPG COVID-19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 22  วันที่ 22 เม.ย.2565 มีการปรับแนวทางประเด็นต่างๆ ดังนี้

1.ปรับแนวทางการดูแลรักษาในกลุ่มผู้ไม่มีอาการ กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย กลุ่มที่มีอาการปานกลาง และกลุ่มอาการรุนแรง

2.เพิ่มข้อบ่งชี้ในการใช้ยาต้านไวรัส และยาอื่นๆ

3.ปรับตารางการให้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยกลุ่มที่ 3

4.ปรับการวินิจฉัยและการรักษาเบื้องต้นของผู้ป่วยเด็กที่สงสัยกลุ่มอาการ MIS-C

ติดตามรายละเอียด ได้ที่ https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=169

ภาพจากกรมการแพทย์

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org