คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแผน 4 เดือนเข้าสู่โรคประจำถิ่น ย้ำ! ประชาชนปฏิบัติตัวป้องกันโควิดเช่นเดิม อย่าเพิ่งถอดหน้ากากอนามัย ยังต้องตรวจ ATK

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ว่า วันนี้มีการประชุมพิจารณาความพร้อมเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้บริหารจัดการโควิด 19 แบบโรคประจำถิ่น (Endemic approach) ซึ่งเวลานี้มีหลายประเทศที่เตรียมการเปลี่ยนผ่านโควิด 19 ไปสู่โรคประจำถิ่น เช่น ประเทศในทวีปยุโรป สำหรับประเทศไทยมีการเตรียมมาตรการในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับระดับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงทุกมิติ อาทิ การเดินทางเข้าประเทศไทยตามโปรแกรม Test &Go ที่มีเงื่อนไขด้านสุขภาพพร้อมกับการอำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางต่างชาติและคนไทย ช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ

“การเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น จะมีการจัดเตรียมแผนเป็นเฟสๆ หลักๆ คือ 4 เดือน โดยจะมีแนวทางครอบคลุมทุกมิติ เตียง การรักษาพยาบาลมีพร้อม อัตราความรุนแรงของโรคควบคุมได้ จำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ภายใต้อัตราส่วนของสากล สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก มียารักษาพร้อม การเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็ว การให้ยาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ครอบจักรวาล ที่สำคัญการเตรียมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ประชาชนยังต้องปฏิบัติตามาตรฐานป้องกันโรคเช่นเดิม ทั้งมาตรการ VUCA ประกอบด้วย V- Vaccine, U-Universal Prevention, C- Covid-19 free setting และ A- ATK ซึ่งเราจะพยายามทำให้ประชาชนมีความเข้าใจว่า หากทุกคนได้รับวัคซีนครบถ้วน โดยเฉพาะบูสเตอร์โดส จะลดความรุนแรงได้” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าหากเข้าสู่โรคประจำถิ่น อย่างผับ บาร์ คาราโอเกะ จะสามารถเปิดได้ นายอนุทิน กล่าวว่า ใช่ แต่จะมีรายละเอียดขั้นตอนที่จะมีแผนดำเนินการออกมา

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวรายละเอียดแผนการเข้าสู่โรคประจำถิ่น ว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้เห็นชอบแผนรองรับการเข้าสู่ Endemic approach โดยแบ่งออกเป็น 4 เดือน เรียกว่า 3 บวก 1 (4 ระยะ) ดังนี้ ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้นเม.ย.) เรียกว่า Combatting ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง เราจะมีมาตรการต่างๆ ออกไป การดำเนินการให้กักตัวลดลง ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1-2 พันราย และอีกบวก 1 หรือระยะ 4 ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น

“แผนดำเนินการทั้งหมดจะต้องการให้เกิดภายใน 4 เดือน โดยรายละเอียดจะมีคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการควบคุมโรค คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการรักษา คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับกฎหมายและสังคม ซึ่งต้องแก้กฎหมายประมาณ 9 ฉบับ อย่างสังคมจะมีลักษณะอย่างไร ปรับตัวอย่างไร ก็จะมีแนวทางออกมา ยกตัวอย่าง โควิด ฟรี เซตติ้ง ต้องยกเป็นมาตรฐานควบคุมโรค เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดจะมีการดำเนินการออกมาก” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการควบคุมอัตราการเสียชีวิตเพื่อเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น ต้องไม่เกิน 1 ในพันราย โดยปัจจุบันเราเฉลี่ย 0.19% จนถึง 0.2% แต่ถ้าเข้าสู่โรคประจำถิ่นต้องประมาณ 0.1% ปัจจุบันเรายังไม่ถึงเป้าที่กำหนด เพราะคนเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็น 608 ซึ่งต้องลดให้ได้ 0.1% ให้ได้ครึ่งหนึ่ง

เมื่อถามว่าผู้เสียชีวิตจากโควิดจริงๆเท่าไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า รายละเอียดแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องให้หมอกรอกข้อมูลเข้ามา แต่เท่าที่ดูประมาณสัก 20-30% อาจไม่เกี่ยวกับโควิดโดยตรง เพราะไม่ได้ลงปอด อย่างบางรายติดเตียง ท้องเสียและเสียชีวิต แต่เมื่อตรวจ ATK พบบวก อย่างไรก็ตาม การตรวจเจอโควิดที่เสียชีวิตอาจไม่ใช่โควิด เพราะหลังๆมีโรคประจำตัว อย่างไตวาย มีภาวะติดเตียงไม่มีคนดูแล โรคมะเร็งระยะสุดท้าย จึงต้องเคลียร์ตัวเลขเสียชีวิตตรงนี้ว่า สาเหตุเท่าไหร่ ซึ่งอาจลดลงได้ 20-30% สิ่งสำคัญกลุ่ม 608 ต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิดให้กลุ่มนี้ อย่างกลุ่มติดเตียง ก็ไม่อยากพาไปฉีด เพราะกลัวเป็นไข้ และหลายคนเข้าใจว่าอยู่กับบ้านไม่น่าติด เรื่องนี้จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ

เมื่อถามว่า 1 ก.ค.65 เป็นต้นไปจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ใช่ แต่ต้องเป็นไปตามแผนมาตรการที่วางไว้

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org