เปิดมุมมองอาจารย์แพทย์ และนักศึกษาแพทย์ extern หรือนศพ.ปี 6 ที่จะจบและเป็น "หมอจบใหม่" และต้องจับสลากเลือกโรงพยาบาลใช้ทุน กับข้อคิดเห็นเกณฑ์การคัดเลือกการใช้ทุน ควรปรับเปลี่ยนอย่างไร พร้อมข้อเสนอถึงที่ประชุม Consortium วันที่ 24 มี.ค. นี้ ช่วยรับฟังอนาคตนิสิตนักศึกษาแพทย์

หลังจาก Hfocus มีการนำเสนอข่าวกรณีอาจารย์แพทย์ห่วงใยปมการเลือกนักศึกษาแพทย์จบใหม่ ด้วยวิธีการจับสลากเลือกโรงพยาบาลใช้ทุน ปรากฎว่า หลังจากมีการจับสลากเลือกโรงพยาบาลใช้ทุน 3 รอบ ปรากฎมีนักศึกษาที่ไม่ผ่านการจับสลากทั้ง 3 รอบ และกำลังกังวลว่า รอบต่อไปจะมีการดำเนินการอย่างไร ล่าสุดนพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เผยว่าจะมีการเสนอจับสลากรอบพิเศษ ส่วนกำหนดวันที่เท่าไหร่นั้น ต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ หรือ Consortium วันที่ 24 มี.ค.2565 นี้

อย่างไรก็ตาม Hfocus ได้พูดคุยกับอาจารย์แพทย์ที่มีข้อห่วงใยประเด็นการคัดเลือกนักศึกษาแพทย์จบใหม่ที่ต้องใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ ทำให้นักศึกษาแพทย์จำนวนมากสับสน และเกิดข้อกังวล

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการนิติเวชศาสตร์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเรื่องนี้ ว่า จากประเด็นที่มีน้องนักศึกษาแพทย์ extern ซึ่งเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 6 ที่ต้องจับสลากเลือกโรงพยาบาลใช้ทุน และกลุ่มนี้เลือกใช้ทุนกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยได้ทำการจับสลากเลือกโรงพยาบาลมาแล้วทั้ง 3 รอบ ปรากฎว่า ยังจับสลากไม่ได้ และกังวลว่า จะมีการเปิดรอบพิเศษเมื่อไหร่ ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการเสนอเข้าที่ประชุม Consortium วันที่ 24 มี.ค.2565 นี้ ก็ต้องรอมติที่ประชุมว่าจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่อยากสื่อสารกับทางกระทรวงสาธารณสุข และที่ประชุม Consortium คือ ตนเข้าใจและเห็นด้วยว่าเราไม่ต้องบรรจุให้แพทย์เป็นข้าราชการทุกคน เพราะสาขาวิชาชีพทางสาธารณสุขที่สำคัญอื่นๆ ก็ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการทุกคน แต่ปีนี้การเปลี่ยนระบบ กะทันหันเกินไป น้องนักศึกษาแพทย์ที่คิดมาตลอดว่า จะได้บรรจุเป็นข้าราชการตอนใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งพวกเขาคิดแบบนี้ตั้งแต่เข้าเรียนปีที่ 1 แต่กลับพึ่งรับรู้เรื่องที่อาจไม่ได้บรรจุตอนเกือบปลายๆ ปี 2564 เพราะหลายคนตั้งแต่เลือกใช้ทุนกับกระทรวงสาธารณสุข จึงมีความหวังตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เรียน

"ดังนั้น การเปลี่ยนระบบแบบควรมีการแจ้งกันก่อนตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนแพทย์ด้วยซ้ำ หรืออย่างน้อยต้องอธิบายก่อนที่ขึ้นชั้นคลินิก เพื่อน้องๆ จะได้มีการเตรียมตัว หรืออีกประเด็นอยากให้มีการพูดคุยเรื่องนี้กับน้องที่สมัครใหม่ด้วย หรืออาจต้องทำสัญญาให้ชัดเจนกับน้องที่มาใหม่เข้าใจเรื่องนี้"

