นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 8) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายรักษาโรคโควิด-19 สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากราคาอุปกรณ์และเวชภัณฑ์บางรายการมีราคาที่ถูกลง ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าใช้จ่ายจะไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและคุณภาพในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ทุกกลุ่มระดับอาการทั้งสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ตัวอย่างการปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขมีดังนี้
1. ปรับปรุงหลักเกณฑ์โดยให้สถานพยาบาลได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามระดับกลุ่มอาการของผู้ป่วย นับแต่รับหรือส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่นตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ฯ ฉบับนี้ และกำหนดให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่ปฏิเสธไม่ขอให้ส่งต่อ หรือกรณีผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วย ประสงค์จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่น ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง
2. การตรวจคัดกรองด้วยวิธี Real time PCR แบ่งเป็น 1) กรณี 2 ยีนส์ (เหมาจ่าย) จากเดิม 1,300 บาทปรับลดเหลือ 900 บาท จากเดิม 1,300 บาท 2) กรณี 3 ยีนส์ (เหมาจ่าย) จากเดิม 1,500 บาท ปรับลดเหลือ 1,100 บาท
3. การตรวจคัดกรองด้วย ATK แบ่งเป็น 1) ATK วิธี Chromatographic immunoassay จากเดิมครั้งละ 300 บาท ปรับเป็นจ่ายตามจริงไม่เกินครั้งละ 250 บาท 2) ATK วิธี FIA จากเดิมครั้งละ 400 บาท ปรับเป็นจ่ายตามจริงไม่เกิน 350 บาทต่อครั้ง
4. ปรับปรุงรายการและอัตราค่าบริการเหมาจ่ายสำหรับผู้ป่วยโควิด19 กลุ่มสีเขียว กรณี กักตัวที่บ้าน (HI) ศูนย์พักคอยชุมชน (CI) Hotel Isolation Hospitel โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม ให้เบิกได้เฉพาะค่ายาพื้นฐาน ค่าบริการพยาบาลทั่วไป ค่าติดตามอาการ ค่าให้คำปรึกษาของแพทย์ ค่า PPE ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าอาหาร 3 มื้อ รวมถึงค่าที่พักเฉพาะกรณี HI Hospitel โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม หากรักษาตั้งแต่วันที่ 1-6 วัน เหมาจ่าย 6,000 บาท กรณีรักษา 7 วันขึ้นไป เหมาจ่าย 12,000 บาท
5. ยา Favipiravir และ ยา Remdesivir ให้เบิกจ่ายจากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง
- 84 views