ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตมือปราบน้ำเมา "หมอสมาน"  แจงกฎหมายคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   กรณี "ลิซ่า Blackpink" ถ่ายโฆษณาวิสกี้จากต่างประเทศไม่ผิด กม. แต่บริษัทที่นำมาโฆษณาต่อในประเทศผิดแน่นอน คนทั่วไปที่แชร์ภาพไม่ผิดเช่นกัน เหตุไม่เข้าข่ายการค้า เว้นมีข้อความชักจูง 

จากกรณีเฟซบุ๊ก BLACKPINK Thailand โพสต์ภาพ "ลิซ่า Blackpink" หรือ ลลิษา มโนบาล ที่ถ่ายคู่กับขวดวิสกี้ยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นภาพจากการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้แก่แบรนด์ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ถึงกฎหมายการห้ามโฆษณาที่เอื้อนายทุนรายใหญ่ กีดกันผู้ประกอบการรายย่อย

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ราชบุรี (สคร. 7) กรมควบคุมโรค อดีต ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือฉายา "มือปราบน้ำเมา" ในอดีต  โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "สมาน ฟู"  เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า  มาตรา 32 วรรคสาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีการเข้าใจผิดหรือมีความพยายามสื่อให้เข้าใจผิดอยู่เนืองๆ ว่า การทำสื่อโฆษณาที่มาจากต่างประเทศหรือทำจากต่างประเทศแล้วมาสื่อสารในประเทศไทยไม่ผิดกฎหมาย ความจริงคือ กฎหมายยกเว้นการโฆษณา (การทำให้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ) ที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร หมายถึง การสื่อสารหรือการทำให้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความครั้งนั้นๆ ถ้ามีการสื่อสารมาจากนอกราชอาณาจักรจะเข้าข่ายข้อยกเว้น เพราะการเขียนกฎหมายไทยไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของคนที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทยไม่ได้ แต่ไม่ใช่การทำสื่อโฆษณามาจากนอกราชอาณาจักรแล้วมาสื่อสารให้เห็นได้ยินหรือทราบข้อความภายในราชอาณาจักรจะไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

และมาตรา 32 วรรคแรก ซึ่งมีอยู่ 2 กรณี โดยตอนต้น ห้าม "ผู้ใด" โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มิได้ห้ามเฉพาะหรือเอื้อเฉพาะบริษัทใหญ่เท่านั้นตามที่กล่าวอ้าง และที่สำคัญมิได้ห้ามเฉพาะการโฆษณาโดยวิธีการขึ้นป้ายบิลบอร์ด หรือขึ้นเว็บไซต์เท่านั้น แต่ห้ามการสื่อสารทุกวิธีการที่จะทำให้บุคคลโดยทั่วไปเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยสรุปคือ มาตรา 32 วรรคแรก กรณีแรก “ห้ามทุกคนสื่อสารไม่ว่าวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” นั่นเอง

ส่วนที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์โจมตีกฎหมายไทย กรณีน้องลิซ่ารับเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ให้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งของต่างประเทศ ท่านใดรู้จักท่านเป็นการส่วนตัวฝากช่วยเรียนอาจารย์ด้วยว่า ตนเห็นด้วยกับอาจารย์ในส่วนที่ว่ากฎหมายนี้มีข้อยกเว้นอยู่เล็กน้อยที่วรรค 2 กับวรรค 3 ของมาตรา 32 ซึ่งวรรค 2 ได้เว้นให้กับทุกคนที่เป็นผู้ผลิตทั้งรายย่อยรายเล็กรายน้อยและรายใหญ่ทั้งหมดสามารถโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และวรรค 3 ได้เว้นให้ทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติให้ไม่ต้องทำตามข้อห้ามในวรรคที่ 1 กับข้อยกเว้นตามวรรคที่ 2 หากมีการสื่อสารให้เห็นได้ยินหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากการสื่อสารนั้นส่งเข้ามาจากนอกราชอาณาจักร

จะเห็นได้ว่าแม้กฎหมายยกเว้นเปิดช่องว่างไว้เล็กน้อยขนาดนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังเอาเปรียบรายเล็กรายน้อย รวมถึงทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยเดือดร้อนขนาดนี้ ถ้ากฎหมายเปิดช่องยกเว้นมากขึ้น รายใหญ่ก็จะยิ่งทวีการเอาเปรียบรายย่อย ทำให้คนเล็กคนน้อยเดือดร้อนได้อย่างมากมายมหาศาล เพราะสายป่านทุนรอนและคอนเนกชัน รวมถึงอิทธิพลมากกว่ากันอย่างไม่สามารถเปรียบเทียบได้ ประกอบกับเป็นสินค้าที่ไม่ปกติ ก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวผู้ดื่มและผู้ไม่ได้ดื่ม รวมถึงครอบครัว สังคมและประเทศชาติอย่างมาก ตามที่เห็นเป็นข่าวหน้าหนึ่งและตามสื่อต่างๆ แทบทุกวัน จึงเห็นควรเป็นอย่างยิ่งให้ปิดช่องโหว่หรือเอาข้อยกเว้นออกไป เพื่อไม่ให้รายใหญ่เอารัดเอาเปรียบรายย่อยและทำร้ายคนตัวเล็กตัวน้อยได้อีกต่อไป โดยปรับปรุงให้คล้ายกับ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก  "สมาน ฟู"