 

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์

 

ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าวอีกว่า กรณีเลือกสถานที่ใช้ทุน ล่าสุดถ้าตามกระทรวงประกาศ คือ คนที่ได้บรรจุในรอบ 1 จะมีสิทธิเลือกสถานที่ใช้ทุนก่อน รอบ 2 และรอบ 3 ตามลำดับ ตนไม่เห็นด้วย เพราะเราคัดทุกรอบโดยการสุ่ม มันทำให้คนที่ดวงไม่ดีไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งๆ ที่เค้าอยากทำงานในกระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่แรก ที่สำคัญเข้าใจว่าก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข มีการทำแบบสำรวจน้องๆนักศึกษาแพทย์ที่เข้ารอบครั้งที่ 1 ไปแล้วว่า มีความเห็นอย่างไรกับกรณีนี้ ก็อยากให้เปิดเผยผลการสำรวจนั้น แล้วเป็นไปได้ก็อยากให้กระทรวงเปลี่ยนเกณฑ์ตามผลการสำรวจ

"ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ปรับเปลี่ยนการคัดเลือกรวดเร็วเกินไป อย่างจับสลากเลือกโรงพยาบาลใช้ทุน เดิมทีจับสลากครั้งเดียว แต่ตอนนี้มี 3 ครั้ง หลายคนอยากบรรจุเป็นข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข หากมีการจำกัดการบรรจุ หรือจะกระจายไปยังสังกัดอื่นๆ หน่วยงานอื่นๆ ควรต้องแจ้งน้องๆ ตั้งแต่มาเรียนแรกๆ ไม่ใช่ปี 6 มาบอก ก็ทำให้เกิดปัญหาได้" ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่าเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากสุดท้ายมีกลุ่มที่จับสลากไม่ได้จริงๆ จะสามารถไปเลือกใช้ทุนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแทนหรือไม่ ผศ.นพ.สมิทธิ์ กล่าวว่า กรณีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ส่วนตัวมองว่า ไม่ควรเป็นแบบนั้น แต่กรณีที่หากโยกตำแหน่งจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมาเพิ่มอัตราให้กลุ่มจับสลากจะดีกว่า ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดให้สัมภาษณ์เช่นนั้น แต่จริงๆ หากต้องการให้คนไปเรียนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ก็ควรต้องแจ้งตั้งแต่ปี 1 ต้องทำสัญญาตั้งแต่ปีแรก เพื่อให้พวกเขาทราบก่อน ตนมองว่าเรื่องพวกนี้ทำได้ สรุปคือ ระบบเลือกสถานที่ใช้ทุนควรใช้แบบเดิมในคนเก่า ส่วนระบบใหม่ก็เริ่มกับคนใหม่แต่ต้องแจ้งให้ทราบตั้งแต่แรก

**************

 

ขณะที่มุมมองของนักศึกษาแพทย์ที่กำลังจะจบการศึกษา หรือที่เรียกว่า extern คิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร....

** "ภรัณยู โอสถธนากร" นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 (extern) คณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (สพท.) ปีการศึกษา 2563 เปิดอีกมุมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า

ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ตั้งแต่เชิงนโยบายของครม. เกี่ยวกับการรับแพทย์จบใหม่ ไปถึงเชิงปฏิบัติที่จำกัดจำนวนบรรจุข้าราชการ ทำให้ต้องมีการประกาศใช้กติกาการคัดเลือกบรรจุแพทย์จบใหม่ขึ้น ซึ่งประเด็นหลักคือการแบ่งรอบการคัดเลือก ไม่ใช่ทุกคนสามารถเดินเข้าระบบจับสลากเลือกพื้นที่ได้พร้อม ๆ กัน และช่วงแรกมีเกณฑ์การใช้คะแนนการสอบศูนย์ประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ศรว.) มาใช้เรียงลำดับผู้เข้ารับการบรรจุ ช่วงหนึ่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จนได้นำกติกาเกี่ยวกับการใช้คะแนนฯ ออกไป ช่วงหลังก็ยังมีผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ผู้ที่เลื่อนสอบ ศรว. มาเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เป็นต้น ท้ายสุดระบบใหม่นี้ลงตัวมากขึ้นเนื่องจากนิสิตนักศึกษาแพทย์หลายคนเปลี่ยนใจไปเข้ากระบวนการบรรจุอื่น ๆ จนสุดท้ายตำแหน่งในรอบนี้เกือบเพียงพอ แต่ก็ยังมี 10 คนสุดท้ายที่ไม่ได้รับการบรรจุในรอบที่ผ่าน ๆ มา ยังต้องรอมติของคณะประชุม Consortium วันที่ 24 มี.ค.นี้

"สิ่งที่อยากทิ้งไว้เป็นข้อเสนอแนะ สิ่งสำคัญคือ “การมีส่วนร่วม” ของภาคนิสิตนักศึกษาแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่จะมีผลต่อไปกับนิสิตนักศึกษาแพทย์เอง ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เช่น สำนักงานปลัด สธ. ควรเปิดโอกาสให้มีการคัดเลือกตัวแทนนิสิตนักศึกษาแพทย์ได้เข้าร่วมกระบวนการ ได้มีสิทธิ์เป็นคน run ระบบเอง เช่นปีก่อน ๆ ที่จะมีนิสิตนักศึกษาแพทย์เข้าร่วมในการตรวจสอบระบบจับสลาก เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ได้มาก ๆ ในปีนี้ที่ระบบเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อาจมีบางกระบวนการที่ทำให้นิสิตนักศึกษาแพทย์รับรู้ล่าช้า เช่นระบบการคัดเลือกแบบใหม่ที่ประกาศค่อนข้างใกล้กับวันเวลาที่ใช้การคัดเลือกจริง หากมีเวลามากขึ้นและเปิดโอกาสให้พูดคุย วิพากษ์วิจารณ์กันเพื่อปรับเปลี่ยนในรายละเอียดเล็กน้อยก็น่าจะราบรื่น"

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการทำประชามติจากนิสิตนักศึกษาแพทย์ ซึ่งปีนี้มีการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับวิธีการจัดสรรพื้นที่ หากปีต่อ ๆ ไป สามารถทำในหลายกระบวนการมากขึ้น อาจจะตั้งแต่ก่อนมีการปรับเปลี่ยนกฎกติกา รับความเห็นหรือมติจากนิสิตนักศึกษาแพทย์มากขึ้นผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (สพท.) หรือสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) ที่มีคณะทำงานที่สามารถประสานงานกับนิสิตนักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศ จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและความเชื่อมั่นได้อีกมาก

**************

** "พีรญา สาครกุลวิช" นศพ.ชั้นปีที่ 6 มองเรื่องนี้ว่า ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงระบบหลายอย่าง ตั้งแต่จำนวนตำแหน่งข้าราชการที่ลดลง การเลือกยืนยันสิทธิ์ที่ให้เลือกตั้งแต่แรก ว่าจะจับฉลากเป็นแพทย์ใช้ทุนในระบบกระทรวงตั้งแต่แรก โดยไม่รอการรับโดยตรงของแต่ละสถาบันแบบปีก่อนๆ การลดจำนวนตำแหน่งแพทย์พี่เลี้ยงตามรพ.ศูนย์ต่างๆลงครึ่งหนึ่ง ฯลฯ โดยที่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้แจ้งทันทีในปีนี้ และนำมาปฏิบัติใช้เลย ทั้งๆที่การเตรียมตัวสมัครต่างๆหลายๆคนเองก็มีการเตรียมตัวล่วงหน้ามาตั้งแต่ปี 5 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกี่ยวกับอนาคตของนิสิตนักศึกษาแพทย์ทุกคน แต่กลับไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตัวเองเลย

