กรมการแพทย์ย้ำ! ตรวจ ATK เป็นบวกเข้าระบบรักษาได้ทันที ไม่ต้องตรวจ RT-PCR เว้นในรายเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง จึงต้องเข้านอน รพ. เตือนผู้ติดเชื้อไม่มีอาการหรือมีเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องกิน "ยาฟาวิพิราเวียร์" ให้พิจารณา "ฟ้าทะลายโจร" ไม่แนะนำทานคู่กันเสี่ยงตับอักเสบ
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน ว่า ตามที่พบการระบาดทั่วประเทศมากขึ้น เตียงทั้งหมด 180,000 เตียง มีอัตราครองเตียงรวม 52% โดยพบว่าเตียงที่อยู่ในโรงพยาบาล(รพ.) ส่วนใหญ่อาการไม่หนักเป็นกลุ่มสีเขียว หมายความว่า ผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็ยังมีเตียงรองรับได้อยู่ สัดส่วนของผู้ติดเชื้อโควิดปัจจุบัน แบ่งตามกลุ่มสี คือ สีเขียวอาการน้อยเกือบ 90% สีเหลือง มีอาการปานกลาง 10% และสีแดง มีอาการรุนแรง 0.4-0.5%
ทั้งนี้ สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด แบ่งเป็น 1.ผู้ที่มีอาการโควิดและโรคอื่น เข้าไปตรวจหาเชื้อที่ รพ. จะใช้วิธีตรวจด้วย RT-PCR หรือ ATK Professional use หากเป็นบวก รพ.จะคัดแยกผู้ติดเชื้อว่าจะให้เข้ารักษาในรพ. หรือระบบรักษาที่บ้านหรือชุมชน(Home and Community Isolation) 2.ผู้ป่วยที่ตรวจ ATK มาเอง เมื่อผลบวกแล้วไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ไม่ต้องเดินทางออกจากบ้านไปรพ.เพื่อตรวจ แต่ให้ติดต่อเข้าระบบสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งได้เพิ่มกำลังคนจากภาคประสังคมที่เข้ามาช่วยเหลือ โอนสายให้คลินิก/หน่วยบริการ ใกล้บ้านโทรหาผู้ติดเชื้อได้เลย หรือติดต่อที่ไลน์ @nhso หรือเว็บไซต์ สปสช. เพื่อกรอกข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ นอกจากนั้น แต่ละจังหวัดจะมีเบอร์คอลเซ็นเตอร์ของตัวเอง รวมถึงกรุงเทพมหานคร(กทม.) 50 เขตก็จะมีเบอร์ในทุกเขต ทางกทม.ก็แจ้งว่าเพิ่มเจ้าหน้าที่รับสายแล้ว
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อ 90% จะไม่มีอาการหรือมีเพียงเล็กน้อย ก็จะเข้าสู่ระบบ HI เป็นอันดับแรกก่อน แต่หากติดปัญหาที่พัก ก็จะเข้า CI แต่หากมีอาการหนักมากขึ้นระบบของ รพ.ที่ดูแลอยู่จะส่งเข้าศูนย์จัดหาเตียง เพื่อเข้ารพ.หลักต่อไป อย่างไรก็ตาม ระบบที่ติดขัดเราก็จะเร่งแก้ไข
“ผู้ที่เริ่มมีอาการป่วยแต่ไม่สามารถตรวจ ATK ได้เอง หรือ อีกส่วนหนึ่งคือคนไข้ที่ ATK บวก แต่ไม่ได้โทร 1330 อยากมาตรวจกับหมอ แต่จริงๆ เราไม่แนะนำ เพราะไม่มีความจำเป็น ก็สามารถเอาผล ATK มาที่คลินิก ARI Clinic ในรพ. เพื่อให้แพทย์ตรวจ ATK Professional use ให้ เพื่อลดการรอผล RT-PCR ที่ต้องใช้เวลา หากผลบวกก็จะให้เข้าสู่ HI ตามระบบต่อไป” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สำหรับการตรวจหาเชื้อในรพ.ขณะนี้เราจะตรวจ ATK เป็นหลัก และจะตรวจ RT-PCR ให้กับผู้ติดเชื้อที่มีผล ATK เป็นบวก ในรายที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง จึงต้องเข้านอนรพ. เพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อและการรอผลตรวจ อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง ฉะนั้นกรณีฉุกเฉินให้ติดต่อที่เบอร์ 1669 แต่หากไม่ฉุกเฉินให้ติดต่อ 1330
รองอธิบดีฯ กล่าวว่า ขณะนี้แนวทางรักษาของเราจะเป็น HI ก่อน ซึ่งต่างจากระลอกก่อนที่เป็นเดลต้ามีความรุนแรงมากกว่า เนื่องจากประชาชนฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมากกว่า 80% และมีความระวังตัวมากขึ้น ใส่ใจตัวเองมากขึ้น ซึ่งตัวโรคก็เบาลง ย้ำด้วยว่า หากเป็นผลบวก ATK ไม่ต้องทำ RT-PCR ซ้ำก็สามารถเข้า HI ได้ทันที ซึ่งจะมีอุปกรณ์ และอาหาร มีแพทย์ติดตามอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เมื่ออยู่บ้านครบ 10 วันก็จบการรักษา อีกส่วนคือ ผู้ป่วยที่อยู่ รพ. 3-5 วันแล้วอาการดีขึ้น แพทย์จะประเมินว่าให้กลับมา HI ได้เพื่อหมุนเวียนเตียงให้รายอื่น
