อธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันประสิทธิภาพ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ขออย่าด้อยค่ายา เหมือนตอนวัคซีนโควิด ทำหลายคนเสียโอกาส จนบางคนพลาดการได้รับวัคซีนทันเวลา และหลายรายเสียชีวิตจากการไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชี้ยาฟาวิพิราเวียร์ ผ่านการรับรอง อย. มีมาตรฐาน พร้อมงานวิจัยประสิทธิภาพชัดเจน พลกลุ่มที่ได้รับยาฟาวิฯมีอาการดีขึ้น 79% อาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 เพียงแต่มีข้อจำกัดต้องให้ยาเร็ว และอาการไม่มาก
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคแถลงข่าว "ประโยชน์ของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด19 " ว่า ขณะนี้ไทยยังมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวนมาก ซึ่งโรคนี้เป็นโรคใหม่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และมีการระบาดอย่างกว้างขวาง ในฐานะหมอที่ต้องดูแลผู้ป่วยก็ย่อมต้องหาทาง หายามารักษาผู้ป่วย ซึ่งตั้งแต่เจอโควิดครั้งแรกต้นปี 2563 ตอนนั้นยังไม่รู้จักโรคดี ยังไม่มียารักษา เพราะเป็นโรคใหม่ ทางการแพทย์จึงพยายามนำยาต้านไวรัสต่างๆที่มีอยู่เดิม ที่ผ่านการรับรองมาใช้ในการช่วยผู้ป่วยโควิด ซึ่งทฤษฎีกลไกยับยั้งไวรัสได้ และพบว่าผู้ป่วยหลายรายมีอาการดีขึ้น จนระยะหลังพบยาฟาวิพิราเวียร์ มีการขึ้นทะเบียนกับทาง อย. ไทย ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ ก็ทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาการดีขึ้น รวมทั้งสามารถหายามารักษาในไทยได้
"โดยหลักการในการนำยามารักษาคนไข้ คือ มีประสิทธิภาพดี ไม่มีผลข้างเคียง และมีความเหมาะสมกับคนไข้นั้นๆ แต่ในเชิงที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก สิ่งที่ต้องพิจารณาต้องมีมากขึ้น นอกจากเรื่องประสิทธิภาพ อย่าง หากยารักษาสามารถทำให้ผู้ป่วยหายได้ ดีกว่าไม่ให้ยาอะไรเลย สัก 30-40% ถือว่าดีมากแล้ว แต่ที่สำคัญต้องปลอดภัย ไม่ทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลง อีกทั้ง การให้ยาผู้ป่วยจำนวนมาก ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การระบาด ความสามารถในการจัดหา ซึ่งพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่เราสามารถหามาได้ และจากการศึกษาเบื้องต้น จากประสบการณ์การรักษาของคุณหมอ พบว่า ยานี้ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง รักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสอาการกลับไปรุนแรงก็ลดลง จากนั้นเราก็มีการรวบรวมข้อมูล ประเมินมาโดยตลอด จนถึงขณะนี้เรามีการประชุมพิจารณาไปแล้วกว่า 400 ครั้ง" นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ที่สำคัญเรายังมีคณะผู้เชี่ยวชาญมาทำวิจัยเรื่องนี้ร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ ยกตัวอย่าง การศึกษาศูนย์วิจัยทางคลินิก ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ได้ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยได้วิจัยการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แบ่งเป็ฯ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้ป่วย 62 ราย และกลุ่มที่ 2 จำนวน 31 ราย ซึ่งกลุ่มแรกได้รับยาตามสูตรมาตรฐานปกติที่รักษาผู้ป่วย คือ ขนาด 1,800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันที่ 1 ต่อด้วยขนาด 800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันต่อมา ส่วนกลุ่มที่ 2 ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยผู้ป่วยในโครงการจะได้รับยาเฉลี่ย 1.7 วันหลังเริ่มมีอาการป่วย
นพ.โอภาส กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น 79% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ดังนั้น 2 กลุ่มนี้ จะเห็นว่าการให้ยาทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้คณะผู้วิจัยมีความมั่นใจว่ายาฟาวิฯ ทำให้อาการดีขึ้น ทั้งนี้ จึงได้ข้อสรุปว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ให้วันละ 1,800 มก.วันละ 2 ครั้งในวันแรก และต่อด้วยขนาด 800 มก.วันละ 2 ครั้งในวันต่อมานานอีก 4 วัน เป็นยาที่ควรเริ่มเร็วและช่วยลดอาการป่วยได้ กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงได้อย่างมีนัยสำคัญกว่าการไม่รับยา
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาอาการจะดีขึ้น 79% เทียบกับกลุ่มไม่ได้รับยาอาการจะดีขึ้นเพียง 32.3% แล้วกลุ่มที่ได้รับยาจะมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา และวันที่ 13 และวันที่ 28 จะมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา จึงเป็นที่มาที่คณะแพทย์มีความเชื่อมั่นการใช้ยานี้ และรูปแบบการใช้ยาก็กินง่าย ไม่มีผลข้างเคียงที่ต้องกังวล เพียงแต่มีข้อจำกัดในผู้ป่วยรักษาช้า หรือมีอาการหนัก ประสิทธิภาพอาจไม่ดีนัก ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำแนะนำให้ยาฟาวิฯ แก่ผู้อาการไม่หนัก และรักษาแต่เนิ่นๆ" อธิบดีกรมควบคุมโรค
"ที่สำคัญที่ผ่านมาเรารักษาด้วยยาฟาวิฯ กับผู้ป่วยไปเป็นล้านคนแล้ว จึงขอยืนยันขอให้เชื่้อมั่นในยาที่ใช้รักษา ขอความกรุณาอย่าด้อยค่ายาที่รักษา เราเคยมีปัญหาด้อยค่าวัคซีน ทำให้หลายคนเสียโอกาสการรับโอกาส บางคนกลัวการรับวัคซีน จนหลายรายน่าเสียใจเสียชีวิตจากการไม่ได้รับวัคซีน" นพ.โอภาส กล่าว
- 476 views