"จริงๆแล้วในตอนแรกมีปัญหาเรื่องการจะนำคะแนนสอบใบประกอบวิชาชีพขั้นที่ 1และ 2 มาเป็นตัวกำหนดลำดับการจับฉลากด้วย ทั้งที่คะแนนสอบเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทางศรว.ที่เป็นผู้จัดการสอบแจ้งตั้งแต่แรกว่าไม่ได้สามารถนำมาเปรียบเทียบความสามารถกันได้ แต่สุดท้ายก็มีการร้องเรียนจนต้องยกเลิกไป รวมถึงจากการที่เปลี่ยนแปลงระบบ อยากเชิญชวนให้สิทธิพิเศษที่มากขึ้นสำหรับคนที่ต้องการจะจับฉลากใช้ทุน เป็นข้าราชการกระทรวง ได้รับสิทธิ์ที่เหมาะสม ที่สมัครใจเลือกทำงานตั้งแต่แรก มีโอกาสในการได้เลือกจับฉลากเป็นกลุ่มแรก แต่พอประกาศออกมา กลับมีตำแหน่งให้ไม่เพียงพอ จนต้องมีการแบ่งกลุ่มคนที่จะได้จับฉลากในปัจจุบันมี 3 รอบ และมีคนที่ยังตกค้างอีก 10 คน จึงมองว่าไม่ยุติธรรมกับนิสิตนักศึกษาทุกคน"

"พีรญา" เล่าอีกว่า ปีนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องต้องสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพทั้ง 3 ขั้น ถึงจะมีโอกาสในการสมัครใช้ทุนได้ ทำให้มีเพื่อนหลายคนที่เสียโอกาสในการได้จบไปทำงานพร้อมเพื่อนคนอื่น ทั้งๆที่เรียนจบพร้อมกันไปด้วย โดยในรุ่นพวกเรามีปัญหาเรื้อรังมาตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด19 ทำให้มีการเลื่อนสอบหลายครั้ง จนทำให้จากเดิมมีเวลาปิดเทอมได้เตรียมตัวเพื่ออ่านมาสอบซ่อมใหม่ แต่พอเลื่อนสอบก็ตรงกับการเรียนบนชั้นคลินิก ทำให้มีเวลาในการอ่านหนังสือน้อยลงไป จนสุดท้ายมาล่าช้าและส่งผลให้ไม่สามารถไปใช้ทุนพร้อมเพื่อนได้ ซึ่งเพื่อนกลุ่มนี้ ก็ยังไม่รู้ด้วยเช่นกันว่าจะมีตำแหน่งให้หรือไม่ เพราะขนาดคนที่จบตามหลักเกณฑ์ยังมีตกค้างอยู่

"จากการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของปีนี้ ไม่มีแผนภาพกำหนดการโดยรวมของแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจนเลย ทั้งๆที่กำหนดการหรือรายละเอียดต่างๆน่าจะสามารถชี้แจงได้ตั้งแต่แรก อย่างเช่นในปัจจุบัน 10 คนที่เหลือที่ยังไม่ได้ตำแหน่งก็เคว้งมากๆ"

"พีรญา" เล่าอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับตนเองนั้น เนื่องจากเป็นผู้เลือกจับฉลาก และได้รับคัดเลือกตั้งแต่รอบแรก ยังไม่ได้มีผลเสีย สำหรับโอกาสในการจับฉลากเท่าคนที่ยังไม่ได้รับเลือก แต่จากเดิมที่การไปใช้ทุนอย่างน้อยจะมีโอกาสได้จับไปกับเพื่อนตัวเอง ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเพื่อนไม่ผ่านการคัดเลือกในรอบเดียวกันมา ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับหลายๆคนเช่นกัน ดังนั้นการจะไปเริ่มต้นทำงานใหม่ จากเดิมที่จะเลือกสถานที่ทำงานไม่ได้แล้ว ยังไม่สามารถเลือกเพื่อนที่จะไปใช้ชีวิตร่วมกันด้วย