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า กรณีผู้ติดเชื้อที่ HI แล้วมีอาการมากขึ้น จำเป็นต้องนำส่งรพ. มีเกณฑ์ที่แพทย์จะพิจารณาดังนี้ 1.ไข้สูงมากกว่า 39 องศาต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง 2.หายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาที 3.ออกซิเจนปลายนิ้วต่ำกว่า 94% 4.โรคประจำตัวกำเริบ บางรายอาการโควิดเบามาก แต่อาการของโรคร่วมกำเริบจึงต้องนำเข้ารพ. และ 5.สำหรับเด็ก จะมีอาการซึมลง ดื่มนมน้อย
“ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีเพียงเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัส ซึ่งอาจยังมีความเข้าใจผิดในกลุ่มประชาชน ผู้หวังดี จิตอาสา มาขอยาให้ผู้ติดเชื้อ ซึ่งแนวทางปัจจุบันออกมาแล้วว่า ผู้ที่ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ เว้นมีความเสี่ยง แต่พิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจรวันละ 180 เอนโดรกราโฟไลด์ติดต่อกัน 5 วัน และไม่แนะนำให้รับประทานคู่กันเพราะอาจเกิดภาวะตับอักเสบได้ ดังนั้น ยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้จำเป็นกับผู้ติดเชื้อทุกรายเสมอไป” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
เมื่อถามว่าผู้ติดโควิดที่ไม่มีอาการ แล้วรับยาฟาวิพิราเวียร์จะส่งผลอย่างไรบ้าง นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า การกินยาฟาวิพิราเวียร์ มีโอกาสเกิดผลข้างเคียง ที่เรากลัวคือ ตับอักเสบ แม้จะไม่เกิดขึ้นมากแต่ก็เกิดได้ รวมถึงกรณีที่มีดวงตาเปลี่ยนเป็นสีฟ้า ฉะนั้นหากไม่มีอาการก็ไม่มีความจำเป็น ยิ่งกินคู่กับฟ้าทะลายโจร ทำให้มีอาการขึ้นมา ฉะนั้น ต้องซักประวัติก่อนว่า รับยาฟ้าทะลายโจรมาแล้วหรือไม่ ต้องหยุดก่อน ไม่กินคู่กัน
เมื่อถามว่าผู้ติดเชื้อกลุ่มเขียว ที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีโอกาสที่อาการจะมากขึ้นอย่างไร นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า สำหรับคนไม่มีอาการ และไม่ได้รับยา ถ้าเราวินิจฉัยเร็วก็ต้องรอดูอาการอีก 2-3 วัน หากยังไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องรับยาฟาวิราเวียร์ ที่ผ่านมาเราใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ไปมาก ทำให้คนเข้าใจว่าต้องกินยา คนเรียกร้องเข้ามาผ่าน 1330 เพราะต้องการยา ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น ซึ่งยังเน้นย้ำว่า หากเป็นอาการเล็กน้อย ให้รักษาตามอาการ
“ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดหายเองได้ ไวรัสวันนี้เหมือนไข้หวัด แต่ที่ผ่านมา เดลต้ามีความรุนแรง ไม่มีภูมิต้านทาน ก็ลงปอด ยิ่งมีโรคประจำตัว ก็แย่ลง แต่ขณะนี้เรารู้แล้ว ตัวมันเองก็รุนแรงน้อยลง เรามีภูมิต้านทานด้วย” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว
แฟ้มภาพองค์การเภสัชกรรม
ข่าวเกี่ยวข้อง :
- ย้ำ! ตรวจATK เป็นบวก ไม่จำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ
- สัปดาห์หน้า! คลอดแผนโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น – เร่งทำงานเชิงรุกรายบ้านหากลุ่ม 608 ฉีดวัคซีนเข็ม 3
- สธ.ชูกลยุทธ์ประเมินโอมิครอนทุก 14 วัน เน้นจับตา "ผู้ป่วยปอดอักเสบ-ผู้เสียชีวิต"
- เปิดหนังสือ สธ.ส่งถึง คปภ. ยืนยันกำหนดคนติดเชื้อโควิดรักษา HI นับเป็น “ผู้ป่วยใน” เคลมประกันได้
- ผู้สูงอายุอีก 2.2 ล้านคนยังไม่ได้รับ "วัคซีนโควิด" สธ.เร่งทำงานเชิงรุกสร้างแรงจูงใจ
- 9213 views