"อนุทิน" มอบรางวัล อสม.ดีเด่น ชูเปรียบเป็น "หมอคนแรก" นโยบาย 3 หมอ ดูแลคนในชุมชน โดยเฉพาะโควิด จึงมีสิทธิได้รับการดูแลเช่นบุคลากรสาธารณสุขทุกคน และต้องได้วัคซีนเข็ม 4 พร้อมตอบแทนคุณความดี มอบหลักสูตร "ผู้ช่วยพยาบาล" อสม. 3 พันคน เพิ่มศักยภาพช่วยฉีดวัคซีน จ่ายยาเบื้องต้น ลดการมา รพ. ล่าสุดรัฐโอนค่าเสี่ยงภัย 1,500 บาทให้แล้วเมื่อคืนวาน
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 ที่อิมแพค เมืองทองธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดงานวันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ ปี 2565 โดยมีการจัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์แก่ อสม. 73 ราย ที่ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 7 ปี และได้รับเลือกเป็น อสม.ดีเด่นระดับชาติ พร้อมมอบรางวัล อสม.ดีเด่นระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับภาค 12 สาขา และมอบรางวัล อสม.ดีเด่น สาขาการจัดการสุขภาพชุมชนในพื้นที่พิเศษชายแดนภาคใต้ 4 ราย พื้นที่ กทม. 1 ราย และ กฟผ. 1 ราย
นายอนุทินกล่าวว่า อสม.ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มีกระบวนการคัดเลือกตามเกณฑ์ ผู้ที่ได้รับพระราชทานขอให้มีความภาคภูมิใจในคุณความดีที่ปฏิบัติในฐานะ อสม. หากยังปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่องด้วยความเสียสละ จะมีการนำเสนอเรื่องของการรับเลื่อนชั้นต่อไป ทั้งนี้ อสม.มาช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ที่ดูแลรักษาพยาบาล โดย อสม.ช่วยกันทำความเข้าใจชาวบ้าน สธ.จึงตั้งนโยบาย 3 หมอ โดย อสม.เป็นหมอคนแรก ช่วยให้ความสะดวกแก่คนไข้ ลดภารกิจบุคลากรทางการแพทย์ และความแออัดในสถานพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน
"อสม.ถือว่าเป็นหมอคนแรก คือ เป็นบุคลากรสาธารณสุขเช่นกัน จึงมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลเช่นบุคลากรสาธารณสุขทุกคน ในเมื่อแพทย์ พยาบาล ได้วัคซีนโควิด 4 เข็ม อสม.ก็ต้องได้ 4 เข็ม เพื่อเป็นตัวอย่างและปลอดภัยต่อสุขภาพ ถ้า อสม.ไม่ปลอดภัย ก็อย่าหวังว่าประชาชนจะปลอดภัย" นายอนุทิน กล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า สธ.มีสถาบันพระบรมราชชนก (สบช.) ที่ผลิตพยาบาล มีวิทยาเขตแทบทุกจังหวัด เราตระหนักหน้าที่ อสม.หมอคนแรก จึงต้องทำให้มีความเชี่ยวชาญเรื่องการดูแลรักษาคนไข้ จึงจัดหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล คัดเลือก อสม.จากทั่วประเทศมาเข้ารับการศึกษา 3 พันคน ถือเป็น 1 ใน 3 ของ รพ.สต.ที่มี ย้ำว่าไม่ใช่การเทรนนิ่ง แต่เป็นหลักสูตรชั้นเรียน จบการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล สามารถไปฉีดยาได้ ความกังวลของการที่วัคซีนไม่ว่าโรคใดก็ตามในอนาคต ก็จะไปถึงแหล่งชนบทหรือพื้นที่ที่คนไม่ประสงค์จะมารักษาที่ รพ.ก็จะไปอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ ยังจ่ายยาได้ วินิจฉัยระดับต้นๆ หากเกินขีดความสามารถก็โทรปรึกษาแพทย์ผ่านระบบการสื่อสารเทคโนโลยี นำความเห็นจากแพทย์มาดูแลประชาชนต่อ คนห่างไกลไม่จำเป็นต้องเข้ามาในสถานพยาบาล