ทั้งนี้  นพ.สมาน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่า มาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มี 3 วรรค โดยวรรคแรกเป็นข้อห้าม และวรรค 2 และ 3 เป็นข้อยกเว้น ซึ่งยกเว้นให้กับทุกคน ไม่เฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ แต่รวมผู้ผลิตรายย่อยด้วย สามารถโฆษณาได้ตามหลักเกณฑ์กฎกระทรวงที่กำหนดไว้ ไม่ได้เลือกปฏิบัติตามที่เข้าใจ แต่จะเห็นว่าแม้จะยกเว้นให้เหมือนกัน แต่รายใหญ่ก็ยังเอาเปรียบรายย่อย ดังนั้น การจะแก้กฎหมายขยายข้อยกเว้นให้กว้างมากขึ้นเพื่อความเป้นธรรมกับรายย่อย ตรงนี้จะยิ่งอันตราย เพราะรายใหญ่จะยิ่งเบียดรายย่อยกว่าเดิม จึงเห้นว่าควรแก้กฎหมายเป็นแบบเดียว พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ที่ห้ามโฆษณาทั้งหมด เพราะอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่ได้น้อยไปกว่ายาสูบเลย และเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ ในข่าวเสมอ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยตีความแล้วว่า สามารถแก้กฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นการทำเพื่อคุ้มครองประชาชน ส่วนวรรค 3 เป็นการยกเว้นกรณีสื่อสารโฆษณาที่มีต้นกำเนิดมาจากนอกราชอาณาจักร เช่น ถ่ายทอดสดฟุตบอล หรือประกวดนางงาม ที่อาจมีการเห็นชื่อสินค้า ก็ยกเว้นทุกราย ไม่ได้เลือกปฏิบัติ

** เมื่อถามว่าหากยกเลิกข้อยกเว้นการโฆษณาทั้งหมด การโฆษณาจากต่างประเทศจะเป็นอย่างไร

นพ.สมาน กล่าวว่า แม้จะไม่ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้น แต่หากเป็นการสื่อสารจากภายนอกราชอาณาจักรเข้ามา ก็อยู่นอกเหนือกฎหมายของประเทศไทย จึงไม่สามารถไปจำกัดสิทธิการสื่อสารนอกราชอาณาจักรได้ อย่างกรณีน้องลิซ่าที่ถ่ายโฆษณาจากต่างประเทศสามารถทำได้ หากประเทศนั้นไม่ได้มีกฎหมายควบคุมตรงนี้เหมือนประเทศไทย แต่กรณีรูปที่ถ่ายแล้วไม่ได้เป็นการถ่ายทอดสดจากนอกประเทศเข้ามา แต่เป็นการสื่อสารโฆษณาที่ทำให้เห็น ได้ยิน หรือรับทราบข้อความจากภายในประเทศก็เข้าข่ายผิดกฎหมาย

ทั้งนี้  จะพิจารณาใน 2 กรณี คือ 1.กรณีบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า หากนำมาโฆษณาให้เห็น ได้ยิน หรือรับทราบข้อความ ไม่ว่าสื่อใด เช่น ทางเพจ ทางเว็บไซต์ เป็นต้น เข้าข่ายว่าผิดกฎหมายมาตรา 32 เนื่องจากมีเจตนาเพื่อประโยชน์ทางการค้าแน่นอน ไม่ว่าจะมีข้อความชักจูงอวดอ้างสรรพคุณหรือไม่ก็ตาม

2.กรณีประชาชนทั่วไปที่ส่งต่อภาพลิซ่าที่ถ่ายคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากไม่เห็นภาพเครื่องดื่มก็ไม่ต้องวิตกกังวล ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะการส่งต่อให้เพื่อนหรือคนรู้จักก็ไม่ได้เป็นเพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่หากเห็นภาพเครื่องดื่ม ชื่อ สินค้า บรรจุภัณฑ์ที่ชัดเจน อาจจะมีความผิดได้ เนื่องจากในภาพถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีผลต่อการชักจูงในการดื่มทั้งทางตรงทางอ้อมอยู่แล้ว จึงไม่ควรส่งต่อภาพบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เห็นภาพสินค้าแอลกอฮอล์ ส่วนกรณีบุคคลทั่วไปที่ถ่ายภาพกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากไม่ได้มีข้อความชักจูงชวนดื่มก็ยังไม่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง