อธิบดีกรมอนามัย เผยยังพบโควิดรายวันมากสุดในงานศพ ย้ำจัดกิจกรรมได้ แต่อสม.-ผู้นำชุมชน ต้องเข้มมาตรการ "COVID Free Setting" พร้อมชี้พฤติกรรมความเสี่ยงจากการรวมกลุ่ม และขอให้เข้ารับวัคซีนโควิดก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงประเด็น "ชุมชนปลอดภัย จัดงานปลอดโควิด ด้วยมาตรการ COVID Free Setting" ว่า ตั้งแต่ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัจจุบันพบว่ายังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่มากกว่า 20,000 รายต่อวัน หรือบางวันอาจจะตำ่กว่า จากแหล่งข้อมูลรายงานการสอบสวนโรค มีข้อสังเกตพบการระบาดแบบกลุ่มก้อน หรือ คลัสเตอร์ จากการจัดกิจกรรมในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้กรมอนามัยจึงต้องเน้นย้ำมาตรการ COVID Free Setting เพื่อให้ปลอดภัยจากโควิด-19
ทั้งนี้ ข้อมูลการสอบสวนโรครายวัน ตั้งแต่วันที่ (22 ธ.ค. 2564 - 15 มี.ค. 2565) พบการระบาดแบบคลัสเตอร์ทั้งจาก งานศพ งานแต่งงาน งานบุญ งานบวช หรืองานเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อสูงในช่วงต้น ก.พ. 2565 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันจะไม่พบแนวโน้มที่สอดคล้องกัน แต่ยังมีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ยังมีรายวันอย่างต่อเนื่อง สำหรับการจัดงานในชุมชนนั้นสามารถทำได้แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ดังนั้น เมื่อมาดูการกระจายของการระบาดแบบคลัสเตอร์ พบมากที่สุดในพื้นที่ภาคอีสาน และ จ.กาญจนบุรี ซึ่งสัดส่วนของประเภทกิจกรรม มีรายงานระบาดเป็นคลัสเตอร์มากที่สุดคือ งานศพ รองลงมาคือ งานแต่งงาน, งานบุญ และงานบวช ตามลำดับ โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสำรวจของอนามัยโพลในช่วงวันที่ 1-15 มี.ค. 2565 จำนวน 17,978 ตัวอย่าง เรื่องความเสี่ยงที่หบเห็นในบริเวณพื้นที่พักอาศัย โดยมี 27% พบมีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่แออัด ไม่เว้นระยะห่าง รวมถึงไม่สวมหน้ากากหรือสวมหน้ากากไม่ถูกต้อง และ 24% พบการรวมกลุ่มตั้งวงดื่มสุราหรือเล่นการพนันในพื้นที่ชุมชน
ด้านดร.อัมพร จันทวิบูลย์ นักวิชาการสาธารณสุขทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับแนวทางในการจัดงานจะเน้นหลัก 3ป จัดงานปลอดถัย คือ ประเมิน ปรับโดยใช้ COVID Free Setting และปรับอย่างเคร่งครัด ซึ่งการวิเคราะห์ความเสี่ยงมีพฤติกรรมคือ การรวมกลุ่มคนจำนวนมากในชุมชนและจากหลายพื้นที่ อย่างเช่น การดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน เมื่อมีอาการเมาก็อาจสูญเสียสติสัมปชัญญะ เพิ่มโอกาสในพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ หรือมาตรการส่วนบุคคลย่อหย่อนหรือถูกละเลย
อาจจะประมาทเนื่องจากเห็นว่าเป็นคนกันเอง น่าจะมีความปลอดภัย กินอาหารร่วมกัน มีพฤติกรรมตะโกน ถอดหน้ากากเป็นระยะ รวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เราจำเป็นต้องทำความสะอาด นอกจากนี้กิจกรรมต่างๆเราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคน หรือการตรวจสอบการฉีดวัคซีนหรือการตรวจโควิดก่อนเข้างานด้วย หรือถ้าหากพบว่าเป็นผลบวกก็ไม่ควรเข้าร่วมงานและเฝ้าระวังดูแลตัวเองด้วย