"นี่คือสิ่งที่ สธ.ตอบแทนคุณงามความดี อสม. และเพิ่มศักยภาพ ประสิทธิภาพ ความชำนาญ อสม.ในการดูแลประชาชน เรามั่นใจว่าหลังจบการศึกษาผู้ช่วยพยาบาล พื้นฐานการสาธารณสุขไทยจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การให้บริการประชาชนมีความใกล้ชิด อำนวยความสะดวกได้มาก นอกจากนี้ จะพัฒนาให้มีโอกาสรับการศึกษาหลักสูตรที่สูงขึ้น เป็นชัยชนะของทุกฝ่าย (วินวิน)" นายอนุทินกล่าว
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สานฝัน อสม. 3 พันคนได้สิทธิ์อบรม “ผู้ช่วยพยาบาล” ฟรี! พร้อมเปิดเกณฑ์ให้แต่ละเขตสุขภาพคัดเลือก)
นายอนุทินกล่าวว่า สธ.รายงานต่อ ครม.ผ่านนายกรัฐมนตรีเสมอ ให้ทราบถึงความทุ่มเทเสียสละของ อสม. ทำให้สถานการณ์โควิดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ อสม.หลายคนบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่มาตรฐานการทำงานยังเต็มที่ นายกฯ ก็พูดว่าท่านแพ้ใจ อสม. จึงต้องมีค่าเสี่ยงภัย ซึ่งไม่อยากใช้ว่าเป็นค่าตอบแทน เพราะ อสม.ทำด้วยจิตอาสา จึงต้องจัดหมวดงบค่าเสี่ยงภัยมาดูแล เพราะตั้งแต่ก้าวออกจากบ้านก้มีความเสี่ยง ซึ่งต้องไปหาคนไข้ไปดูไปคัดกรอง ต้องซื้ออุปกรณ์ต่างๆ ไปดูแลคัดกรองคนร่วมงานต่างๆ ไปช่วยตำรวจที่ด่านคัดกรองคนเข้ามาในจังหวัด มีความเสี่ยงในทุกด้าน ไม่ใช่แค่โรค แต่รวมถึงอุบัติเหตุด้วย หลายคนประสบอุบัติเหตุทางถนน ถูกรถชน เดินกลับบ้านกลางคืนประสบอุบัติเหตุ จึงต้องดูแลในส่วนนี้ด้วย รวมถึงมีสวัสดิการฌาปนกิจสงเคราะห์
นายอนุทินกล่าวว่า เรานำเสนอว่า ถ้าไม่มี อสม.เราลำบากแน่ เพราะเรามีแพทย์ไม่ถึง 1 แสนคนทั่วประเทศ พยาบาล 1-2 แสน บุคลากรทั้งหมด 4 แสนคน ดูแลประชากร 70 ล้านคนอย่างไรก็ไม่ไหว แต่เราได้ อสม.อีก 1 ล้านคนมาช่วยแบ่งเบาภาระ และได้รับความร่วมมือจากประชาชนป้องกันตนเอง จึงประคับประคองประเทศผ่านโควิดได้ตลอด และมั่นใจจะผ่านช่วงวิกฤตการณ์นี้ไป เพราะฉะนั้น เราควรดูแลสวัสดิภาพ อสม.ต่อไป นายกฯ ก็พูดชัดเจนว่า รัฐบาลจะดูแลเรื่องค่าเสี่ยงภัยจนกว่าโควิดจะหมดไปหรือเป็นโรคประจำถิ่น
ล่าสุดก็มีการโอนค่าเสี่ยงภัย อสม.ตั้งแต่เที่ยงคืนเมื่อคืน 1,500 บาทเข้าบัญชีแล้ว ซึ่งเป็นค่าตอบแทนตามปกติ 1,000 บาทต่อเดือน และค่าเสี่ยงภัย 500 บาทต่อเดือน เราขอพิจารณาค่าเสี่ยงภัยคราวละ 6 เดือน ทำให้สามารถนำค่าเสี่ยงภัยไปดูแลตัวเอง ครอบครัว และจับจ่ายใช้สอย ทำให้เม็ดเงินหลายพันล้านบาทหมุนเวียนในประเทศ ก็จะช่วยให้เกิดการจับจ่ายในประเทศ ซึ่งจากสถานการณ์โลกหลายๆ เรื่องน่าจะยังไม่สงบอีกนาน เราต้องประคับประคองเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มความต้องการการซื้อขายในประเทศให้มากที่สุด อย่าเพิ่งไปซื้อของนำเข้า
(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : สบส.ตอบปมบุคลากรสาธารณสุขห่วง อสม. อบรมหลักสูตร "ผู้ช่วยพยาบาล" อาจเป็นเหตุออกจากจิตอาสา)
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 469 views