"พีรญา" เผยถึงแนวทางในอนาคตของตนเอง ว่า ตอนนี้ยังมองไม่เห็นภาพที่ชัดเจนเท่าไหร่ แต่ถ้าอ้างอิงตามรุ่นพี่ปีก่อนๆ ก็คือน่าจะมีการจับฉลากเลือกจังหวัดช่วงเดือน พ.ค. และหลังจากนั้นก็ออกไปใช้ทุน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เก็บเงินเก็บเพื่อวางแผนเรียนต่อแพทย์ประจำบ้านในสาขาที่สนใจในอนาคต

"อยากให้ผู้บริหารในกระทรวงฟังเสียงของนิสิตนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจริงๆบ้างค่ะ รวมถึงการจะตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่างๆเหล่านี้อยากให้มีคนที่ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ นั่นก็คือนิสิตนักศึกษาแพทย์ทุกคน และสิ่งที่สำคัญมากๆคือการสื่อสารข้อมูลต่างๆให้ได้รับรู้ทั่วกัน และรับรู้ล่วงหน้ามากกว่าพอที่จะเตรียมการต่างๆได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต อนาคตของเด็ก ไม่อยากให้ใช้การคาดการณ์จากผู้มีประสบการณ์มาก่อนเพียงอย่างเดียว" พีรญา กล่าวทิ้งท้าย

************************

** อีกหนึ่งนักศึกษาแพทย์ (นศพ) ปี 6 กำลังจะจบการศึกษาปลายเดือน มี.ค.นี้ (ไม่สะดวกให้ชื่อ) ฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และที่ประชุม Consortium ว่า จริงๆปัญหานี้เป็นปัญหาที่ complex ไม่สามารถมองแค่จุดเดียวได้ จุดที่เห็นนี้เป็นเพียงแค่ยอดของปัญหาของระบบสุขภาพภาพรวมเท่านั้น ปัญหาเริ่มตั้งแต่ทำไมหน้างาน ภาพรวมของระบบสาธารณสุขถึงขาดหมอ ทำไมหน้างานต้องมีคนทำงานหนักกว่าคนอื่น ทั้งๆที่งานมันมากกว่าคน หมอที่เรียนจบ กลับไม่มีตำแหน่งงานให้ลง หน้างานคนก็ไม่พอ พอคนที่อยู่หน้างานทนไม่ไหวก็ลาออก ลาออกก็หาคนมาเพิ่มผลิตแพทย์เพิ่ม แต่ตำแหน่งไม่พอ ก็วนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้คนลาออกก็เพิ่มค่าปรับ แต่เงินเดือนแพทย์ก็ไม่เคยเพิ่มตามค่าปรับ

เรื่องนี้ควรทำการ root cause analysis ได้แล้ว ว่าปัญหาที่แท้จริงเกิดจากอะไร ที่จริงๆแล้วทุกคนก็เคยผ่านมันมาทั้งนั้น แต่ทุกคนกำลังปิดตาข้างเดียว มองข้ามปัญหานี้ไปคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กของแพทย์จบใหม่แค่ไม่กี่คน ถ้าตั้งธงในการแก้ปัญหาแบบนี้ ต่อให้จะผ่านไปกี่ปี ผลิตแพทย์ออกมาเพิ่มมากเท่าไหร่ ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของของระบบสาธารณะสุขประเทศไทยทั้งนั้น และหากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ควรต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าถึงรายละเอียดทั้งหมด และรับฟังความเห็นจากนักศึกษาทั้งหมดที่ได้รับผลกระทบบ้าง

........เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของน้องๆนักศึกษาแพทย์ถึงผู้บริหารกระทรวงฯ และที่ประชุม Consortium ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : "หมอจบใหม่" เตรียมตัวเลือก รพ.ใช้ทุนรอบพิเศษ ภายใน เม.ย.นี้ )

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org