ทีมแพทย์ศิริราช ประสบความสำเร็จปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้องให้ผู้ป่วยรายแรกของประเทศไทย คณบดีศิริราชฯลั่นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ศักยภาพทีมแพทย์และระบบสาธารณสุขไทยทำได้!
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว “ศิริราชปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้อง...สำเร็จรายแรกในประเทศไทย” ว่า ศิริราชดำเนินการปลูกถ่ายอวัยวะตั้งแต่ปี 2514 โดยปลูกถ่ายไตสำเร็จรายแรกวันที่ 26 ก.ค.2516 จากนั้นได้ปลูกถ่ายอวัยวะอื่นที่สำคัญ ได้แก่ ไต หัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน การปลูกถ่ายอวัยวะนอกจากกระบวนการรักษาที่ซับซ้อนต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือการได้รับบริจาคอวัยวะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ล่าสุดศิริราชประสบความสำเร็จการปลูกถ่ายลำไส้และอวัยวะในช่องท้องสำเร็จเป็นรายแรกในประเทศไทย เป็นเรื่องไม่ง่าย แม้แต่ในสหรัฐอเมริกายังปลูกถ่ายลำไส้ไม่ถึงปีละ 200 ราย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพทีมแพทย์และระบบสาธารณสุขไทย
ด้าน รศ. นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช ประธานกรรมการดำเนินการงานเปลี่ยนอวัยวะศิริราชและหัวหน้าทีมศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ กล่าวว่า ปลายปี 2561 ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาผ่าตัดเนื้องอกที่ลำไส้เล็กส่วนต้นที่รพ.แห่งหนึ่ง หลังผ่าตัดเกิดหลอดเลือดดำใหญ่ในช่องท้องอุดตัน ส่งผลให้ลำไส้เล็กทั้งหมดและอวัยวะในช่องท้องบางส่วนขาดเลือดจำเป็นต้องผ่าตัดอวัยวะเหล่านั้นออกเพื่อนำของเสียออก จึงเกิดภาวะลำไส้สั้น ผู้ป่วยไม่สามารถกินอาหารและดูดซึมสารอาหารได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต ต้องใช้สารอาหารทางหลอดเลือดพยุงไปตลอด
ทีมแพทย์ศิริราชได้รับการปรึกษาและเห็นถึงการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอวัยวะ จึงได้นำผู้ป่วยมารักษาที่รพ.ศิริราชเมื่อเดือนม.ค.2562 ได้ประชุมทีมแพทย์สหสาขาวางแผนการรักษา เห็นว่าจำเป็นต้องปลูกถ่ายทั้งลำไส้ ตับ ตับอ่อน และกระเพาะอาหารในคราวเดียวกันจึงจะทำให้ผู้ป่วยหายได้ โดยเฉพาะการปลูกถ่ายลำไส้เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เคยทำมาก่อน และจำเป็นต้องได้รับบริจาคจากผู้บริจาคสมองตายที่มีสัญญาณชีพคงตัว ผลตรวจเลือด หมู่เลือดตรงกับผู้ป่วยและการทำงานของระบบต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ดี มีอายุไม่มาก ทำให้ผู้ป่วยรายนี้ต้องรอรับบริจาคอวัยวะที่เหมาะสมจากผู้บริจาครายเดียวเป็นเวลานานกว่า 2 ปี
กระทั่งวันที่ 2 เม.ย.2564 จึงได้ดำเนินการปลูกถ่ายโดยทีมสหวิชาชีพที่ประสานการทำงานเป็นระบบให้สอดรับเพื่อลดระยะเวลาการขาดเลือดของอวัยวะต่างๆ ให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะลำไส้มีภาวะขาดเลือดได้ไม่นานในระยะเวลา 4-6ชม.เท่าหัวใจ การผ่าตัดเป็นไปด้วยดีใช้เวลา 7 ชม. หลังผ่าตัดผู้ป่วยฟื้นตัวดีมาก สามารถกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัววันที่ 12 มิ.ย.2564 จนถึงปัจจุบันเกือบ 1 ปีอวัยวะทุกอย่างทำงานได้ดี ยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะเป็นการนำสิ่งแปลกปลอมใหม่เข้าร่างกาย จึงต้องกินยากดภูมิฯไปตลอดชีวิต สามารถดูแลตนเองใช้ชีวิตได้ปกติ มีข้อจำกัดเพียงป้องกันการติดเชื้อ รักษาความสะอาดและดูแลสุขอนามัยที่ดี
สำหรับค่าใช้จ่ายผู้ป่วยรายนี้ประมาณ 1.8 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายการปลูกถ่ายอวัยวะแต่ละส่วนอยู่ที่ประมาณหลักแสนถึงล้าน และสิทธิการรักษาพยาบาลหลายสิทธิครอบคลุมการปลูกถ่ายอวัยวะ ส่วนใดที่ไม่ครอบคลุม ที่ศิริราชก็มีกองทุนที่ช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 905 views