เปิดตัวอย่างเป็นทางการกับ "ThaiHealth Academy" หรือ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานภายใต้ สสส. กับบทบาทพัฒนาหลักสูตรบุคคลสู่สุขภาวะที่ดีด้านต่างๆ ทั้งการสื่อสาร การพัฒนาศักยภาพการทำงานยุคโควิด-19
เปิดตัวอย่างเป็นทางการกับ "ThaiHealth Academy" หรือ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 บริเวณชั้น 34 อาคาร SM Tower เขตพญาไท กรุงเทพฯ โดยสถาบันดังกล่าว นับเป็นอีกหน่วยงานภายใต้ระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยการจัดตั้งและการบริหารสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2563 ประกาศเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy มีบทบาทหน้าที่อย่างไร และแตกต่างจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างไร...
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. อธิบายภายในงานเปิดตัว สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ OPEN HOUSE: ThaiHealth Academy เป็นทางการครั้งแรก ว่า ThaiHealth Academy จัดตั้งขึ้นด้วยเหตุผลสองประการสำคัญ คือ 1. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาพให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของ สสส. ในการสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถ (Competency Development) ของภาคีเครือข่าย สสส. ในฐานะหุ้นส่วนสำคัญ (Partner) ที่ร่วมขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะในประเทศ และ 2. มุ่งขยายฐานผู้รับประโยชน์ไปยังกลุ่มบุคคล หน่วยงาน และองค์กรภาคสังคมต่างๆ ตลอดจนภาคเอกชน ในการสร้าง “นักสร้างเสริมสุขภาพมืออาชีพ” ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการก่อให้เกิดสังคมสุขภาวะทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
ดร.สุปรีดา กล่าวอีกว่า ในปี 2565 มีการพัฒนาหลักสูตรตามสมรรถนะหลักที่จำเป็นในการขับเลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Core Competency) การจัดอบรมพัฒนาศักยภาพ จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การประชุมวิชาการ ตลอดจนให้บริการทางวิชาการ ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ และการสร้างพันธมิตรความร่วมมือเพื่อการขยายหลักสูตรหรือขยายฐานกลุ่มเป้าหมายผู้รับประโยชน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเกิดหลักสูตร งานพัฒนาศักยภาพภาคี 21 หลักสูตร งานพัฒนาหลักสูตร หน่วยงานภายนอก 30 หลักสูตร มีผู้ได้รับประโยชน์เข้าร่วมอบรมจำนวนกว่า 2,600 ราย
"สสส. มุ่งหวัง ที่จะเห็นสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ คือ พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบ สามารถพัฒนาขีดความสามารถ และยกระดับภาคีเครือข่ายให้เป็น “นักสร้างเสริมสุขภาวะมืออาชีพ” และได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ" ผู้จัดการ กองทุน สสส.กล่าว
รศ. ดร.นพ. นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ อธิบายเพิ่มว่า สถาบันฯ มีทิศทางและยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ชัดเจน เป็นองค์กรรูปแบบกึ่งธุรกิจที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยเรามุ่งพัฒนาศักยภาพบุคคล คนที่ทำงานด้านสุขภาวะทั้งหลายให้สามารถทำงานด้านนี้อย่างมีความสุข และสามารถเปลี่ยนสังคมให้มีสุขภาวะมากขึ้น ซึ่งเรามีหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพคนเป็นสำคัญ ทั้งการทำงานในทีม ทำงานนโยบาย การประสานงานระดับกว้าง และสิ่งสำคัญเราต้องการให้สังคมดีขึ้น
"อย่างช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา เราได้จัดทำหลักสูตรพัฒนาบุคคลเกี่ยวกับ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) ซึ่งจัดทำเป็นหลักสูตรออนไลน์ มีอาสาสมัครในชุมชนมาสมัครเรียนหลักสูตรนี้ และยังได้ร่วมกับมูลนิธิดูแลเด็ก เรามีหลักสูตรพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้สามารถดูแลผู้ป่วย ไม่เพียงแต่ใน CI แต่ในชุมชนด้วย ซึ่งเราอบรมแบบ ZOOM และยังมีการติดตามผ่านกรุ๊ปไลน์อีกด้วย นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีหลักสูตรผลักดันด้านนโยบายให้สื่อออกไปได้จริงๆ เพื่อให้งานส่งผลระยะกว้างด้วยเช่นกัน" ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายการทำงาน บุคลากรที่ทำงานในสถาบันฯ เรามี 15 ตำแหน่งในการขับเคลื่อน ซึ่งเราไม่ได้มุ่งเน้นคนมาก แต่เรามุ่งเน้นศักยภาพและความร่วมมือในวงกว้างเพื่อให้เกิดผลของงานอย่างวงกว้าง และมีประสิทธิภาพ
รศ. ดร.นพ. นันทวัช กล่าวว่า นอกจากเราจะมีการอบรมหลักสูตรต่างๆแล้ว เรายังมีศึกษาดูงานในพื้นที่ มีการถอดความรู้เพื่อกระจายวงกว้าง โดยเราจะไปสกัดความรู้นั้นออกมาว่า ทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จและนำมาเผยแพร่เพื่อขยายฐานให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด ที่สำคัญใครที่อบรมกับเรา เรายังติดตามผลการอบรมไปอย่างน้อยอีก 1 ปี รวมทั้งจะมีการจัดประชุมวิชาการระดมคนที่อบรมกับทางสถาบันฯ ว่า ได้ประโยชน์อะไร อย่างไร
หลักการพื้นฐานที่ สสส. วางไว้เป็นต้นแบบในการพัฒนาองค์ความรู้ คือ 5+2 Core Competency ประกอบไปด้วย 5 สมรรถนะหลัก คือ การสร้างเสริมสุขภาวะ, การบริหารโครงการสุขภาวะ, การสื่อสารเพื่อสังคมสุขภาวะ, การสร้างและบริหารเครือข่าย, ผู้นำและทักษะในการจัดการในงานสุขภาวะ และอีก 2 สมรรถนะ คือ การจัดการความรู้ และการจัดการความยั่งยืน
"เราวางเป้าหมายว่า ใน 1 ปีแรกต้องทำให้คนรู้ว่าเราทำงานด้านพัฒนาศักยภาพบุคคลด้านการสร้างเสริมสุขภาวะ และก่อให้เกิดประโยชน์จริง โดยช่วง 1-5 ปีแรกจะเน้นการทำงานภายในประเทศ และหลังจากนั้นจะร่วมมือกับประเทศต่างๆ ที่มีหน่วยงานด้านสร้างเสริมสุขภาวะ โดยพิจารณาว่า ของไทยจะขยายฐานได้หรือไม่ หรือของเขาหากมีอะไรดีๆ มาร่วมมือกันได้หรือไม่ ซึ่งจะเน้นร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนขยายไปทั่วโลก สิ่งสำคัญ คือ เราต้องการให้เกิดนักเปลี่ยนแปลงสังคม ทำให้โลกมีสุขภาวะมากขึ้น" ผอ.สถาบันฯ กล่าวทิ้งท้าย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 563 views