ขณะที่ นางประเสริฐ ท้วมมา ประธาน อสม. อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า จากที่ได้ทำหน้าที่ อสม. อีกทั้งหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านด้วย ในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ เมื่อมีทั้งงานแต่งงาน งานบวช งานทำบุญต่างๆ รวมไปถึงงานศพ โดยเฉพาะงานศพเป็นส่วนมาก อสม.จะประสานงานกับทางวัด เมื่อประสานงานปเสร็จแล้วก็จะประชาสัมพันธ์ใน LINE กลุ่ม อสม. ว่าต้องตั้งจุดตรวจอย่างน้อย 2 จุด หรือ 3 จุด โดยจะมีการเตรียมอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลล้างมือ แมส และสติกเกอร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีสมุดลงทะเบียนเพื่อให้คนที่เข้ามาร่วมงานลงข้อมูลไว้ คือชื่อและเบอร์โทร เพราะหากเกิดมีการติดโควิดขึ้นเราจะได้ติดต่อได้โดยตรงและจะทำให้สอบถามได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งการจัดแต่ละงานนั้นเราจะมีมาตรการ คือไม่รับประทานอาหารในงานและเป็นการนั่งเว้นระยะห่างซึ่งบางครั้งในพื้นที่อาจจะไม่ได้มีงานแค่งานเดียวเราจึงจำเป็นต้องแบ่งภาระหน้าที่แต่ละคนให้รับผิดชอบเป็นจุดๆ และอีกส่วนเราจะทำการลงพื้นที่ที่มีการแพ่ระบาดหรือพื้นที่นั้นมีความเสี่ยงสูงมาก โดยเราจะนำอุปกรณ์ แอลกอฮอล์หรือแมส เพื่อนำไปแจกตามชุมชนโดยการลงพื้นที่เราจะมีชุดป้องกันตัวเองด้วย ซึ่งในการจัดกิจกรรมต่างๆ เราจะได้รับความร่วมมือจากชุมชนชาวบ้านโดยดีไม่ค่อยพบอุปสรรคอะไรมาก ส่วนมากจะได้รับคำชมว่า อสม. ที่นี่เข้มแข็ง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า และอีกไม่ถึง 1 เดือนจะถึงเทศกาลสงกรานต์ แต่เราสามารถใช้ชีวิตภายใต้วิถีใหม่ในสถานการณ์โควิด-19 ช่วงสงกรานต์ได้เป็นอย่างดี แต่ต้องร่วมกันทุกคน ทุกครอบครัว ทุกภาคส่วน พร้อมขอความร่วมมือกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์) เข้ารับวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมได้มากที่สุด ซึ่งการฉีดวัคซีนนั้นกว่าจะมีภูมิคุ้มกันขึ้นต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน แต่หากเป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันก็อาจจะขึ้นเร็ว
แม้จะเป็นช่วงที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ยังต้องปฏิบัติเพื่อป้องกันโควิดที่ประชาชนทำเป็นวิถีไปแล้ว คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่างให้เหมาะสมกับประเภทกิจกรรม รวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนนั้น เน้นย้ำว่ายังจัดได้ แต่ต้องมีมาตรการ COVID Free Setting มาประเมิน ปรับใช้ และปฏิบัติ ที่สำคัญพลังของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น อสม. ผู้นำชุมชน กลไกของภาครัฐและเอกชน จะเป็นส่วนสำคัญทำให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนมีความปลอดภัยขึ้น ส่งผลให้สังคมโดยรวมปลอดภัย ประเทศชาติสามารถขับเคลื่อนทางสังคม เศรษฐกิจ และควบคู่กับการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19
- 314 views