กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในไทย พบโอมิครอน “BA.2” มากกว่า 50% แซง “BA.1” พร้อมเผยรายละเอียดการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยทั้ง “13 เขตสุขภาพ” ส่วนเขตสุขภาพ 9 พบ “BA.1” 100% เพราะส่งตรวจตัวอย่างน้อย ต้องมีการส่งเพิ่มเติม
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ในการเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด -19 ของไทย ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเก็บตัวอย่าง 1,900 ตัวอย่างทั่วประเทศพบว่า ไม่มีสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกรมมาเลย ส่วนสายพันธุ์เดลตาพบเพียง 7 ตัวอย่าง ที่เหลือเป็นสายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็น 99.6% ในส่วนของผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ หากมีการตรวจพบผลเป็นบวกก็จะเป็นเชื้อโอมิครอน
เมื่อจำแนกสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์โอมิครอน พบว่าเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากที่สุด 51.8% ที่เหลือเป็น BA.1 ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า BA.2 แพร่เร็วแค่ไหน แต่เรื่องความรุนแรงนั้นไม่มีความแตกต่างจาก BA.1 เบื้องต้นจากข้อมูลพบว่า BA.2 จะแพร่เร็วกว่า BA.1 ถึง 1.4 เท่า ถอดหน้ากากเมื่อไหร่ ก็มาเมื่อนั้น ซึ่งหากมี 1 คนในครอบครัวติดเชื้อ BA.2 แค่ 1 คน จะสามารถแพร่ต่อให้คนในครอบครัว 39% มากกว่า BA.1 ที่แพร่ให้คนในครอบครัว 29% ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ BA.2 จะมาแทนที่ BA.1 และในการตรวจในคนติดเชื้อกลุ่มต่างๆ ทั้งคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ คลัสเตอร์ต่างๆ คนติดเชื้อซ้ำ และคนฉีดวัคซีนครบ เป็นต้น พบว่าในคนที่ติดเชื้อซ้ำนั้นเป็นสายพันธุ์ BA.2 ถึง 28.57%
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการหลบวัคซีนนั้น พบว่า BA.2 มีการดื้อวัคซีนขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ แต่สิ่งที่เราพบซึ่งเป็นเรื่องสำคัญคือ ยาโมโนโคนอลแอนติบอดี้ ซึ่งเป็นยารักษาโควิดที่มีราคาแพงมากนั้น ล่าสุดพบว่าสามารถรักษาโควิดสายพันธุ์อื่นได้ รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ได้ แต่ไม่สามารถรักษาโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ได้ แต่ยารักษาอื่นๆ อย่างฟาวิพิราเวียร์ ฟ้าทะลายโจรยังได้ ไม่มีผลกระทบต่อแนวทางการรักษาอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับเขตสุขภาพ 9 พบ “BA.1” 100% เพราะอะไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เพราะส่งตรวจตัวอย่างน้อย ต้องมีการส่งเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสัดส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ทั้ง 13 เขตสุขภาพรวมกทม. แบ่งได้ดังนี้ เขตสุขภาพที่ 1 พบสัดส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 43.18% เขตสุขภาพที่ 2 พบ 69.77% เขตสุขภาพที่ 3 พบ 36.36% เขตสุขภาพที่ 4 พบ63.79% เขตสุขภาพที่ 5 พบ45% เขตสุขภาพที่ 6 พบ 50.54% เขตสุขภาพที่ 7 พบ 48.28% เขตสุขภาพที่ 8 พบ 40.43% เขตสุขภาพที่ 9 ไม่พบข้อมูลส่วนนี้ เนื่องจากต้องส่งตัวอย่างเพิ่มเติม เขตสุขภาพที่ 10 พบสัดส่วน BA.2 ที่ 50% เขตสุขภาพที่ 11 พบ 53.85% เขตสุขภาพที่ 12 พบ 70.59% และเขตสุขภาพที่ 13 พบ 52.52%
(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมวิทย์ออกคำแนะนำฉบับล่าสุด กรณีการตรวจทางห้องปฏิบัติการไวรัสโควิด-19)
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 68 views